ฟิลิปปินส์ขาดดุลการค้าในเดือนพ.ย. ชะลอลงเล็กน้อย ขณะที่ อินโดนีเซียตั้งเป้าขาดดุลงบประมาณปี 2019 คิดเป็น 1.84% ของ GDP 

BF Economic Research

  • ฟิลิปปินส์ : ขาดดุลการค้าในเดือนพ.ย. ชะลอลงเล็กน้อยเหลือ 3.9 พันล้านดอลลาร์ฯ จาก 4.21 พันล้านดอลลาร์ฯ ในเดือนที่ผ่านมา
  • อินโดนีเซีย: ตั้งเป้าการขาดดุลงบประมาณปี 2019 คิดเป็น 1.84% ของ GDP สูงกว่าปี 2018 ซึ่งมีการขาดดุลงบประมาณคิดเป็น 1.76% ของ GDP เล็กน้อย แต่ยังคงต่ำกว่าการขาดดุลงบประมาณเฉลี่ย 2.34% ของ GDP ในระหว่างปี 2012-2017 ที่ผ่านมา

   ฟิลิปปินส์: การส่งออกของฟิลิปปินส์ในเดือนพ.ย. 2018 ติดลบที่ -0.3% (Prev. +5.5% YoY) โดยเป็นการติดลบในรอบ 6 เดือน เนื่องมาจากการส่งออกสินค้าอุตสาหกรรมซึ่งเป็นสินค้าส่งออกที่มีสัดส่วนกว่า 83.6 % ของสินค้าส่งออกทั้งหมดหดตัว โดยเฉพาะอิเล็กทรอนิกส์และเคมีภัณฑ์

ขณะที่ การนำเข้าขยายตัวชะลอลงอย่างมีนัยสำคัญที่ 6.8% YoY (Prev. +21.4 % ) นับเป็นการขยายตัวต่ำที่สุดหลังจากที่อัตราการขยายตัวสูงเป็นตัวเลข 2 หลักติดต่อกันมานานกว่า 7 เดือน เนื่องจากสินค้าขั้นกลางและสินค้าทุนซึ่งมีสัดส่วนรวมกันกว่า 71.3% ของสินค้านำเข้าทั้งหมดขยายตัวชะลอลง ประกอบกับการนำเข้าสินค้าอุปโภคบริโภคหดตัวในรอบ 8 เดือน อย่างไรก็ดี การนำเข้าน้ำมันยังคงขยายตัวสูงอย่างต่อเนื่องในเดือนพ.ย.

ภาพรวมการค้าระหว่างประเทศดังกล่าว ส่งผลให้ฟิลิปปินส์ขาดดุลการค้าในเดือนพ.ย. ชะลอลงเล็กน้อยเหลือ 3.9 พันล้านดอลลาร์ฯ (Prev. 4.21 พันล้านดอลลาร์ฯ) ทั้งนี้ ในปี 2018 ที่ผ่านมา ฟิลิปปินส์เผชิญกับการขาดดุลการค้าที่สูงเนื่องจากการส่งออกที่ไม่เติบโตเท่าที่ควร เนื่องจากสถานการณ์ความไม่แน่นอนการค้าในตลาดโลก ขณะที่ การนำเข้าสินค้ามีการขยายตัวสูงจากความต้องการสินค้าขั้นกลางและสินค้าทุน

    อินโดนีเซีย: กระทรวงการคลังอินโดนีเซียตั้งเป้าการขาดดุลงบประมาณปี 2019 คิดเป็น1.84% ของ GDP สูงกว่าปี 2018 ซึ่งมีการขาดดุลงบประมาณคิดเป็น 1.76% ของ GDP เล็กน้อย แต่ยังคงต่ำกว่าการขาดดุลงบประมาณเฉลี่ย 2.34% ของ GDP ในระหว่างปี 2012-2017 ที่ผ่านมา

เป้าหมายการขาดดุลดังกล่าวยังคงต่ำกว่า 2.0% ของ GDP ภายใต้ความระมัดระวังทางการคลังของรัฐบาลอินโดนีเซียที่มีต่อสถานการณ์การเติบโตของเศรษฐกิจอินโดนีเซียในปี 2019 ซึ่งแม้จะมีการคาดการณ์ว่า เศรษฐกิจอินโดนีเซียจะยังเติบโตอย่างต่อเนื่อง แต่อาจต้องเผชิญแรงกดดันหลายประการอย่างทิศทางการดำเนินนโยบายการเงินที่เข้มงวดที่ได้สร้างแรงกดดันการลงทุนภายในประเทศ รวมถึงรายได้จากภาษีที่ต้องพึ่งพาภาษีภายในประเทศเป็นหลักมีแนวโน้มลดลงในระยะ2-3 ปีที่ผ่านมา