จัดการเงินง่ายๆ สไตล์ฟรีแลนซ์

จัดการเงินง่ายๆ สไตล์ฟรีแลนซ์

จัดการเงินง่ายๆ สไตล์ฟรีแลนซ์

โดย…พริ้มพัชร จิรบวรพงศา AFPTTM

ผู้เชี่ยวชาญด้านการวางแผนทางการเงิน

BF Knowledge Center

ปัจจุบันหลายคนให้ความสนใจเรื่องการบริหารจัดการเงินส่วนบุคคลมากขึ้น ซึ่งเน้นบริหารรายรับรายจ่ายให้มีประสิทธิภาพ คือ มีเงินเพียงพอใช้จ่าย มีเงินออมและ/หรือมีเงินลงทุนในทุกเดือน รวมถึงมีเงินสำรองใช้ในยามฉุกเฉิน โดยการบริหารจัดการเงินส่วนบุคคลนี้ไม่ได้จำกัดเฉพาะมนุษย์เงินเดือนที่มีรายรับประจำเท่านั้น  แต่ยังครอบคลุมไปถึงอาชีพฟรีแลนซ์ด้วย

ฟรีแลนซ์ (Freelancer) เป็นอาชีพในฝันของคนรุ่นใหม่ เพราะเป็นการทำงานที่มีความอิสระทางความคิด อิสระทางเวลาในการบริหารจัดการการทำงานได้ด้วยตัวเอง โดยความอิสระนี้ให้ความสบายใจ แต่อาจแลกกับรายรับที่ไม่สม่ำเสมอบ้างในบางเดือน และบางครั้งก็อาจมีเหตุไม่คาดฝันเกิดขึ้น เช่น ทำงานเสร็จเดือนนี้ ลูกค้าบางรายจ่ายเดือนนี้ บางรายจ่ายเดือนหน้า ฯลฯ รวมถึงตัวเราเองก็อาจมีเหตุฉุกเฉิน เช่น เจ็บป่วย ไม่สามารถทำงานได้ ทำให้ขาดรายรับในเดือนนั้น

การวางแผนบริหารจัดการเงินส่วนบุคคลของอาชีพฟรีแลนซ์จึงมีความสำคัญมาก  เพราะหากจัดการได้ดีก็จะสามารถช่วยให้ก้าวผ่านเหตุการณ์ต่างๆ ได้อย่างมั่นใจ

“รายรับไม่สม่ำเสมอ แต่รายจ่ายมีสม่ำเสมอทุกเดือน” เป็นเรื่องจริงที่ปวดใจไม่น้อยสำหรับอาชีพฟรีแลนซ์ แต่สามารถจัดการได้ง่ายกว่าที่คิด โดยมีแนวทางปฏิบัติ 4 ขั้นตอน คือ

  1. ตรวจสอบค่าใช้จ่าย เริ่มต้นจากการทำบัญชีรายจ่าย โดยแยกประเภทของค่าใช้จ่ายเป็น 3 ส่วน คือ ค่าใช้จ่ายคงที่/ ค่าใช้จ่ายผันแปร/ ค่าใช้จ่ายเพื่อการออมและลงทุน
    • ค่าใช้จ่ายคงที่ เป็นค่าใช้จ่ายที่ทราบล่วงหน้า และต้องชำระเท่ากันทุกเดือน เช่น ค่างวดผ่อนบ้าน ค่างวดผ่อนรถ รายการผ่อนชำระ 0% 3 เดือน ฯลฯ
    • ค่าใช้จ่ายผันแปร เป็นค่าใช้จ่ายที่ขึ้นลงตามปริมาณการใช้ประโยชน์ เช่น ค่าน้ำ/ไฟ ค่าอาหาร ค่าชอปปิง (ใช้น้อยจ่ายน้อย – ใช้มากจ่ายมาก)
    • ค่าใช้จ่ายเพื่อการออม/ลงทุน เป็นการสำรองเงินไว้เพื่อความมั่นคง และหากมั่นคงแล้วจึงจัดสรรเงินลงทุนเพื่อความมั่งคั่ง โดยจำนวนเงินสำรองฉุกเฉินที่เหมาะสมสำหรับอาชีพฟรีแลนซ์ คือ 6 -12 เท่าของค่าใช้จ่ายต่อเดือน
  2. ประเมินรายรับ สาเหตุที่ทำให้อาชีพฟรีแลนซ์ติดขัดเรื่องเงิน ส่วนใหญ่เกิดจากรายรับที่ไม่สม่ำเสมอ ดังนั้น อาจต้องวางแผนตารางงานกันใหม่ โดยลงตารางสำหรับงานจ้างประจำเพื่อให้รายรับหลัก พร้อมพูดคุยเรื่องกำหนดการรับเงินของผู้จ้างให้ชัดเจนด้วย และพยายามควบคุมรายจ่ายไม่ให้เกินจากรายรับหลักนี้
  3. ระวังเรื่องหนี้สิน ในส่วนนี้ต้องใส่ใจให้มากขึ้น เพราะ “หนี้สินเป็นค่าใช้จ่ายประจำ” เมื่อเกิดขึ้นแล้วมีหน้าที่ต้องชำระให้ครบตามกำหนด  หากไม่สามารถชำระได้ตามกำหนดจะต้องเสียดอกเบี้ย นอกจากนี้ ยังเสียเครดิตทางการเงิน ซึ่งอาจส่งผลให้การขอสินเชื่อเพื่อซื้อสินทรัพย์ที่สำคัญในอนาคต เช่น บ้าน ทำได้ยากขึ้น การใช้จ่ายของอาชีพฟรีแลนซ์จึงเน้นให้ใช้เงินสด แต่ทั้งนี้ไม่ได้หมายความว่าจะใช้บัตรเครดิตไม่ได้ เพราะในหลายครั้งบัตรเครดิตก็ให้สิทธิประโยชน์ต่างๆ ในการจับจ่าย  เพียงแต่ต้องระมัดระวังให้มาก โดยควรมีวินัยกับตัวเองรูดใช้ไม่เกินกว่ารายได้หลักในแต่ละเดือน เพื่อลดความเสี่ยงในการก่อหนี้จากบัตรเครดิต
  4. สร้างหลักประกันให้กับตัวเอง อาชีพฟรีแลนซ์ต้องดูแลตัวเอง เพราะไม่มีสวัสดิการจากบริษัทช่วยดูแลค่าใช้จ่ายในการรักษาพยาบาล   รวมถึงไม่มีเงินสมทบเพื่อวัยเกษียณให้ด้วย ในส่วนนี้ต้องศึกษาข้อมูลและลงมือทำด้วยตัวเอง เช่น ประกันสังคม กองทุนเพื่อการออมแห่งชาติ(กอช.) ประกันชีวิต ประกันสุขภาพ ประกันภัย เพื่อปกป้องคุ้มครองกรณีเจ็บป่วย อุบัติเหตุ ไม่มีรายได้ และการวางแผนออมเพื่อวัยเกษียณ

แนวทางปฏิบัติ 4 ขั้นตอนนี้ ฟรีแลนซ์เซอร์ทุกคนสามารถทำได้ และแนะนำให้ทำอย่างยิ่ง เพราะจะช่วยให้มีความมั่นคงทางการเงิน ทำให้สามารถสร้างสรรค์ผลงานได้อย่างสบายใจ และเมื่อการเงินมีความมั่นคงแล้วก็อยากแนะนำให้เรียนรู้เรื่องการลงทุนด้วย เพื่อสร้างโอกาสให้เงินออมเติบโตสร้างความมั่งคั่งให้ในอนาคต โดยสามารถเริ่มต้นด้วยการลงทุนในกองทุนรวมที่มีสภาพคล่องและความเสี่ยงต่ำอย่างตราสารหนี้ที่ให้ผลตอบแทนสูงกว่าเงินฝาก

หากเข้าใจและสนุกกับการลงทุนมากขึ้นก็อาจเพิ่มการลงทุนในกองทุนหุ้นไทย หุ้นต่างประเทศ อสังหาริมทรัพย์ ฯลฯ รวมถึงกองทุนรวมเพื่อการเลี้ยงชีพ (Retirement Mutual Fund : RMF)

อาจกล่าวได้ว่า กองทุนรวมมีสินทรัพย์การลงทุนให้เลือกหลากหลาย สอดคล้องกับทุกความต้องการ  และความเสี่ยงที่ยอมรับได้ของแต่ละบุคคล   ที่สำคัญคือ ใช้เงินลงทุนเริ่มต้นไม่มากหลักร้อย หลักพัน ก็สามารถลงทุนได้แล้ว

ฟรีแลนซ์เซอร์ทุกคนทราบแล้วก็เริ่มต้นวางแผนจัดการเงินได้เลยทันที แม้จะหลายขั้นตอนไปสักนิด และอาจมีสถานการณ์ที่อาจควบคุมไม่ได้อยู่บ้าง แต่มั่นใจว่าทุกคนสามารถทำได้แน่นอนถ้าตั้งใจจริง

ก่อนจากกันขอปิดท้ายด้วยคาถานี้ “คิดเฉยๆ ไม่มา นอนเฉยๆ ไม่มี ลงมือทำทันที เดี๋ยวงานมี เดี๋ยวเงินก็มา”