โดย…อรพรรณ บัวประชุม CFP®
ผู้เชี่ยวชาญด้านการวางแผนทางการเงิน
BF Knowledge Center
“ตรุษจีนนี้ ขอให้ทุกท่านพบแต่สิ่งดีๆ คิดสิ่งใดสมปรารถนา กิจการรุ่งเรือง เฮงๆ รวยๆ มั่งมีตลอดไป อั่งเปาตั่วตั่วไก๊ ” คำพูดอันแสนคุ้นหูเหล่านี้มักถูกนำไปส่งต่อให้กับคนที่เรารัก ผู้รับก็คงจะรู้สึกดีและหวังว่ามันคงจะเกิดขึ้นสักวัน ซึ่งถ้ามองอีกมุมหนึ่งของ “Wealth” คงมิได้หมายถึงแต่เรื่องทรัพย์สินเงินทองเพียงอย่างเดียว แต่ต้องมองถึงปัจจัยพื้นฐานที่ทุกคนพึงมีด้วย นี่จึงเป็นเหตุที่ทำให้ต้องมาดูว่า ทำไมเราถึงมี Wealth ที่แตกต่างกัน
เรามักคิดว่าความร่ำรวยมีอย่างไม่จำกัด แต่จริงๆ แล้ว ทรัพยากรมีจำกัด ถ้ามีคนหนึ่งได้ อีกคนหนึ่งก็ต้องเสีย มันก็เป็นเรื่องธรรมดา ที่เรามักจะลืม หรืออีกนัยหนึ่งเป็นเพราะปัญหาความเหลื่อมล้ำ ที่ส่งผลกระทบกับ Wealth โดยเฉพาะ Wealth ของคนไทยส่วนใหญ่อย่างเราๆ
ที่ต้องกล่าวถึงเรื่องนี้คงเป็นเพราะ เมื่อ 6 ปีก่อน ประเทศไทยเป็นประเทศที่มีความเหลื่อมล้ำสูงป็นอันดับที่ 11 ของโลก แต่เมื่อ 2 ปีที่ผ่านมา ประเทศไทยขยับตัวสูงขึ้นมีความเหลื่อมล้ำสูงเป็นอันดับ 3 รองจากรัสเซียและอินเดีย และตอนนี้ยิ่งน่าตกใจไปกว่านั้น เพราะประเทศไทยได้กลายเป็นประเทศที่มีความเหลื่อมล้ำสูงที่สุดในโลกไปแล้ว (ตามข้อมูลของ CS Global Wealth Report 2018 เดือนตุลาคม)
พูดง่ายๆ ก็คือ คนที่รวยอยู่แล้ว ยิ่งรวยมากขึ้น ส่วนคนที่จนอยู่แล้วก็ยิ่งจนลงไปอีก ซึ่งไม่น่าจะเป็นไปได้แต่มันเป็นไปแล้ว (Everything is possible) เพราะคนรวย 1% มีทรัพย์สินรวม 66.9% ของทรัพย์สินรวมทั้งประเทศ ดังนั้นคนอีก 99% ที่เหลือซึ่งเป็นคนส่วนใหญ่ สามารถใช้ทรัพย์สินที่เหลือเพียง 33.1% เราจึงเห็นได้ว่าคนรวยในประเทศกระจุกตัวอยู่เพียงแค่ 1% แต่คนส่วนใหญ่ที่เหลือกระจายทั่วประเทศถึง 99%
ดังนั้น ทรัพยากรที่เหลือ 33.1% ที่คนอีก 99% ที่เหลือต้องใช้ร่วมกันนั้นนับวันก็ยิ่งลดลง ส่วน 66.9% ที่เหลือมีแค่เพียงคนรวย 1% เท่านั้นที่ได้ประโยชน์ เพราะไม่ว่าคนส่วนใหญ่ที่เหลือจะทำอะไร คนรวยก็ย่อมจะได้ประโยชน์เสมอ
จะมีสักกี่คนที่เห็นว่าคนส่วนใหญ่ที่เหลือนั้น อย่างเช่นชาวมนุษย์เงินเดือน ที่ดูแล้วเหมือนไม่ได้เสียเปรียบ เพราะมีเงินได้ที่แน่นอนในแต่ละเดือน และได้เงินเดือนเพิ่มขึ้นทุกปี แต่แท้จริงแล้วถ้ามองให้ดีจะเห็นว่าเงินเดือนที่ขึ้นในแต่ละปีอาจจะน้อยกว่าเงินเฟ้อที่เพิ่มขึ้นเสียอีก ทำให้รายได้ที่เหมือนจะได้เพิ่มขึ้น กลับลดลงทุกปีเพราะไม่สามารถสู้กับข้าวของเครื่องใช้ที่แพงขึ้นทุกวัน ดังนั้น การเป็นมนุษย์เงินเดือน หากจะพูดถึงเรื่อง “รวย” สมัยนี้คงเป็น Mission Impossible หรือเรียกได้ว่าเป็นไปไม่ได้เลย เพราะแค่จะอยู่ให้รอดเดือนชนเดือน โดยไม่เป็นหนี้ก็เก่งแล้ว
ส่วนผู้ที่ไม่ได้เป็นมนุษย์เงินเดือน แต่เป็นผู้ใช้แรงงาน ทำไมพวกเขาถึงยิ่งจนลง งานนี้ไม่ต้องคิดให้ซับซ้อนเลย เพราะแม้ว่ารายได้รายวันจะเพิ่มขึ้นแต่รายจ่ายมันก็เพิ่มมากขึ้นเป็นเงาตามตัว ทีนี้คนก็ยิ่งต้องจนหนัก เพราะไม่มีการออม ซ้ำยังมีสัดส่วนหนี้สินต่อรายได้สูงจนทำให้ไม่มีทางชำระหนี้คืนได้ แถมมีแนวโน้มจะทำให้มีความเหลื่อมล้ำถาวรกว่าเดิมเพราะนอกจากจะไม่มีมรดกตกทอดแล้ว ลูกหลานก็ยังคงต้องแบกรับภาระหนี้สินต่อไปเมื่อรุ่นพ่อแม่จากไปอีกด้วย
ดังนั้น ทางออกที่จะช่วยบรรเทาปัญหานี้ได้ก็คือการทำให้คนที่ด้อยโอกาสเข้าถึงแหล่งทุนได้ การสร้างวินัยทางการเงิน และสร้างทักษะการอ่านออกเขียนได้ทางการเงิน (Financial Literacy) เพื่อให้สามารถจัดการกับหนี้สินระยะยาว
นอกจากนี้ การส่งเสริมสถาบันการเงินขนาดจิ๋ว (ไมโครไฟแนนซ์) ที่มุ่งให้คนยากจนมีโอกาสเข้าถึงแหล่งเงินทุนเพื่อนำเงินกู้ไปปรับปรุงชีวิตความเป็นอยู่ ก็น่าจะเป็นอีกทางเลือกหนึ่งที่จะช่วยให้เขาสามารถสะสมทุนเพื่อช่วยเหลือตัวเองโดยไม่ต้องพึ่งพิงภาครัฐได้ในอนาคต
อย่างตัวอย่างของธนาคารกรามีน (Grameen Bank) ในบังกลาเทศ ที่เขาเชื่อว่า “สินเชื่อเป็นสิทธิมนุษยชนขั้นพื้นฐานอย่างหนึ่งที่ทุกคนควรมี” และยังเชื่ออีกว่า “มนุษย์ทุกคน รวมทั้งคนที่จนที่สุด ล้วนมีศักยภาพ” นั่นเป็นเหตุผลที่ทำให้แม้แต่ขอทานก็ยังสามารถเป็นลูกค้าของธนาคารกรามีนได้ (ที่มา : เว็บความเหลื่อมล้ำฉบับพกพา) แล้วเราล่ะ จะทำอะไรๆ ให้การเปลี่ยนแปลงต่างๆ ดีขึ้น ถึงเวลาแล้วหรือยังที่เราจะหาทางเลือกเพื่อทางรอดให้กับตัวเองซึ่งเป็นคนส่วนใหญ่กันเสียที