จะเลือกกองทุนหุ้นจ่ายปันผลหรือไม่ปันผลดี
โดย…เสกสรร โตวิวัฒน์ CFP®
ผู้เชี่ยวชาญด้านการวางแผนทางการเงิน
BF Knowledge Center
ทำไมกองทุนหุ้นบางกองถึงไม่จ่ายปันผลออกมาให้ผู้ลงทุน?
- ก่อนอื่นต้องดูที่นโยบายการลงทุนของกองทุนหุ้นกองนั้นว่า มีนโยบายจ่ายเงินปันผลหรือไม่?
- ถ้ากองทุนหุ้นนั้น ไม่มีนโยบายจ่ายเงินปันผล กรณีที่บริหารจัดการเงินลงทุนแล้วมีกำไร กำไรที่ได้รับก็จะสะสมไว้ในกองทุนไปเรื่อยๆ (ราคา NAV ที่สูงขึ้น)
- ส่วนกองทุนที่หุ้นที่ มีนโยบายจ่ายปันผล ในนโยบายการลงทุนก็จะเขียนไว้ชัดว่า กรณีที่บริหารจัดการเงินลงทุนแล้วมีกำไรในงวดนั้น และ/หรือ มีกำไรสะสมอยู่ กองทุนก็จะพิจารณาจ่ายเงินปันผลออกมาให้กับผู้ลงทุน ส่วนจะจ่ายมาก จ่ายน้อย บ่อยครั้งแค่ไหนก็ขึ้นอยู่กับว่ากองทุนนั้นออกแบบไว้อย่างไร และเขียนนโยบายไว้แบบไหน
นโยบายปันผล สามารถออกแบบให้แตกต่างกันได้ด้วยหรือ?
- สามารถออกแบบได้ ยกตัวอย่าง กองทุนบัวแก้วปันผล ได้เขียนนโยบายลงทุนเกี่ยวกับการพิจารณาจ่ายเงินปันผลไว้ชัดเจนว่าจะพิจารณาการจ่ายปันผลทุกๆ 6 เดือน โดยจะจ่ายในอัตราร้อยละ 95 จากกําไรสะสมหรือกําไรสุทธิจากการดําเนินงานงวดนั้น…… ซึ่งแสดงระยะเวลาการจ่ายปันผลค่อนข้างชัดเจน กล่าวคือ ทุกๆ 6 เดือน ผู้จัดการกองทุนก็จะพิจารณาว่ามีกำไรสามารถจ่ายปันผลได้หรือไม่? ถ้ามีกำไรก็จะจ่ายปันผลออกมาเกือบหมดก็คือร้อยละ 95 เหลือเก็บไว้ในกองทุนนิดหน่อยเท่านั้น ดังนั้น เวลาที่ตลาดหุ้นดี กองทุนบัวแก้วบริหารได้ดี ผู้ลงทุนก็มีโอกาสได้รับเงินปันผลเยอะ
- ในขณะที่กองทุนบัวหลวงปัจจัยสี่ ซึ่งก็เป็นกองทุนหุ้น มีนโยบายจ่ายปันผล เขียนนโยบายลงทุนเกี่ยวกับการพิจารณาจ่ายเงินปันผลไว้ว่า พิจารณาปีละ 2 ครั้ง หรือตาม บลจ. เห็นสมควร ในอัตราไม่น้อยกว่าร้อยละ 50 หมายความว่า หากตลาดหุ้นดี กองทุนบัวหลวงปัจจัย 4 ดี ผู้จัดการกองทุนอาจไม่ได้พิจารณาจ่ายเงินปันผลออกมาทั้งหมด กรณีที่ผู้จัดการกองทุนเห็นว่าน่าจะเก็บไว้ลงทุนสร้างผลตอบแทนต่อได้บางส่วน อีกทั้งการพิจารณาจ่ายก็ไม่มีเวลากำหนดแน่นอน ขึ้นกับผู้จัดการกองทุนจะพิจารณาตามความเหมาะสม
เคยได้ยินมาว่า กองทุนที่จ่ายปันผล มูลค่า NAV ไม่ค่อยเติบโต?
- ถูกต้อง เพราะการจ่ายปันผลคือ การนำเงินกำไรที่ได้รับจากการลงทุนมาคืนให้กับผู้ลงทุน ทุกครั้งที่มีกำไรก็จะพิจารณาจ่ายออกมา ทำให้ไม่มีราคาสะสมใน NAV
- ยกตัวอย่าง เริ่มต้น 10 บาท มีกำไรจากการลงทุนทำให้ราคาขึ้นเป็น 11 บาท สมมติว่าจ่ายกำไรออกมาหมดเลย 1 บาท NAV ของกองทุนหลังจ่ายปันผลก็จะลดลงมาเหลือ 10 บาท พองวดถัดไปตลาดหุ้นขาลงทำให้ขาดทุนหนัก NAV เหลือ 7 บาท ทำให้ไม่มีการจ่ายปันผล พองวดถัดไปอีกตลาดหุ้นขาขึ้น มีกำไรราคาก็ขึ้นมา เป็น 9 บาท ทำให้สามารถพิจารณาจ่ายปันผลได้ สมมติว่าพิจารณาจ่ายปันผลให้ 2 บาท NAV หลังจ่ายปันผลครั้งนี้ก็จะลดลงเหลือ 7 บาท ดังนั้น หากดูแต่ราคา NAV ก็อาจคิดได้ว่าไม่มีกำไร แต่ความจริงคือ “ได้รับกำไรไปในรูปแบบของเงินปันผล”
- ดังนั้น การที่ราคา NAV ต่ำกว่า 10 บาท อาจไม่ได้แสดงว่าขาดทุนเสมอไป เพราะต้องนับเงินปันผลที่จ่ายออกไประหว่างทางเป็นผลตอบแทนที่ผู้ลงทุนได้รับด้วย
หากต้องเลือกลงทุนจะเลือกแบบไหนดีกว่ากัน?
- กองทุนหุ้นปันผลและไม่ปันผล ต่างก็มีความน่าสนใจ การเลือกลงทุนจึงขึ้นอยู่กับเป้าหมายของผู้ลงทุนมากกว่าว่าต้องการอะไร
- ถ้าต้องการเก็บเงินไว้เพื่ออนาคต เช่น ไว้ใช้ยามเกษียณ เก็บไว้เป็นทุนการศึกษาให้ลูกตอนโต จะส่งเค้าไปเมืองนอกในอีก 5 ปีข้างหน้า แบบนี้แนะนำให้เลือกกองทุนหุ้นที่ไม่จ่ายปันผล เพราะต้องการให้เงินสะสมไว้ในอนาคต
- แต่ถ้าอยากได้เงินคืนระหว่างการลงทุนไปใช้จ่าย หรือการได้รับปันผลทำให้เราอุ่นใจ ไม่ได้มุ่งเป้าหมายสะสมเงินเพื่ออนาคตเป็นสำคัญ แบบนี้ก็เลือกกองทุนหุ้นที่จ่ายปันผลจะเหมาะกว่า
กองทุนบัวหลวงมีกองทุนชื่อ “บัวหลวงร่วมทุน” ที่มีนโยบายจ่ายปันผลด้วย แต่ไม่ได้มีขายที่ตัวแทนขายอื่นนอกจากที่กองทุนบัวหลวง สาเหตุคืออะไร?
- สาเหตุเพราะ กองทุนนี้ตั้งขึ้นมาในช่วงก่อนวิกฤติต้มยำกุ้ง ตามนโยบายของภาครัฐที่อยากให้ตั้งกองทุนมาพยุงตลาดหุ้นช่วงนั้น ซึ่งเริ่มไม่ค่อยจะดี บลจ.บัวหลวง และ บลจ.บางแห่ง ในยุคนั้น จึงตั้งกองทุนเฉพาะขึ้นมาเพื่อระดมเงินจากผู้ลงทุนไม่กี่รายให้เข้าไปลงทุน จึงไม่ได้ขายผ่านตัวแทนอื่น ขายแค่ บลจ.บัวหลวง ที่เดียวเท่านั้น
- กองทุนบัวหลวงร่วมทุน มีนโยบายลงทุนคล้ายๆ บัวแก้วปันผล ซึ่งเป็นกองทุนหุ้นทั่วไปของ บลจ.บัวหลวง ที่ขายผ่านตัวแทนขายอื่น เช่นเดียวกับกองทุนบัวแก้วปันผล ก็จะมีนโยบายการลงทุนคล้ายๆ กับบัวแก้ว ซึ่งผู้จัดการกองทุนจะคอยพิจารณาให้ว่า ตอนนี้ควรลงทุนหุ้นกลุ่มไหน ตัวไหน ตามกระบวนการลงทุนของบัวหลวง แต่เพิ่มเติมตรงที่มีนโยบายจ่ายปันผล ขณะที่บัวแก้วจะไม่มีการจ่ายปันผล
- หลังจากผ่านพ้นวิกฤตในช่วงนั้น กองทุนบัวหลวงร่วมทุนก็ยังคงขายผ่านที่ บลจ.บัวหลวง แห่งเดียว เพราะกองมีความใกล้เคียงกับบัวแก้วปันผลอย่างมาก ทั้งนี้ หากผู้ลงทุนสนใจสามารถติดต่อมาที่ บลจ.บัวหลวง โทร 02-674-6488 กด 2 ซึ่งจะมีเจ้าหน้าที่ตัวแทนขายคอยให้บริการ หรือถ้าไม่สะดวกเปิดบัญชีใหม่ ก็สามารถลงทุนผ่านกองทุนที่ใกล้เคียงกันอย่างบัวแก้วปันผลได้