กองทุนผสมบีซีเนียร์สำหรับวัยเกษียณ เอ็กซ์ตร้า (B-SENIOR-X)

กองทุนผสมบีซีเนียร์สำหรับวัยเกษียณ เอ็กซ์ตร้า (B-SENIOR-X)

วัตถุประสงค์การลงทุน

กระจายการลงทุนทั้งในและต่างประเทศ ในหลักทรัพย์ดังต่อไปนี้ ตราสารหนี้ เช่น ตราสารหนี้ภาครัฐ ตราสารหนี้ที่ออกโดยธนาคารที่มีกฎหมายเฉพาะจัดตั้งขึ้น ตราสารหนี้ที่มีลักษณะคล้ายเงินฝาก ตราสารหนี้ภาคสถาบันการเงิน ตราสารหนี้ภาคเอกชน ไม่น้อยกว่า 70% ของ NAV, ตราสารทุนไม่เกิน 30% ของ NAV, หน่วยลงทุนของกองทุนรวม เช่น กองทุนรวมทองคำ กองทุนรวมอสังหาริมทรัพย์ กองทุนรวมโครงสร้างพื้นฐาน หน่วยทรัสต์เพื่อการลงทุนในอสังหาริมทรัพย์ (REITs) กองทุนรวมอีทีเอฟ (ETF) เป็นต้น หน่วยลงทุนของกองทุนรวมภายใต้การจัดการของบริษัทจัดการไม่เกิน 60% ของ NAV, เงินฝากหรือตราสารเทียบเท่าเงินฝาก โดยมีสัดส่วนการลงทุนในต่างประเทศไม่เกิน 79% ของ NAV ซึ่งเหมาะกับนักลงทุนที่ต้องการลดภาระการบริหารเงินในวัยเกษียณ และต้องการโอกาสได้รับผลตอบแทนจากการลงทุนภายใต้ความเสี่ยงที่เหมาะสม

Bloomberg Code: BSENIORX TB

Fund Size: 16,385 ล้านบาท (ณ วันที่ 15 ม.ค. 2019)

Morningstar Category: Conservative Allocation

สรุปภาพรวมตลาดตราสารทุนไทยช่วงเดือน ธ.ค. 2018

ตลาดหุ้นไทยปิดท้ายปี 2018 ด้วยความผันผวน โดย SET Index ปรับลดประมาณ 10.9% ในไตรมาส 4/2018 ด้วยแรงกดดันจากทั้งปัจจัยภายนอกและปัจจัยภายในประเทศ ทั้งการที่สหรัฐกับจีนไม่สามารถหาข้อตกลงการค้าร่วมกันได้ ความเสี่ยงของการชะลอตัวของเศรษฐกิจโลกในปี 2019-2020 โดยเฉพาะสหรัฐที่สะท้อนความกังวลผ่านความชันของ Yield Curve ที่ลดลงต่อเนื่องและมีโอกาสเข้าใกล้ภาวะ Inverted (ภาวะที่ผลตอบแทนพันธบัตรระยะสั้นสูงกว่าผลตอบแทนของพันธบัตระยะยาว) ซึ่งมักจะเป็นตัวชี้ถึงความเสี่ยงที่เศรษฐกิจจะเข้าสู่ภาวะถดถอยได้ในอนาคต และทำให้ตลาดมีการปรับลดประมาณการกำไรบริษัทจดทะเบียนหลายแห่งลง

แม้ในช่วงปลายเดือน FED ได้ประกาศขึ้นอัตราดอกเบี้ย 0.25% เป็น 2.25-2.50% ซึ่งเป็นไปตามที่ตลาดคาด แต่ได้ส่งสัญญาณที่จะชะลอการขึ้นอัตราดอกเบี้ยในปี 2019 จากเดิม 3 ครั้งลดลงเหลือ 2 ครั้ง ก็ไม่สามารถบรรเทาความผันผวนของตลาดไว้ได้

สำหรับปัจจัยภายในประเทศ แม้ว่าผลกระทบโดยตรงจากสงครามการค้าจะมีจำกัด แต่ผลกระทบทางอ้อมนั้นยังไม่แน่นอน และเริ่มเห็นการชะลอตัวของการส่งออกจากไทยไปจีน ในด้านแนวโน้มผลประกอบการของบริษัทจดทะเบียนไทยนั้นถูกกดดันจากราคาน้ำมันที่ลดลงและการชะลอลงของการใช้จ่ายในประเทศ แม้จะมีปัจจัยบวก อาทิ กนง.ได้ประมาณการว่าเศรษฐกิจไทยจะเติบโตได้ 4.0% ขับเคลื่อนโดยแรงหนุนในประเทศเป็นหลัก ทั้งการบริโภคและการลงทุนโครงสร้างพื้นฐานซึ่งยังมีแนวโน้มที่ดี ส่วนการเลือกตั้งในประเทศที่ทางรัฐบาลกำหนดจะให้มีขึ้นในต้นปี 2019 ยังไม่สามารถสร้างความเชื่อมั่นให้นักลงทุนไทยได้เท่าที่ควร

สรุปภาพรวมตลาดตราสารหนี้ในช่วงเดือน ธ.ค. 2018

การที่ กนง. ปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายในการประชุมเดือน ธ.ค. มาสู่ระดับ 1.75% ส่งผลกระทบให้อัตราผลตอบแทนพันธบัตรระยะสั้นไม่เกิน 1 ปี เพิ่มขึ้นตาม ด้วยความสัมพันธ์ที่มักจะเคลื่อนไหวไปในทิศทางเดียวกันและสัดส่วนที่ใกล้เคียงกันกับอัตราดอกเบี้ยนโยบาย ทว่าอัตราผลตอบแทนพันธบัตรระยะกลาง – ยาวกลับไม่ได้ปรับขึ้นตามไปด้วยแต่กลับปรับตัวลดลง 0.01% – 0.23% ซึ่งเป็นไปตามความเคลื่อนไหวของพันธบัตรรัฐบาลสหรัฐที่ตลาดเริ่มปรับลดคาดการณ์การปรับขึ้นของ Fed Fund Rate ประกอบกับตลาดคาดการณ์ว่า ธปท. จะยังไม่รีบเร่งที่จะปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายด้วยประมาณการตัวเลขทางเศรษฐกิจและอัตราเงินเฟ้อที่ปรับลดลง

ความเคลื่อนไหวค่าเงินบาท

ค่าเงินบาทในเดือน ธ.ค. ทยอยแข็งค่าขึ้นต่อเนื่องจากเดือนก่อนหน้า สอดคล้องกับแรงขายเงินดอลลาร์สหรัฐในตลาดอัตราแลกเปลี่ยน ด้วยสัญญาณชะลอการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายของ FED รวมถึงความไม่แน่นอนเกี่ยวกับร่างกฎหมายงบประมาณชั่วคราวเพื่อหลีกเลี่ยงการปิดหน่วยงานราชการของสหรัฐฯ ที่ยังคงยืดเยื้อมาถึงในช่วงต้นปี 2019 ทั้งนี้ ในช่วงปี 2018 ค่าเงินบาทให้ผลตอบแทนที่ดีกว่าเมื่อเทียบกับสกุลเงินในภูมิภาค แม้จะแข็งค่าขึ้นเพียง 0.1% โดยยังมีปัจจัยหนุนมาจากเสถียรภาพด้านต่างประเทศของไทยที่แข็งแกร่ง ทำให้นักลงทุนมีความเชื่อมั่นต่อการถือครองสินทรัพยไทย ค่าเงินบาทมีสถานะเปรียบเสมือนสินทรัพย์ปลอดภัยในภูมิภาค (Regional Safe Haven) โดยกองทุนบัวหลวงคาดการณ์การเคลื่อนไหวของค่าเงินบาทที่ช่วง 31.75 – 33.75 ในปี 2019 นี้

กลยุทธ์การลงทุน

ผลการดำเนินงานของกองทุนในช่วงเดือน ธ.ค. ยังปรับลดลง จากส่วนของตราสารทุนด้วยสภาวะตลาดที่ค่อนข้างผันผวน โดยผู้จัดการกองทุนใช้โอกาสที่ราคาหุ้นปรับลดลงในการเข้าลงทุนในหุ้นของบริษัทที่มีคุณภาพดีที่ราคาลดต่ำลงกว่าราคาที่ควรจะเป็น รวมถึงได้มีการปรับน้ำหนักการลงทุนสำหรับหุ้นภายในอุตสาหกรรมเดียวกัน โดยยังคงเน้นการลงทุนในหุ้นของบริษัทคุณภาพที่มีรูปแบบธุรกิจที่เข้มแข็ง มีศักยภาพเติบโตต่อเนื่อง มีฐานะการเงินแข็งแกร่ง มีกระแสเงินสดสูง และมีแนวโน้มการจ่ายปันผลดีอย่างสม่ำเสมอ โดยในช่วงไตรมาสที่ผ่านมากองทุนได้เพิ่มน้ำหนักการลงทุนในอุตสาหกรรมพลังงานและสาธารณูปโภค ธนาคาร ขณะที่ปรับลดน้ำหนักการลงทุนในอุตสาหกรรมเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร พัฒนาอสังหาริมทรัพย์ เป็นต้น

สำหรับตราสารหนี้ยังคงเป็นสินทรัพยหลักที่มีคุณค่าสำหรับพอร์ตการลงทุนด้วยสัดส่วนการลงทุนประมาณ 74% ของพอรตการลงทุน โดยผู้จัดการกองทุนยังคงมุ่งหวังผลตอบแทนระยะสั้นถึงกลางให้สูงกว่าดัชนีชี้วัดโดยเนะนการลงทุนทั้งในตราสารภาครัฐและเอกชนที่ให้ผลตอบแทนสอดคล้องและเหมาะสมกับความเสี่ยง ด้วยอายุเฉลี่ยของตราสารหนี้ที่ประมาณ 1.9 ปี

ทั้งนี้ การที่อัตราผลตอบแทนพันธบัตรลดลงค่อนข้างมากในช่วงที่ผ่านมา  ทำให้ผู้จัดการกองทุนตัดสินใจขายตราสารหนี้ทั้งในระยะสั้นและระยะยาวเพื่อทำกำไรออกไปบ้าง โดยรอจังหวะซื้อกลับเมื่ออัตราผลตอบแทนปรับขึ้นมาในระดับที่เหมาะสม สำหรับหุ้กู้ ภาคเอกชน ผู้จัดการกองทุนยังคงเลือกที่ผู้ออกมีฐานะทางการเงินมั่นคงที่ได้รับการจัดอันดับ

ความน่าเชื่อถือระดับ A- ขึ้นไป รวมถึงได้ส่วนต่างอัตราดอกเบี้ยเครดิตที่น่าจูงใจ เหมาะกับความเสี่ยง Credit spread ที่น่าจูงใจเหมาะสมกับระดับความเสี่ยง โดยเน้นการลงทุนในหุ้นกู้ที่มีอายุไม่เกิน 5 ปี

นอกจากนั้น ผู้จัดการกองทุนยังได้แบ่งสัดส่วนการลงทุนไปยังตราสารหนี้ต่างประเทศประมาณ 20% ทั้งตราสารหนี้ทั่วโลกที่มีคุณภาพ ตราสารหนี้ในทวีปเอเชีย รวมถึง US High Yield Bond เพื่อเพิ่มโอกาสในการสร้างผลตอบแทนแก่กองทุน