ยิ่งเริ่มต้นออมเพื่อวัยเกษียณเร็วเท่าใดยิ่งดีเท่านั้น

ยิ่งเริ่มต้นออมเพื่อวัยเกษียณเร็วเท่าใดยิ่งดีเท่านั้น

By…ทนง ขันทอง

หัวใจหลักของการออมเงินเพื่อที่จะให้ได้ก้อนเงินใหญ่เพียงพอใช้สำหรับชีวิตในวัยเกษียณคือ การเริ่มวางแผนการออมให้เร็วที่สุดเท่าที่จะเร็วได้

การเดินทางเส้นทางที่ยาวไกล เริ่มต้นด้วยก้าวแรกเสมอ

ถ้าไม่มีก้าวแรก ก็จะไม่มีก้าวที่สอง ที่สาม ไปจนถึงก้าวที่ล้าน

การออมเงินเพื่อวัยเกษียณก็เหมือนกัน คือต้องรู้จักการนับหนึ่งก่อน ด้วยการออมทันที ไม่ต้องรอคอยอะไร

ถ้าไม่รู้จักการนับหนึ่ง ก็จะไม่มีวันไปถึงดวงดาวของการมีเงินออมให้ใช้ในวัยเกษียณ

 

เริ่มต้นออมตามกำลังความสามารถ

เริ่มต้นถ้าหากว่าสามารถเก็บเงินได้ 500 บาทต่อสัปดาห์ หรือ 2,000 บาทต่อเดือน จะเป็นการเริ่มต้นที่ดี อาจจะบอกว่าเงินจำนวนนี้มาก หรือไม่มากก็ได้ ขึ้นอยู่กับฐานะ เงินเดือนหรือรายได้ของแต่ละคนที่ไม่เหมือนกัน

มีตัวอย่างของเมืองนอก ถ้าหากผู้ออมสามารถออมได้เดือนละ 100 ดอลลาร์สหรัฐ โดยเริ่มต้นออมเงินเมื่ออายุ 25 ปี สมมุติว่าผลตอบแทนจากการออมที่ใส่เข้าไปการลงทุนได้มา 6% ต่อปี ผู้ออมจะมีเงินสะสม 190,000 ดอลลาร์สหรัฐ เมื่อมีอายุครบ 65 ปี

จะเห็นได้ว่าเส้นทางการออมที่ยาวนาน  ในระหว่างทางอาจจะเป็นภาระสำหรับผู้ออมที่ต้องเจียดเงินออกมา แม้ว่าจะเป็นเงินไม่มาก แต่เมื่อเส้นทางการออมสิ้นสุดลง ผลตอบแทนจะดีเกินกว่าที่คาดมาก

แต่ถ้าหากระหว่างทางของการออม เกิดมีปัญหาจริงๆ ว่าไม่สามารถหักเงินได้ตามจำนวนที่ตั้งใจเอาไว้ เนื่องจากมีภาระหนี้ และภาระการใช้จ่ายที่จำเป็นอื่นๆ ก็ไม่ต้องไปกังวลใจมาก ลดการออมเหลือเดือนละ1,000 บาทก่อนก็ได้

สิ่งที่สำคัญคือ ต้องมีแผนการออมใหม่ รวมทั้งการหารายได้เพิ่มเติม หรือลดรายจ่ายในอนาคต เพื่อที่จะบรรลุเป้าหมายใหม่ของการออม

ถ้าหากว่า ในอนาคตมีรายได้เพิ่ม มีการเปลี่ยนงาน ได้ตำแหน่งใหม่ มีการปรับฐานเงินเดือน ก็ควรจะเพิ่มการออมตามกำลังความสามารถใหม่

ประเด็นคือต้องมีการออมเป็นประจำให้เป็นโปรแกรม มีมากก็ออมมาก มีน้อยก็ออมลดลงไป แล้วหาทางออมเพิ่ม แต่จะต้องไม่เลิก หรือหยุดการออมไปดื้อๆ

 

ควรมีงบประมาณการเงินประจำตัวที่สะท้อนความเป็นจริง

ผู้ออมต้องมีแผนสำหรับการบริหารเงินของตัวเอง เพราะว่าความสำเร็จของการออมวัยเกษียณ อยู่ที่แผนการที่สามารถปฏิบัติให้เป็นจริงได้

ถ้าหากว่าผู้ออมมีรายได้ รายจ่ายชนเดือน มันจะเป็นการยากที่จะมีแผนการทางการเงิน

การมีแผนการเงินเหมือนกับการมีงบประมาณการเงิน เราต้องรู้รายรับหรือรายจ่ายที่แท้จริงในแต่ละเดือน เพื่อว่าเราสามารถที่จะควบคุมทางเลือกเพื่อให้เงินก่อเกิดประโยชน์กับเรามากที่สุด

ในงบประมาณการเงิน จะมีค่าใช้จ่ายประจำไม่ว่าจะเป็นค่าเช่าบ้าน ค่าผ่อนบ้านหรือผ่อนคอนโด ค่างวดรถยนต์ ค่าใช้จ่ายหนี้  ขณะเดียวกันในงบประมาณของเรามีค่าใช้จ่ายสำหรับซื้ออาหารที่ห้าง ไปดูหนัง ชอปปิ้ง หรือซื้อเสื้อผ้า

แต่ที่สำคัญคือเราต้องมีงบส่วนที่เหลือสำหรับการออมในวัยเกษียณ

นี่คืองบประมาณทางการเงินที่สะท้อนให้เห็นว่าเราให้ความสำคัญกับการออมเพื่อการเกษียณ

ถ้ามีรายได้มากกว่ารายจ่าย แสดงว่าเรามีฐานะการเงินที่ดี ถ้าหากว่ามีรายจ่ายมากกว่ารายได้ ต้องรีบหารูรั่วแล้วอุดมันไม่ให้รั่วไหล

ที่สำคัญ เราต้องกลับมาทบทวนงบประมาณการเงินของเราเป็นระยะๆ เพื่อปรับความสมดุล หรือความเหมาะสม

 

หักเงินออมเพื่อวัยเกษียณโดยอัตโนมัติ

วิธีการหักเงินอัตโนมัติเพื่อการเกษียณเป็นวิธีการที่ง่ายและสะดวก เป็นการสร้างวินัยทางการเงิน หรือการออม

หลังจากที่วางแผนการเงินจากงบประมาณการเงินแล้ว เราจะทราบว่า จะมีเงินเหลือเพียงใดสำหรับการออมในแต่ละเดือน อาจจะเป็น 2,000บาท หรือ 5,000บาท ให้หักโดยอัตโนมัติโดยเข้าไปลงทุนในหน่วยลงทุนที่เหมาะสมกับโปรไฟล์ หรืออายุของตัวเรา

การออมอัตโนมัติแบบนี้จะเป็นการดี เพราะว่าเราไม่ต้องมีแรงกระตุ้นที่จะเอาเงินออมออกมาใช้ก่อน

 

ลดรายจ่าย

ยุคอี-คอมเมิร์ซ ทำให้ผู้บริโภคมือเติบ เพราะว่าสามารถจับจ่ายสินค้าออนไลน์ได้สะดวก เผลอนิดเดียว เราสั่งซื้อของมากมาย ดูไปดูมาของที่ซื้อไม่ได้มีความจำเป็นมากนัก ไม่มีก็ได้

เวลาเดินห้างก็อดที่จะซื้อของไม่ได้ ทั้งๆ ที่ไม่ได้มีความจำเป็น ต้องถามตัวเองว่า เราจำเป็นต้องซื้อ หรือเราแค่อยากที่จะซื้อ

ถ้าจำเป็น (need) ก็มีเหตุผลที่จะซื้อ แต่ถ้าอยากจะได้ (want) ก็ควรที่จะยับยั้งชั่งใจไปก่อน เพราะว่า ความอยากไม่มีที่สิ้นสุด และบ่อยครั้งของที่อยากได้ไม่ได้มีความจำเป็นกับชีวิต

 

ให้ลดหนี้ และลดจำนวนบัตรเครดิตที่ถือ

พยายามที่จะลดหนี้ เพราะว่าหนี้มาพร้อมกับดอกเบี้ย การลดหนี้จะช่วยลดภาระการใช้จ่าย เงินที่เหลือสามารถเอามาเพื่อการออมได้

พร้อมกันนี้ให้ลดการถือครองบัตรเครดิตลงให้น้อยที่สุด เพราะว่าบ่อยครั้งการใช้เงินผ่านบัตรเครดิตจะใช้เพื่อสนองความอยาก มากกว่าซื้อสินค้าหรือบริการเพราะความจำเป็น

สรุปแล้ว การวางแผนการเงิน หรือการออมเพื่อวัยเกษียณจะเริ่มต้นได้ต้องรู้จักนับหนึ่ง ก้าวแรกไม่ต้องหักโหม ค่อยๆ ออมตามกำลังความสามารถ

เริ่มต้นการออมด้วยจำนวน 500 บาทต่อสัปดาห์ หรือต่อ 2 สัปดาห์ก็ได้ แล้วค่อยๆ หาทางเพิ่ม พยายามหารายได้มากกว่า 1 ช่องทาง และปรับปรุงความรู้เพื่อความก้าวหน้าในอาชีพการงาน หรือการค้าขาย ทำงบประมาณการเงินของตัวเองที่จับต้องได้ โดยบริหารค่าใช้จ่ายที่จำเป็น และไม่จำเป็น และให้เจียดเงินออกมาเพื่อการออม ใส่เงินออมเข้ากองทุนที่เหมาะสมกับเรา

ถ้าไม่มีความรู้พอให้ปรึกษากับนักวางแผนทางการเงิน แล้วก้าวเข้าสู่เส้นทางการลงทุนที่ถนนยาวไกลทันที ไม่ว่าจะมีปัญหาหรือทางคดเคี้ยวอย่างไร เราหักเงินออมตลอดทุกเดือน ทำอย่างสม่ำเสมอ แล้วท้ายที่สุดจะประสบความสำเร็จในการวางแผนทางการเงิน