BF Economic Research
ภาพรวมเศรษฐกิจในช่วงที่ผ่านมา
GDP ของฟิลิปปินส์ในไตรมาส 3/2018 ขยายตัว 6.1% YoY ชะลอลงจากไตรมาสที่ผ่านมาซึ่งขยายตัว 6.2% YoY ต่ำสุดในรอบ 3 ปี เนื่องมาจากการบริโภคและการลงทุนที่ชะลอลง ส่วนการนำเข้าทะยานตัวสูงเมื่อเทียบกับการส่งออก เป็นปัจจัยกดดันเศรษฐกิจของฟิลิปปินส์ โดย 10 เดือนแรกของปี 2018 ฟิลิปปินส์ขาดดุลการค้าสะสม -33,917.9 ล้านดอลลาร์ฯ เพิ่มขึ้น 68.5% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีที่ผ่านมา
สำหรับอัตราเงินเฟ้อฟิลิปปินส์ล่าสุดในเดือน ต.ค. ขยายตัวที่ 6.0% YoY (Prev. 6.7% YoY) ต่ำที่สุดในรอบ 4 เดือน สะท้อนว่าการปรับขึ้นดอกเบี้ยของธนาคารกลางฟิลิปปินส์ (Bangko Sentral ng Pilipinas, BSP) เริ่มเห็นผลสัมฤทธิ์ในการควบคุมเงินเฟ้อ ซึ่งในปีนี้ BSP ได้ปรับขึ้นดอกเบี้ยนโยบายทั้งสิ้น 5 ครั้ง รวม 175 bps สู่ระดับ 4.75% ในปัจจุบัน และจากการประชุมนโยบายการเงินครั้งที่ผ่านมาเมื่อวันที่ 13 ธ.ค. BSP มีมติคงดอกเบี้ยนโยบายการเงินไว้ที่ 4.75%
ทิศทางเศรษฐกิจปี 2019
ในปี 2019 นี้ เศรษฐกิจฟิลิปปินส์ยังคงมีโมเมนตัมการเติบโตที่ดีต่อเนื่อง โดยภาคการลงทุนน่าจะมีบทบาทจากการเบิกจ่ายงบประมาณของภาครัฐที่เติบโตต่อเนื่องจากนโยบาย Build Build Build ของรัฐบาลภายใต้การนำของประธานาธิบดีโรดรีโก ดูแตร์เต ขณะที่ภาคการบริโภคซึ่งมีบทบาทหลักต่อเศรษฐกิจของฟิลิปปินส์ในปี 2019 ที่จะถึงนี้ จะได้รับอานิสงส์จากแรงกดดันทางด้านราคาที่ลดลง ตามทิศทางอัตราเงินเฟ้อที่มีแนวโน้มลดลงซึ่งส่งผลให้กำลังซื้อภายในประเทศเพิ่มขึ้น นอกจากนี้ พัฒนาการของภาคบริการโดยเฉพาะการท่องเที่ยวที่มีแนวโน้มเติบโตจากจำนวนนักท่องเที่ยวที่เพิ่มขึ้น รวมถึงการส่งออกที่น่าจะฟื้นตัวขึ้นจากในปีนี้ จะเป็นปัจจัยที่ร่วมผลักดันให้เศรษฐกิจของฟิลิปปินส์ในปี 2019 เติบโตต่อเนื่องไปได้ โดย กองทุนบัวหลวง คาดว่า เศรษฐกิจของฟิลิปปินส์ในปี 2019 จะขยายตัว 6.4% จากในปีนี้ที่คาดว่าจะขยายตัว 6.3%
แนวทางด้านนโยบาย
เราคาดว่า BSP ยังจะคงชะลอการนโยบายการเงินแบบเข้มงวดไว้ก่อนกระทั่งสิ้นปี 2018 นี้ แล้วค่อยดำเนินการขึ้นดอกเบี้ยครั้งต่อไปอีก 25 bps (สู่ 5.0%) ภายในไตรมาสแรกของปี 2019 เนื่องจากอัตราเงินเฟ้อมีทิศทางที่ชะลอลง ทั้งนี้ ในปีหน้าอาจมีปัจจัยหลายประการที่ทำให้คณะกรรมการนโยบายการเงินจะต้องกลับมาพิจารณาปรับอัตราดอกเบี้ยขึ้น โดยเฉพาะการขาดดุลบัญชีเดินสะพัดที่ยังคงสูงอยู่ ซึ่งอาจส่งผลต่อการอ่อนค่าลงของเปโซได้
ด้านนโยบายการคลังยังคงต้องจับตามาตรการ TRAIN Package 1 ซึ่งเป็นนโยบายปรับลดภาระภาษีเงินได้ให้กับผู้มีรายได้น้อยถึงปานกลาง และจัดเก็บภาษีสินค้าฟุ่มเฟือยเพื่อสร้างรายได้เพิ่มเติมให้กับรัฐบาล ซึ่งแม้ว่าจะได้มีผลบังคับใช้ไปตั้งแต่ที่ 1 ม.ค. 2018 ที่ผ่านมาแล้วนั้น แต่ในบางรายสินค้ามีการจัดเก็บภาษีเป็นขั้นบันได โดยในปี 2019 นี้ สินค้าน้ำมันเชื้อเพลิง ยาสูบ และถ่านหินจะมีการจัดเก็บภาษีในอัตราที่สูงขึ้น อีกทั้งมาตรการ TRAIN Package 1b ซึ่งเป็นมาตรการในการปรับเพิ่มภาษีสำหรับผู้ใช้ยานพาหนะก็จะมีผลบังคับใช้ในปี 2019 ขณะที่ มาตรการ TRAIN Package 2 ซึ่งเป็นนโยบายที่มีวัตถุประสงค์เพื่อดึงดูดการลงทุนผ่านการลดภาษีเงินได้นิติบุคคลของฟิลิปปินส์จาก 30% ซึ่งสูงที่สุดในอาเซียนในปัจจุบัน ให้ลดลงปีละ 2 % กระทั่งเหลือ 20% ยังคงค้างอยู่ในวุฒิสภาและคาดว่าจะต้องเลื่อนออกไปหลังการเลือกตั้งทั่วไปในเดือนพ.ค. ปี 2019
ความเสี่ยง
อัตราเงินเฟ้อที่ยังคงเกินกรอบ 2-4% ของ BSP ยังคงเป็นประเด็นที่ยังคงต้องจับตา เช่นเดียวกับการขาดดุลบัญชีเดินสะพัดอย่างต่อเนื่อง ข้อมูลล่าสุดในไตรมาสที่ 2/ 2018 ฟิลิปปินส์ขาดดุลบัญชีเดินสะพัด -1.9% ของ GDP ซึ่งมีสาเหตุหลักมาจากการขาดดุลการค้าของฟิลิปปินส์ หากในปี 2019 การส่งออกของฟิลิปปินส์ไม่ฟื้นตัวอาจนำมาซึ่งความเสี่ยงในการขาดดุลบัญชีเดินสะพัดที่กว้างขึ้นและค่าเงินเปโซที่อ่อนค่าลง