พลังงาน หนึ่งในความต้องการพื้นฐานของมนุษย์ที่มีความต้องการใช้เกิดขึ้นตลอดเวลา โดยเฉพาะในภูมิภาค ASEAN ที่มีขนาดประชากรจำนวนมากและมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นเป็นกว่า 700 ล้านคนในปี 2025 ภายใต้คาดการณ์การเติบโตของเศรษฐกิจปีละกว่า 5% ส่งผลให้คาดว่าความต้องการใช้พลังงานจะเติบโตสูงปีละกว่า 4% หรือมีความต้องการใช้ไฟฟ้าเพิ่มขึ้นจากปัจจุบันกว่าเท่าตัวภายในปี 2025
ปัญหาก็คือ ASEAN ยังมีน้ำมันดิบไม่พอใช้ หลายประเทศต้องนำเข้าน้ำมันดิบมาใช้เพิ่มขึ้นต่อเนื่อง และทำให้เกิดมลพิษทางสิ่งแวดล้อมเพิ่มขึ้นตามมา จึงเป็นที่มาของการรณรงค์ให้เกิดการใช้พลังงานทางเลือก หรือพลังงานหมุนเวียนมากขึ้น ทั้งนี้ The Association of Southeast Asian Nations คาดการณ์ว่าสัดส่วนการใช้ Renewable energy ใน ASEAN จะเพิ่มขึ้นจาก 9% ในปี 2014 เป็น 17% ของความต้องใช้พลังงานทั้งหมดในปี 2025 โดยความต้องการใช้ Renewable energy หลักๆมาจากกลุ่มธุรกิจโรงไฟฟ้า และกลุ่ม End-user ซึ่งได้แก่ ภาคอุตสาหกรรม ครัวเรือน และกลุ่มขนส่ง
ความต้องการใช้พลังงานทางเลือกยังคงเพิ่มขึ้นในทุกประเภทของแหล่งพลังงาน ไม่ว่าจะเป็นพลังงานจากน้ำมันดิบ ถ่านหิน ก๊าซธรรมชาติ พลังงานชีวมวล พลังงานน้ำ แสงอาทิตย์ หรือแม้กระทั่งนิวเคลียร์ ซึ่งแต่ละประเทศใน ASEAN ก็มีจุดเด่นในการผลิตไฟฟ้าที่แตกต่างกัน โดยขึ้นอยู่กับลักษณะทางภูมิศาสตร์ แหล่งทรัพยากร และความเชี่ยวชาญของผู้ประกอบการในประเทศนั้นๆ เช่น ลาวเน้นผลิตไฟฟ้าจากเขื่อน หรืออินโดนีเซียที่มีความโดดเด่นของการผลิตไฟฟ้าจากถ่านหิน หรือพลังงานความร้อนใต้พิภพ
ประเทศไทยก็มีความโดดเด่นในการผลิตไฟฟ้าในการใช้พลังงานไอน้ำและแก๊ส การสร้าง Solar farm หรือ Wind farm รวมทั้งการผลิตไฟฟ้าจาก Biomass ซึ่งหลายๆประเทศอาจมีข้อจำกัดจากการผลิตไฟฟ้าจาก Biomass เนื่องจากปัญหาหลักคือการขาดแคลนวัตถุดิบ เช่น ยางพารา กากอ้อย เศษไม้ ขณะที่ประเทศไทยมีความสมบูรณ์มากกว่าในแง่ของแหล่งวัตุดิบเหล่านี้ ซึ่งเป็นการนำกากวัตถุดิบที่เหลือใช้มาสร้างเป็นแหล่งพลังงานนำกลับมาใช้ใหม่ ทำให้เพิ่มผลตอบแทนให้กับผลผลิต และลดการกำจัดกากของเสียอีกทางหนึ่ง
ที่มา : International Renewable Energy Agency
จันทร์เพ็ญ กิตติเวทย์วิทยา
Fund Management