วรวรรณ ธาราภูมิ
ประธานกรรมการบริหาร
กองทุนบัวหลวง
Theme การลงทุน คือ การกำหนดทิศทางที่เราจะโฟกัสในการลงทุนในช่วงเวลาหนึ่งๆ เช่น 1 ปี ซึ่งจะสอดคล้องกับเมกะเทรนด์ระยะยาวที่เรามองเห็น
กองทุนบัวหลวงศึกษาเรื่องเมกะเทรนด์ แล้ววิเคราะห์หาแนวทางลงทุนโดยกำหนดเป็น Theme ในแต่ละปี เพื่อเราเองจะได้มีโฟกัสในการลงทุน และผู้ลงทุนจะได้รับรู้ทิศทางที่เรากำลังมุ่งพาไป
เหมือนก่อนจะขึ้นรถ เราต้องรู้ก่อนว่า คนขับรถคันนี้ เขาจะพาเราไปที่ไหน น้อยคนที่จะขึ้นรถเพราะมียี่ห้อที่ตนเองพอใจ โดยไม่สนใจว่า คนขับจะพาเราไปหนแห่งใด หรือขับรถฝีมือดีหรือไม่
หลักสำคัญของกระบวนการลงทุนของเรา คือ การมองไปข้างหน้า เพื่อแสวงหาโอกาสของผลตอบแทนที่ดีในระยะยาว เราดูว่าปัจจุบันและอนาคตข้างหน้าจะมีเมกะเทรนด์อะไรเกิดขึ้น แล้วกำหนด Theme เพื่อโฟกัสการสรรหากิจการที่ได้ประโยชน์หรือรู้จักใช้ประโยชน์จากการเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นเหล่านั้น โดยหวังการเติบโตและผลกำไรจากการลงทุนอย่างเป็นกอบเป็นกำในอนาคต
กองทุนบัวหลวงให้ความสำคัญกับเมกะเทรนด์มาก เพราะเมกะเทรนด์ คือ สิ่งใหม่ๆ ที่กำลังจะเกิดขึ้นหรือเกิดขึ้นแล้วแต่กำลังพัฒนาต่อเนื่องและจะคงอยู่ไปอีกยาวนาน โดยสามารถกำหนดทิศทางหรือชี้นำอนาคตของผู้คนบนโลกมนุษย์ ส่งผลกระทบต่อชีวิตความเป็นอยู่ การดำเนินธุรกิจ สังคม เศรษฐกิจ วัฒนธรรม และการใช้ชีวิตของผู้คน
ส่วน Theme คือ การกำหนดโฟกัสการลงทุนในช่วงสั้นๆ เช่น 1 ปี ที่จะสอดคล้องกับเส้นทางระยะยาวของเมกะเทรนด์ โดย Theme จะมุ่งไปที่กระแสต่างๆ ที่มีผลต่อธุรกิจและการลงทุน Theme ในแต่ละปีจะช่วยสร้างการจดจำและการอธิบายที่ทำให้เห็นภาพง่ายขึ้นถึงแนวทางและแนวคิดในการลงทุนของเรา
รุ่งเรืองด้วยโครงสร้างพื้นฐาน บนสายพานของโลจิสติกส์ (Logistics and Infrastructure Solutions)
Theme การลงทุนปี 2562 นี้เป็นการต่อยอด จาก Theme ปีที่แล้วที่ว่า “ตลอดสายซัพพลายเชน ตามเทรนด์อีคอมเมิร์ซและยานยนต์ไฟฟ้า” เพราะกองทุนบัวหลวงมองว่า อุตสาหกรรมที่จะได้รับประโยชน์เด่นชัดนับจากนี้ไปคือ อุตสาหกรรมโลจิสติกส์และการคมนาคมขนส่ง เพราะ …..
- ประเทศไทยกำลังก้าวสู่วัฏจักรการลงทุนครั้งใหญ่ ทั้งแผนการลงทุนระบบราง ระบบถนน และการพัฒนาระเบียงเศรษฐกิจภาคตะวันออก (อีอีซี) เพื่อเป็นโครงสร้างขับเคลื่อนเศรษฐกิจในระยะยาว
จะเห็นได้ว่าประเทศต่างๆ ในภูมิภาคอาเซียน เขาก็เร่งลงทุนโครงสร้างพื้นฐานเช่นกัน ไทยเองจึงจำเป็นต้องเร่งยกระดับขีดความสามารถในการแข่งขัน เพื่อรักษาความได้เปรียบจากทำเลที่ตั้งที่ดีในใจกลางภูมิภาคอาเซียน อีกทั้งเพื่อดึงดูดเม็ดเงินลงทุนจากต่างชาติ
นอกจากนี้ บทบาทที่เพิ่มขึ้นของประเทศจีนที่มีต่อภูมิภาคอาเซียนก็เป็นแรงผลักดันที่ไทยจะต้องพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานที่มีประสิทธิภาพมากขึ้น เพื่อรองรับทั้งในด้านการค้า การลงทุน และการท่องเที่ยวของประเทศ
ระบบคมนาคมขนส่งที่ดีขึ้นนั้น ไม่เพียงจะก่อให้เกิดโอกาสอันดีกับธุรกิจที่เกี่ยวเนื่องกับโลจิสติกส์และการขนส่ง แต่ยังจะช่วยเพิ่มศักยภาพของอุตสาหกรรมการผลิตในรูปแบบเดิม และช่วยดึงซัพพลายเชนใหม่จากต่างชาติให้เข้ามาตั้งถิ่นฐานเพิ่มขึ้นอีกด้วย
- การเติบโตของธุรกิจ E-Commerce ในไทยสูงมาก เรามียอดสั่งซื้อสินค้าออนไลน์ที่โดดเด่นเป็นอันดับต้นๆ ในอาเซียน เพราะคนทุกวัยนิยมซื้อผ่าน E-Commerce เพิ่มขึ้นอย่างมีนัยสำคัญ ทำให้มูลค่าตลาดและฐานจำนวนผู้ซื้อขยายตัวเพิ่มขึ้นมาก
ฐานลูกค้ากลุ่มนี้แม้จะยังกระจุกตัวอยู่ในเขตเมืองเป็นหลัก แต่การที่ผู้ประกอบการเริ่มหันมาทำการตลาด E-Commerce กันมากขึ้น จึงจะส่งผลให้ธุรกิจ E-Commerce ในไทยกลายเป็นตลาดคู่ขนานไปกับการขายแบบหน้าร้านในอนาคตอันใกล้
เราจึงเห็นการแข่งขันที่เพิ่มขึ้นของผู้ประกอบการขนส่งสินค้าไปถึงมือผู้บริโภคที่สั่งซื้อออนไลน์ แต่ก็ยังไม่สามารถรองรับความต้องการได้เพียงพอ ดังนั้น การพัฒนาระบบขนส่งสินค้าให้รวดเร็ว ให้ครอบคลุมยิ่งขึ้น จึงเป็นปัจจัยที่จะช่วยลดต้นทุนในการจัดส่ง ทั้งยังจะช่วยให้ผู้ประกอบการขนาดกลางและขนาดย่อม (SME) รวมถึงในชนบท สามารถเข้าถึงตลาดออนไลน์ได้มากขึ้น อันจะช่วยยกระดับเศรษฐกิจฐานรากของประเทศได้อีกทางหนึ่ง
- การที่เมืองขยายตัวเพิ่มขึ้น ทำให้จำเป็นต้องมีระบบการคมนาคมขนส่งที่มีประสิทธิภาพรองรับ ยกตัวอย่าง กทม.ที่มีความหนาแน่นของประชากรสูงถึง 10,000 คนต่อตารางกิโลเมตร มีประชากรเพิ่มขึ้นทุกปี ทั้งผู้อยู่อาศัย ผู้ประกอบการ และนักท่องเที่ยว ทำให้เป็นเมืองที่รถติดอันดับต้นๆ ของโลก
ดังนั้น การขยายโครงข่ายการเดินทางมวลชน ไม่ว่าจะเป็น รถไฟฟ้าบนดิน-ใต้ดิน และทางด่วน ที่กำลังทยอยก่อสร้าง จะช่วยเพิ่มประสิทธิภาพในการคมนาคมขนส่งในเมือง ระหว่างเมือง และกระจายความเจริญออกไปนอกเมืองได้มากขึ้น ธุรกิจให้บริการขนส่งสาธารณะก็จะมีขอบเขตในการให้บริการและฐานผู้ใช้ที่มากขึ้น ธุรกิจที่เกี่ยวข้องต่างๆ อาทิ โลจิสติกส์ โฆษณา หรืออสังหาริมทรัพย์ ก็จะได้รับผลประโยชน์ตามไปด้วย
เรามองว่า ต้นทุนด้านโลจิสติกส์และการขนส่งเป็นตัวแปรสำคัญต่อการเจริญเติบโตของประเทศ ในช่วงที่ผ่านมา ประเทศไทยพยายามลดต้นทุนด้านโลจิสติกส์ต่อจีดีพีลงมาโดยตลอด แต่การพัฒนาส่วนใหญ่ก็ยังเป็นไปในรูปแบบถนน ในขณะที่ประเทศอื่นๆ ที่พัฒนาแล้วเขาใช้ระบบรางในการขนส่งเป็นหลัก ทำให้มีต้นทุนขนส่งต่อจีดีพีที่ต่ำกว่าเรามาก
ดังนั้น โครงสร้างพื้นฐานด้านโลจิสติกส์และการขนส่งจึงเป็นสิ่งจำเป็นและจะเป็นตัวปลดล็อคข้อจำกัดต่างๆ ในการประกอบกิจการ การพัฒนาเมืองและเศรษฐกิจ รวมถึงลดความเหลื่อมล้ำระหว่างเมืองและชนบท
กองทุนบัวหลวงจึงมองว่า ธุรกิจที่สามารถปรับตัวและนำเสนอบริการที่ตอบโจทย์การเปลี่ยนแปลงนี้ จะสามารถเติบโตและสร้างผลตอบแทนที่ดีในการลงทุนได้
นี่คือที่มาของ Theme ที่ว่า “รุ่งเรืองด้วยโครงสร้างพื้นฐาน บนสายพานของโลจิสติกส์”
หากมองแค่ผลระยะสั้น ใครจะปลูกไม้สักทองที่ใช้เวลาเป็นสิบปี กว่าจะได้ผลตอบแทนที่งดงาม คุ้มค่ากับการอดทนรอคอย