โดย…พริ้มพัชร จิรบวรพงศา AFPT™
ทีมงาน BF Knowledge Center
กองทุนบัวหลวง
เทศกาลความรักผ่านไปก็แล้วไม่รู้กี่ปีต่อกี่ปี หันกลับมามองตัวเอง อ้าววว!! โสดค้างมาจากปีที่แล้ว (เฮ้อออ) ครั้นจะนั่งเหงาเศร้าซึม รอความรักก็ดูจะเสียเวลาไปเปล่าประโยชน์ ลองมาเริ่มต้นมอบความรักให้กับตัวเอง ด้วยการวางแผนการเงินสำหรับคนโสดกันดีกว่า เพราะถึงจะเหงาแต่เราก็ยังมีเงินใช้
“อิสรภาพ” คือ สาเหตุที่คนโสดต้องวางแผนการเงิน เพราะคนโสดส่วนใหญ่เคยชินกับการใช้ชีวิตในแบบที่ตัวเองต้องการโดยไม่ต้องกังวลกับการดูแลคนอื่นมากนัก อีกทั้งเป้าหมายของชีวิต รวมถึงเป้าหมายการเงิน สามารถปรับเปลี่ยนได้ตลอดเวลาตามที่ต้องการ เพราะไม่ได้ส่งผลกระทบกับคนอื่น ในขณะที่คนมีคู่มักให้ความสนใจเรื่องการวางแผนการเงินมากกว่า เพราะวางแผนการเงินที่ผิดพลาดอาจส่งผลกระทบกับหลายชีวิตในครอบครัว เช่น วางแผนซื้อบ้าน วางแผนการศึกษาบุตร เป็นต้น
“ความเหงา” คือ ตัวกระตุ้นให้เกิดการใช้เงิน และในหลายครั้งก็สร้างปัญหาทางการเงินให้กับคนโสดได้ โดยกิจกรรมคลายเหงาที่ทำให้เสียเงินมากที่สุด คงหนีไม่พ้นการช้อปปิ้งและท่องเที่ยว นอกจากนี้ ยังมีสิทธิพิเศษต่างๆ จากบัตรเครดิต ซึ่งในหลายครั้งทำให้เกิดการจับจ่ายใช้สอยโดยไม่จำเป็น หากปล่อยให้เป็นแบบนี้ต่อไป เงินออมของเราคงร่อยหรอไปเรื่อยๆ ท้ายที่สุดคงต้องกลายเป็นคนโสดที่อยู่ลำพัง แถมยังลำเค็ญเพราะมีเงินไม่พอใช้ในวัยเกษียณอีกด้วย
การวางแผนการเงินสำหรับคนโสดที่ต้องจัดการ เริ่มต้นที่ เงินสำรองฉุกเฉิน 3 – 6 เท่าของค่าใช้จ่ายต่อเดือน ลักษณะของเงินสำรองฉุกเฉินคือ “มีสภาพคล่องพร้อมใช้” ซึ่งอาจออมไว้ในออมทรัพย์ หรือหาโอกาสรับผลตอบแทนที่สูงกว่าด้วยการฝากประจำ (ถอนออกก่อน ได้รับเงินต้นแต่ไม่ได้รับดอกเบี้ยตามที่ตกลงไว้) หรือกองทุนรวมตราสารหนี้ระยะสั้น (ต้องวางแผนขายคืนล่วงหน้า)
หากเราเป็นคนโสดที่จิตใจอ่อนไหวแนะนำให้ใช้ระบบอัตโนมัติต่างๆ เข้ามาช่วย เช่น การหักซื้อแบบอัตโนมัติ DCA : Dollar Cost Averaging ซึ่งปัจจุบันสามารถกำหนดวันที่หักซื้อได้เอง โดยแนะนำให้หักซื้อในวันที่เงินเดือนออกอย่างน้อย 10% หากเงินสำรองฉุกเฉินครบแล้วให้นำไปลงทุนตามเป้าหมาย ทั้งนี้ สิ่งที่สำคัญที่สุดในการวางแผนการเงินสำหรับคนโสด คือ การกำหนดเป้าหมายในชีวิตให้ชัดเจน
การกำหนดเป้าหมายที่ดีมีส่วนสำคัญที่ทำให้การวางแผนการเงินสำเร็จ โดยเป้าหมายการเงินที่ดีต้อง S-M-A-R-T คือ Specific ชัดเจนให้มากที่สุด Measurable วัดผลได้เป็นจำนวนเงิน Achievable รู้จักวิธีทำให้สำเร็จ Reasonable สมเหตุสมผล Time Bound มีกำหนดระยะเวลา
สำหรับเป้าหมายที่คนโสดควรต้องวางแผนคือ วางแผนที่อยู่อาศัย โดยบ้าน คอนโดมีเนียม อาจต้องปรับบานประตูให้กว้างพอสำหรับรถเข็น ทางลาด ราวจับในห้องน้ำฯ หรือเลือกอยู่สถานดูแลผู้สูงอายุ ทั้งนี้ รูปแบบการอยู่อาศัยมีค่าใช้จ่ายที่แตกต่างกัน ว
างแผนค่าใช้จ่ายในวัยเกษียณ ปัจจุบันหลายเว็บไซต์มีเครื่องมือช่วยคำนวณ โดยข้อมูลที่ต้องทราบ ได้แก่ ค่าใช้จ่ายต่อเดือนที่ต้องการ คาดการณ์อายุขัยของตัวเอง (คนในครอบครัว เพศเดียวกันกับเราที่มีอายุยืนที่สุด บวกเพิ่มเข้าไปอีก 10 ปีให้กับเทคโนโลยีการแพทย์) เพื่อให้ทราบจำนวนเงินที่เราต้องการ จากนั้นจึงวางแผนเก็บออมหรือลงทุนในแต่ละเดือนเพื่อให้บรรลุเป้าหมาย โดยเป้าหมายเกษียณนั้นสำคัญมากและใช้เงินมาก แต่ก็สำเร็จได้ไม่ยาก “หากเริ่มต้นตั้งแต่เนิ่นๆ และเรียนรู้เรื่องการลงทุน”
สุดท้ายคือ วางแผนค่าใช้จ่ายด้านสุขภาพ ค่ารักษาพยาบาลมีแนวโน้มปรับตัวสูงขึ้น 20% ทุกปี ดังนั้น เพื่อควบคุมค่าใช้จ่ายด้านสุขภาพควรศึกษาเกี่ยวกับประกันสุขภาพ ประกันโรคร้ายแรง รวมถึงเอาใจใส่สุขภาพด้วยการออกกำลังกายและดูแลอาหารการกินเพื่อป้องกันการเจ็บป่วย
สำหรับคนโสดที่ยังไม่มีความรัก (รวมถึงคนที่มีคู่) ขอให้เริ่มต้นด้วยการมอบสิ่งดีๆ ให้กับตัวเอง ด้วยการดูแลร่างกาย จิตใจ รวมถึงวางแผนการเงินเพื่อสร้างความมั่นคง นอกจากนี้ อย่าลืมที่จะแบ่งปันให้กับครอบครัว สังคม และคนด้อยโอกาส เพราะความรักที่แท้จริง คือ การแบ่งปัน