กองทุนบัวหลวง โดยทีมงาน BF Knowledge Center เดินทางลงพื้นที่ จ.พิษณุโลก จัดกิจกรรม “เปิดโลกลงทุน กับกองทุนบัวหลวง” ให้กับน้องๆ นักศึกษาที่มหาวิทยาลัยนเรศวร รวมถึงประชาชนในพื้นที่ที่สนใจ เพื่อแนะนำเคล็ดลับทางการเงินดีๆ ให้ โดยเฉพาะเคล็ดลับที่จะช่วยให้นักศึกษาที่ใกล้เรียนจบแล้ว สามารถนำไปใช้เพื่อสร้างความมั่นคงทางการเงินได้ เมื่อเข้าสู่วัยทำงานแล้ว
BF Knowledge Center เดินสายให้ความรู้นักศึกษาที่จังหวัดพิษณุโลก
คุณอรพรรณ บัวประชุม, CFP® BF Knowledge Center กองทุนบัวหลวง กล่าวว่า เราต้องการปูพื้นฐานความรู้ให้น้องๆ ตั้งแต่ยังเรียนอยู่ เมื่อเรียนจบออกไปจะได้นำวิชาความรู้นี้ไปใช้ได้ ไม่ต้องไปเป็นเหยื่อทางการเงิน เมื่อต้องไปเจอการลงทุนรูปแบบอะไรแปลกๆ ไม่เคยรู้มาก่อน
ในแต่ละครั้งที่ BF Knowledge Center เดินสายจัดอบรม ก็จะให้ความรู้เกี่ยวกับกองทุนรวม ซึ่งยังมีนักศึกษาจำนวนมากสงสัยอยู่ว่า กองทุนรวมคืออะไร ตราสารหนี้ หรือตราสารทุนคืออะไร น้องๆ อาจมีความรู้เรื่องเหล่านี้อยู่บ้างแล้ว แต่ยังไม่เพียงพอสำหรับการออกไปลงทุนด้วยตัวเอง การจัดเวิร์คชอปก็จะช่วยให้ความรู้แน่นขึ้น พร้อมที่จะออกไปลงทุนด้วยตัวเองได้ง่ายขึ้น โดยในการจัดอบรมครั้งนี้ ก็มีนักศึกษาสนใจขอความรู้เพิ่มเติมเกี่ยวกับการทยอยลงทุน (Dollar cost average : DCA) รวมถึงการกระจายสัดส่วนลงทุน
ทั้งนี้ ในการทำกิจกรรมแต่ละครั้งจะมีการสอนให้รู้จักสินทรัพย์แต่ละประเภท รวมถึงให้ทดลองลงมือปฏิบัติว่าหากมีเงินตามจำนวนที่กำหนดจะเลือกลงทุนอย่างไร โดยเตรียมสินทรัพย์ทางเลือกไว้ให้ ซึ่งระหว่างที่เวิร์คชอปใน จ.พิษณุโลก พบว่า นักศึกษาบางคนเข้าใจว่า การกระจายสัดส่วนลงทุน คือ แบ่งเงินลงทุนในสินทรัพย์ทุกอย่างในสัดส่วนที่เท่ากัน สังเกตได้จากการเวิร์คชอปนำกองทุนรวมตัวอย่างไปให้เลือกลงทุน แล้วพบว่า น้องๆ เลือกลงทุนผ่านทุกกองทุนรวมด้วยสัดส่วนเท่าๆ กัน
ในความเป็นจริงแล้วอาจไม่ใช่อย่างที่คิด เช่น กองทุนตลาดเงิน กองทุนตราสารหนี้ อาจเหมาะเป็นเพียงเงินสำรองเผื่อฉุกเฉิน หรือเสริมสภาพคล่องเท่านั้น ขณะที่ กองทุนอื่นๆ ที่มีความเสี่ยงสูงขึ้น ซึ่งน้องๆ คาดหวังได้ผลตอบแทนสูงจากกองทุนเหล่านี้ เมื่อทำเวิร์คชอปกก็จะเริ่มฉุกคิดได้ว่า หากจะลงทุนในกองทุนเหล่านี้ต้องมีเป้าหมายอะไรที่ชัดเจนขึ้น ด้วยระยะเวลาการลงทุนที่ยาวเพียงพอจะตอบโจทย์เป้าหมายที่วางไว้
เทคนิควางแผนการเงินสำหรับนักศึกษาใกล้เรียนจบ
คุณพริ้มพัชร จิรบวรพงศา, AFPTTM BF Knowledge Center กองทุนบัวหลวง เสริมคำแนะนำให้น้องๆ ที่กำลังจะเรียนจบว่า ขอแนะนำข้อคิด “4 มี” ให้กับน้องๆ คือ มีสติ มีเป้าหมายที่ชัดเจน มีการเรียนรู้เรื่องลงทุน และมีความตั้งใจที่จะลงมือทำจริง
เทคนิคของการทำตาม 4 มีนั้นไม่ยาก แต่ต้องเริ่มต้นและวางแผนก่อน
1.มีสติ -ต้องรอบคอบในการใช้จ่ายและวางแผนเก็บออม
2.มีเป้าหมาย – การมีเป้าหมายอย่างชัดเจนจะทำให้ทุกคนเข้าใกล้ความฝันได้ง่ายยิ่งขึ้น
3.มีการเรียนรู้ – การเรียนรู้เรื่องการลงทุนเป็นเครื่องมือหนึ่งที่ทำให้ผู้ลงทุนมือใหม่ เช่น น้องๆ ที่เรียนจบออกไปมีเงินก้อนแรก รู้จักเครื่องมือที่ดี ใช้เครื่องมือได้ถูกต้องช่วยทุ่นแรงและทำให้ถึงเป้าหมายได้ง่ายขึ้น
4.มีความตั้งใจ – เพราะถ้าตั้งใจจริง มัวแต่คิด ศึกษาหาความรู้อย่างดี แต่ไม่ลงมือทำ โอกาสที่ประสบความสำเร็จก็น้อยลง
DCA เครื่องมือดีๆ ที่ช่วยฝึกวินัยลงทุน
ทั้งนี้ คุณศรศักดิ์ สร้อยแสงจันทร์ BF Knowledge Center กองทุนบัวหลวง มาให้เทคนิคการทยอยลงทุน (DCA) ซึ่งเป็นวิธีลงทุนง่ายๆ สำหรับน้องๆ นักศึกษาด้วย โดยระบุว่า DCA เป็นวิธีที่ทำให้มีการลงทุนอย่างสม่ำเสมอ และมีวินัย บังคับให้ตัวเราออมเงิน หรือสะสมเงินไปเรื่อยๆ โดยไม่ต้องรอให้เงินเหลือจึงจะลงทุน
ข้อดีของ DCA คือทำให้การลงทุนได้ต้นทุนที่ถัวเฉลี่ย ไม่ไปซื้อในช่วงที่มูลค่าหุ้นหรือหน่วยลงทุนสูงเกินไป แม้อาจจะไม่ได้ซื้อช่วงราคาต่ำ แต่โดยรวมก็จะได้ต้นทุนราคากลางๆ
สรุปรวมแล้วก็เป็นการฝึกลงทุนอย่างมีวินัย เพราะหากตั้งใจลงทุนแบบ DCA ก็คือวางแผนลงทุนอย่างสม่ำเสมอ โดยคนที่ทำงานมีรายได้ประจำอาจจะลงทุนทุกเดือนได้ แต่สำหรับนักศึกษาอาจไม่มีรายได้ประจำ อาจไม่มีเงินเพียงพอลงทุนทุกเดือน แต่สามารถทำให้สม่ำเสมอด้วยการลงทุนแบบเดือนเว้นเดือนได้ เช่น กองทุนรวมของกองทุนบัวหลวงที่ลงทุนขั้นต่ำ 500 บาทได้ ก็สามารถลงทุนแบบเดือนเว้นเดือน หรือคำนวณแล้วเท่ากับนักศึกษาเก็บเงินสำหรับลงทุนเดือนละ 250 บาท เมื่อครบ 2 เดือนได้ 500 บาทก็ลงทุน
แม้วิธีนี้อาจไม่ได้เงินทองจากการลงทุนมากมาย แต่เป็นการฝึกวินัย และทำให้ได้เห็นภาพของการลงทุนระยะยาว ว่าให้ผลตอบแทนที่ดีอย่างไร
สำหรับมหาวิทยาลัยแห่งไหนที่สนใจให้ทีมงาน BF Knowledge Center ไปมอบความรู้ดีๆ แบบนี้เตรียมพร้อมให้นักศึกษาก่อนที่จะเรียนจบออกไปเผชิญโลกกว้างก็สามารถติดต่อเข้ามาที่กองทุนบัวหลวงได้