BF Economic Research
ภาพรวมเศรษฐกิจในช่วงที่ผ่านมา
กัมพูชา
เศรษฐกิจกัมพูชาในปี 2018 มีการขยายตัวอย่างแข็งแกร่ง ซึ่งเป็นผลมาจากการส่งออกที่ขยายตัว โดยการส่งออกเสื้อผ้าสำเร็จรูปซึ่งเป็นสินค้าส่งออกหลักของกัมพูชาขยายตัวได้ดีในครึ่งแรกของปี ซึ่งเป็นผลเนื่องมาจากกัมพูชาเป็นฐานการผลิตเสื้อผ้าเครื่องนุ่งห่มที่สำคัญของจีน ประกอบกับการส่งออกยางพาราที่ขยายตัวได้ดีเช่นกัน นอกจากนี้ เศรษฐกิจของกัมพูชายังได้รับแรงส่งจากการท่องเที่ยวที่เติบโตได้ดี โดยจำนวนนักท่องเที่ยวที่เดินทางมายังกัมพูชาในช่วงครึ่งแรกของปี 2018 ขยายตัว 12.7% YoY
สปป.ลาว
เศรษฐกิจสปป.ลาว ปี 2018 ขยายตัวจากการส่งออกที่แข็งแกร่งและการลงทุนที่เติบโตอย่างรวดเร็ว อย่างไรก็ตาม ยังคงมีความท้าทายจากจำนวนนักท่องเที่ยวที่ไม่เติบโตตามที่คาด แม้ว่ารัฐบาลสปป.ลาวจะมีความพยายามในการดึงดูดนักท่องเที่ยวผ่านนโยบาย Visit Laos โดยมีเป้าหมายส่งเสริมการท่องเที่ยวและอนุรักษ์วัฒนธรรมประเพณีอันดีงามของประเทศ เนื่องจากการท่องเที่ยวนับเป็นตัวขับเคลื่อนเศรษฐกิจที่สำคัญของประเทศในช่วงหลายปีที่ผ่านมา นอกจากนี้ ยังคงต้องจับตาประเด็นการขาดดุลบัญชีเดินสะพัดซึ่งเกิดจากการนำเข้าที่ขยายตัวเป็นอย่างมาก แม้ว่าการส่งออกจะสามารถเติบโตได้ดี ทั้งนี้ มีสาเหตุเนื่องมาจากการนำเข้าสินค้าทุนเพื่อพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานโดยเฉพาะโครงการรถไฟจีน-ลาว
เมียนมา
ภาพรวมเศรษฐกิจเมียนมาในปี 2018 ขยายตัวได้ดี สะท้อนได้จากภาคการผลิตที่เติบโตได้ดีในครึ่งแรกของปี แม้จะมีความท้าทายจากการที่ดัชนี PMI ร่วงลงสู่ระดับต่ำกว่า 50 จุดในเดือนก.ค. ถึงเดือนต.ค. อย่างไรก็ดี จากข้อมูลล่าสุดในเดือนพ.ย. ดัชนี PMI ของเมียนมาได้ดีดตัวกลับสู่ระดับสูงกว่า 50 หรือที่ 51.3 แล้ว ทั้งนี้ เศรษฐกิจของเมียนมาได้รับแรงสนับสนุนจากภาคการผลิตเสื้อผ้าเครื่องนุ่งห่ม โดยเสื้อผ้าสำเร็จรูปนับเป็นสินค้าส่งออกสำคัญด้วยสัดส่วนมากกว่าครึ่งหนึ่งของการส่งออกของเมียนมาทั้งหมด ประกอบกับการส่งออกสินค้าเกษตรและผลิตภัณฑ์จากแร่ที่ได้ช่วยผลักดันให้การส่งออกของเมียนมาในปีที่ผ่านมาเติบโต นอกจากนี้ เศรฐกิจเมียนมายังได้รับแรงส่งจากภาคการค้าส่งค้าปลีก หลังจากที่กระทรวงพาณิชย์อนุญาตให้บริษัทต่างชาติสามารถเป็นเจ้าของกิจการค้าปลีก/ค้าส่งในเมียนมาได้ถึง 100% ในเดือนพ.ค. ที่ผ่านมา
ทิศทางเศรษฐกิจปี 2019
กัมพูชา
กองทุนบัวหลวง คาดว่า ในปี 2019 เศรษฐกิจกัมพูชาจะขยายตัวที่ 6.8% ชะลอลงเล็กน้อยจากปี 2018 ที่ผ่านมาซึ่งขยายตัว 7.0% โดยมีการฟื้นตัวของการท่องเที่ยวและอุตสาหกรรมสิ่งทอเป็นหลัก ขณะที่ นอกจากนี้การใช้จ่ายของรัฐบาลและการลงทุนโดยตรงจากจีนในโครงการสาธารณูปโภคด้านโครงสร้างพื้นฐานน่าจะช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจได้มากขึ้น อย่างไรก็ดี กัมพูชายังคงมีความเสี่ยงจากการที่ EU เตรียมพิจารณาเพิกถอนสิทธิพิเศษทางการค้ากับกัมพูชา ที่ปัจจุบันกัมพูชาสามารถเข้าถึงตลาดการค้าของ EU ได้โดยได้รับการยกเว้นจัดเก็บภาษีนำเข้าสินค้าทุกประเภทยกเว้นอาวุธ (Everything but Arms, EBA) ทั้งนี้ การพิจารณาเพิกถอนสิทธิดังกล่าวนับเป็นมาตรการคว่ำบาตรเพื่อกดดันรัฐบาลฮุน เซน เนื่องจากปัญหาสิทธิมนุษยชนในกัมพูชากำลังถดถอยอย่างรุนแรง
สปป.ลาว
กองทุนบัวหลวง คาดว่า เศรษฐกิจสปป.ลาวในปี 2019 น่าจะขยายตัวต่อเนื่องที่ 7.0% จากปี 2018 ที่ผ่านมาซึ่งขยายตัว 6.8% จากกำลังการผลิตไฟฟ้าที่เพิ่มมากขึ้นอย่างต่อเนื่อง ในฐานะที่ สปป.ลาวเป็นประเทศส่งออกกระแสไฟฟ้าสำคัญในภูมิภาค ประกอบกับการเพิ่มขึ้นของเงินลงทุนโดยตรงจากต่างประเทศ (FDI) และการลงทุนในโครงสร้างพื้นฐานของภาครัฐ อย่างไรก็ตาม ความเสี่ยงจากภายนอกประเทศนับเป็นความท้าทายสำคัญสำหรับสปป.ลาว ในปี 2019 โดยเฉพาะทิศทางเศรษฐกิจจีนที่มีแนวโน้มชะลอลงในฐานะประเทศที่มีการลงทุนในสปป.ลาวและเป็นประเทศคู่ค้าสำคัญ
เมียนมา
กองทุนบัวหลวง คาดว่า ในปี 2019 เศรษฐกิจเมียนมาจะขยายตัวที่ 6.8% เร่งขึ้นจากปี 2018 ที่ขยายตัว 6.4% เนื่องจากกิจกรรมเศรษฐกิจในภูมิภาคที่แข็งแกร่ง โดยภาคการผลิตเสื้อผ้าเครื่องนุ่งห่มยังคงเป็นอุตสาหกรรมหลักในการผลักดันเศรษฐกิจตามนโยบายสนับสนุนของรัฐบาล อย่างไรก็ดี ยังคงมีปัจัยท้าทายอีกหลายประการอย่างการขาดดุลบัญชีเดินสะพัดและดุลงบประมาณของรัฐบาลที่ค่อนข้างสูง สภาวะอากาศที่ไม่เอื้ออำนวยในปีหน้า และการสูญเสียโอกาสในการส่งออกไปยัง EU กรณีเมียนมาถูกจับตาประเด็นละเมิดสิทธิมนุษยชนในรัฐยะไข่
แนวทางด้านนโยบาย
กัมพูชา
ในปี 2019 กัมพูชาเตรียมส่งออกแรงงาน 5,000 คน ไปยังคูเวตเป็นครั้งแรก หลังจาก ในปี 2009 กัมพูชาและคูเวต ได้ลงนามบันทึกความเข้าใจ (MoU) เพื่อแลกเปลี่ยนแรงงาน แต่จนถึงปัจจุบันยังไม่เคยถูกนำไปปฏิบัติจริง โดยคูเวตยังมีความต้องการแรงงานทักษะต่ำเป็นจำนวนมากโดยเฉพาะในธุรกิจบริการและเกษตรกรรม ทั้งนี้ นโยบายดังกล่าวถูกรื้อฟื้นขึ้นหลังจากที่ EU ออกมาแถลงเตรียมพิจารณาตัดสิทธิพิเศษทางการค้าภายใต้นโยบาย Everything but Arms (EBA)
สปป.ลาว
รัฐบาลสปป.ลาว ยังคงมุ่งมั่นนโยบายการเป็นแบตเตอรี่ของเอเชีย ล่าสุดเมื่อวันที่ 5 ธ.ค. 2018 ที่ผ่านมาสปป.ลาวได้ลงนามข้อตกลงในการส่งออกพลังงานไปยังกัมพูชา ซึ่งจะสนับสนุนให้ภาคการส่งออกของสปป.ลาวเติบโต และผลักดันให้จุดมุ่งหมายในการเป็นศูนย์กลางพลังงานระดับภูมิภาคสัมฤทธิ์ผล ทั้งนี้ สปป.ลาวมีเขื่อนผลิตไฟฟ้าจำนวนรวม 53 แห่ง โดยหากรวมแหล่งอื่นๆ จะส่งผลให้สปป.ลาวมีแหล่งผลิตกระแสไฟฟ้าถึง 61 แหล่ง ควบคู่ไปกับการติดตั้งสายส่งทุกขนาดกำลังรวมเป็นระยะทางกว่า 60,000 กิโลเมตร โดยแหล่งผลิตไฟฟ้าเหล่านี้ทำให้ สปป.ลาวสามารถจำหน่ายกระแสไฟฟ้าแก่ประเทศเพื่อนบ้านรอบข้างได้ทุกประเทศ คือ ไทย เวียดนาม กัมพูชา และเมียนมา รวมถึงยังสามารถส่งไฟฟ้าจำหน่ายให้แก่มาเลเซียถึง 100 เมกะวัตต์ ผ่านระบบสายส่งของไทย ตามความตกลงความร่วมมือด้านพลังงานในกลุ่มอาเซียน ปัจจุบันสปป.ลาวยังมีโครงการก่อสร้างเขื่อนผลิตไฟฟ้า และ มีกำหนดปั่นไฟเข้าสู่ระบบในช่วงปี 2019-2020 รวมทั้งหมด 36 โครงการ
เมียนมา
ในเดือนพ.ย. 2018 ที่ผ่านมา รัฐบาลเมียนมาได้จัดตั้งคณะรัฐมนตรีขึ้นเพื่อดำเนินการปฏิรูปเศรษฐกิจของประเทศ ทั้งนี้ ตั้งแต่การขึ้นครองอำนาจเมื่อสองปีที่ผ่านมารัฐบาลชุดนี้ได้เผชิญหน้ากับการวิพากษ์วิจารณ์ความคืบหน้าของการปฏิรูปที่ล่าช้า ส่งผลให้ยอดการลงทุนโดยตรงจากต่างประเทศไม่เติบโตเท่าที่ควร นอกจากนี้ ในปี 2019 จะได้เห็นความคืบหน้าการเปิดเสรีทางการเงินในเมียนมาที่เพิ่มมากขึ้น ทั้งนี้ ในปี 2019 ธนาคารต่างประเทศจะได้รับอนุญาตให้ขยายสาขาในเมียนมาได้ ทางด้านธุรกิจประกันภัยต่างชาติจาก 14 ประเทศ ซึ่งได้จัดตั้งสำนักงานตัวแทนกว่า 31 แห่งในพม่า ก็จะได้รับอนุญาตให้สามารถลงทุนในการประกันชีวิตและการร่วมทุนในการประกันภัยทั่วไปได้ในเดือนเม.ย. ปีหน้าเช่นกัน