สบน.ชี้แจงกรณีถูกวิจารณ์การกู้เงินจากจีนสำหรับโครงการพัฒนาระบบรถไฟความเร็วสูง เพื่อเชื่อมโยงภูมิภาคช่วงกรุงเทพฯ – หนองคาย (ระยะที่ 1 ช่วงกรุงเทพฯ – นครราชสีมา) ยันจะใช้เงินกู้จากหลายแห่ง เน้นในประเทศไทยเป็นหลักถึง 80% พร้อมหาเงื่อนไขที่ดีที่สุด กระทบหนี้สาธารณะน้อยที่สุด
นางจินดารัตน์ วิริยะทวีกุล ผู้อำนวยการสำนักนโยบายและแผน สำนักงานบริหารหนี้สาธารณะ ชี้แจงเพิ่มเติมเกี่ยวกับประเด็นข้อวิจารณ์การกู้เงินจากจีนสำหรับโครงการพัฒนาระบบรถไฟความเร็วสูงเพื่อเชื่อมโยงภูมิภาคช่วงกรุงเทพมหานคร – หนองคาย (ระยะที่ 1 ช่วงกรุงเทพมหานคร – นครราชสีมา) ว่าโครงการดังกล่าวได้ผ่านการวิเคราะห์จากสำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติแล้วว่า จะเกิดผลตอบแทนทางเศรษฐกิจจากการดำเนินโครงการ
รวมถึงเป็นการเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศในด้านลดต้นทุนค่าขนส่งสนับสนุนกระจายความเจริญและรายได้ไปสู่ภูมิภาค ตลอดจนเชื่อมโยงการค้าและการลงทุนระหว่างประเทศในภูมิภาคอาเซียน รวมทั้งจะเป็นการเพิ่มโอกาสให้ประเทศไทยเป็นศูนย์กลางการขนส่ง (Logistics Hub) ของภูมิภาคอาเซียนในอนาคต ซึ่งสอดคล้องกับยุทธศาสตร์ด้านการสร้างความสามารถในการแข่งขันของประเทศ
สำหรับข้อกังวลเกี่ยวกับสถานะทางการเงินและขีดความสามารถในการชำระหนี้เงินกู้ของประเทศไทย โครงการฯ มีแหล่งเงินทุนจากหลายแหล่ง โดยจะใช้แหล่งเงินทุนในประเทศเป็นหลัก ประมาณ 80 % ของวงเงินรวมโครงการ และจะใช้เงินกู้ต่างประเทศสำหรับรายการที่จำเป็นต้องใช้เทคโนโลยีจากต่างประเทศและใช้จ่ายเป็นเงินตราต่างประเทศเท่านั้น ซึ่งคิดเป็นเพียง 20% ของวงเงินโครงการ
ในการนี้ กระทรวงการคลังจะดำเนินการจัดหาแหล่งเงินกู้ที่เหมาะสมที่มีเงื่อนไขเงินกู้ที่ดีที่สุดเมื่อเทียบกับแหล่งเงินกู้ ในประเทศ เช่น มีอัตราดอกเบี้ยต่ำ และอายุเงินกู้ยาว รวมทั้งไม่มีเงื่อนไขผูกมัดใดๆ ที่ทำให้ประเทศไทยต้องเสียเปรียบ
ทั้งนี้ ในการกู้เงินสำหรับลงทุนในโครงการพัฒนา กระทรวงการคลังได้คำนึงถึงความสามารถในการชำระหนี้ของประเทศ และกรอบการบริหารหนี้สาธารณะภายใต้กฎหมายที่เกี่ยวข้อง เช่น พระราชบัญญัติวินัยการเงินการคลัง พ.ศ. 2561 และพระราชบัญญัติการบริหารหนี้สาธารณะ พ.ศ. 2548 และที่แก้ไขเพิ่มเติม เป็นต้น นอกจากนี้ หากพิจารณาประเด็นทุนสำรองระหว่างประเทศ พบว่า ปัจจุบันยังมีระดับสูง โดย ณ สิ้นเดือนพฤศจิกายน 2561 มีจำนวน 203,153.03 ล้านดอลลาร์สหรัฐ