ไชน่าเดลี รายงานว่า เศรษฐกิจเอเชียจะยังเป็นกำลังสำคัญของการเติบโตในอีก 15 ปีข้างหน้า โดยจีนวางแผนแล้วว่าจะแซงหน้าสหรัฐกลายเป็นประเทศที่มีเศรษฐกิจขนาดใหญ่ที่สุดในโลกให้ได้ภายในปี 2032 ซึ่งข้อมูลนี้อ้างอิงมาจาก World Economic League ที่ตีพิมพ์ประจำทุกปีโดยศูนย์วิจัยเศรษฐกิจและธุรกิจ หรือ CEBR ในกรุงลอนดอน
ทั้งนี้ จากตารางตัวเลขในรายงานฉบับนี้ สะท้อนว่า ประเทศที่มีขนาดเศรษฐกิจใหญ่ 3 ใน 5 อันดับแรกของโลกในปี 2033 จะเป็นประเทศในเอเชีย โดยจีนครองอันดับหนึ่ง อินเดีย อันดับ 3 และญี่ปุ่น อยู่ในอันดับ 4 ขณะที่สหรัฐ อยู่ในอันดับที่ 2 และเยอรมนี อยู่ในอันดับที่ 5
สำหรับเศรษฐกิจของประเทศอื่นในเอเชียก็จะเติบโตต่อเนื่องในช่วงเวลา 15 ปีจากนี้ โดยเกาหลีใต้ จะกลายเป็นประเทศที่มีขนาดเศรษฐกิจใหญ่อันดับที่ 10 อินโดนีเซีย อันดับที่ 12 ไทยอันดับที่ 21 ฟิลิปปินส์ อันดับที่ 22 บังคลาเทศ อันดับที่ 24 และมาเลเซีย อันดับที่ 25 ทำให้ทั้งหมดนี้กลายเป็นประเทศที่ติดอยู่ในกลุ่ม 25 อันดับแรกประเทศที่มีขนาดเศรษฐกิจใหญ่ที่สุดในโลก หรือรวมแล้วมีประเทศในเอเชียติด 25 อันดับแรกทั้งหมด 9 ประเทศ
“แม้จะมีความไม่แน่นอนเกิดขึ้นในโลกและสหรัฐมีนโยบายการเงินที่เข้มงวดขึ้นเป็นแรงกดดันค่าเงินของประเทศเกิดใหม่บางประเทศ แต่ในศตวรรษที่ 21 ก็ยังคงเป็นศตวรรษของเอเชียอยู่” Douglas McWilliams รองประธานและผู้ก่อตั้ง CEBR กล่าว
ขณะที่ จีน ปัจจุบันมีเศรษฐกิจขนาดใหญ่อันดับที่ 2 ของโลก โดยรายได้ต่อหัวของประชากรยังมีเพียง 1 ใน 5 ของค่าเฉลี่ยในพื้นที่ที่มีรายได้สูง ขณะที่เศรษฐกิจสหรัฐเติบโตรวดเร็วกว่าที่คาด แต่จีนจะทวงบัลลังก์นี้ได้ 2 ปีหลังจากปี 2030 ตามการคาดการณ์ใน World Economic League
ในการวิเคราะห์ครั้งใหม่นี้ ชี้ว่า เส้นทางสายไหมใหม่ จะเป็นแรงขับเคลื่อนสำคัญของเศรษฐกิจ โดยการใช้จ่ายด้านโครงสร้างพื้นฐานถูกวางไว้ว่าจะเพิ่มจาก 11,500 ล้านดอลลาร์สหรัฐ หรือ 13.5% ของผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ (จีดีพี) ของโลก เมื่อปี 2018 ไปเป็น 27,400 ล้านดอลลาร์สหรัฐ หรือ 15.5% ของจีดีพีโลกในปี 2032
“เราคิดว่า โครงการนี้เป็นหนึ่งในโครงการที่สร้างความเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่ของโลก” McWilliams กล่าว