กองทุนรวมบัวหลวงหุ้นธรรมาภิบาลไทย (B-THAICG)

BBLAM’s 2019 INVESTMENT THEMES

รุ่งเรืองด้วยโครงสร้างพื้นฐาน บนสายพานของโลจิสติกส์

มุมมองการลงทุน

ในเดือน มี.ค. ปัจจัยต่างประเทศถูกขับเคลื่อนโดยการส่งสัญญาณจากธนาคารกลางสหรัฐ (Fed) ว่าจะไม่มีการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยในปีนี้ จากที่เดิมคาดการณ์ไว้ว่าจะมีการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ย 2 ครั้ง ซึ่งสร้างความประหลาดใจให้กับตลาดการเงิน รวมทั้งยังชะลอการปรับลดงบดุลในเดือน พ.ค. จากระดับ 3 หมื่นล้านดอลลาร์สหรัฐต่อเดือน เหลือ 1.5 หมื่นล้านดอลลาร์สหรัฐต่อเดือน ก่อนจะยุติการปรับลดงบดุลในเดือน ก.ย. ส่งผลให้แนวโน้มการดำเนินนโยบายทางการเงินของธนาคารกลางหลายประเทศทั่วโลกอยู่ในภาวะผ่อนคลายมากขึ้น และมีผลในเชิงบวกต่อตลาดทุนหลายแห่ง

ขณะที่ทิศทางราคาน้ำมันดิบและราคาสินค้าโภคภัณฑ์ ทยอยปรับตัวสูงขึ้นตามทิศทางตลาดหุ้นที่คลายความกังวลลง อย่างไรก็ตาม ยังมีปัจจัยความกังวลเกี่ยวกับการแยกตัวออกจากกลุ่มสหภาพยุโรป (EU) ของสหราชอาณาจักร (Brexit) ที่มีการขอผ่อนผันเลื่อนระยะเวลาออกไป จากเดิมที่กำหนดไว้วันที่ 29 มี.ค. 2019 เป็นวันที่ 12 เม.ย. 2019 เพื่อเลี่ยงผลกระทบจากการที่ยังไม่มีข้อตกลงใดๆ ซึ่งจะส่งผลลบต่อเศรษฐกิจทั้งของสหราชอาณาจักร และ EU ซึ่งยังคงต้องติดตามสถานการณ์ต่อไปอย่างใกล้ชิด

ด้านปัจจัยภายในประเทศ ยังคงถูกกดดันจากความไม่แน่นอนทางการเมือง หลังยังไม่มีความชัดเจนต่อทิศทางการจัดตั้งรัฐบาลหลังการเลือกตั้ง ว่ากลุ่มการเมืองใดจะสามารถจัดตั้งรัฐบาลได้ ซึ่งจะส่งผลให้การขับเคลื่อนกลไกเศรษฐกิจต่างๆ จากทางภาครัฐมีการชะงักงันไปบ้าง อย่างไรก็ตาม อุปสงค์ในประเทศยังคงเป็นปัจจัยหลักในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจในระยะสั้น แม้แนวโน้มการขยายตัวของการส่งออกสินค้าและบริการจะลดลงตามอุปสงค์ต่างประเทศที่ชะลอตัวลงตามเศรษฐกิจของประเทศคู่ค้า  แต่ในอนาคตการส่งออกสินค้าของไทยอาจได้ปัจจัยสนับสนุนจากการย้ายฐานการผลิตของผู้ประกอบการบางรายมายังไทย และการย้ายคำสั่งซื้อสินค้าจากจีนมายังไทย

ตลาดหุ้นไทยในเดือน มี.ค. มีทิศทางอ่อนตัวลง และแกว่งตัวในกรอบค่อนข้างแคบ โดยทำระดับสูงสุดที่ 1,646.29 จุด และต่ำสุดที่ 1,617.57 จุด โดยนักลงทุนต่างชาติขายหุ้นไทยสุทธิที่ 16,397.38 ล้านบาท เนื่องจากกังวลต่อเสถียรภาพทางการเมืองภายในประเทศของไทยในช่วงใกล้การเลือกตั้ง

แนวโน้มการลงทุนในปีนี้ยังคงมีความท้าทาย ท่ามกลางกระแสความไม่แน่นอนทั้งจากต่างประเทศและในประเทศ ซึ่งจะทำให้ตลาดหุ้นไทยเคลื่อนไหวในกรอบที่จำกัด จนกว่าสถานการณ์การเมืองภายในประเทศจะมีความชัดเจนขึ้น โดยผู้จัดการกองทุนจะคอยติดตามความเคลื่อนไหวของสถานการณ์อย่างใกล้ชิด และจะยังคงยึดมั่นต่อความพิถีพิถันในการวิเคราะห์ปัจจัยพื้นฐานของหุ้นรายตัว เพื่อเฟ้นหาหุ้นที่มีความมั่นคงแข็งแรงพอที่จะผ่านปัจจัยความไม่แน่นอนต่าง ๆ ในระยะสั้น เพื่อแสดงศักยภาพของการเติบโตต่อไปในระยะยาว ภายใต้ราคาที่เหมาะสม

ปัจจัยทั้งบวก/ลบต่อกองทุน

(+)  กนง. ปรับประมาณการเศรษฐกิจไทยปี 2019 ลงเป็น 3.8% จากครั้งก่อนที่ประมาณการไว้ที่ 4.0% (ซึ่งสอดคล้องกับหลายประเทศทั่วโลกที่ปรับลดลง) แต่ยังมองว่าเศรษฐกิจไทยในภาพรวมมีแนวโน้มขยายตัวต่อเนื่อง ภาวะการเงินที่ผ่านมาอยู่ในระดับผ่อนคลาย และเอื้อต่อการขยายตัวของเศรษฐกิจ สภาพคล่องในระบบการเงินอยู่ในระดับสูง อัตราดอกเบี้ยที่แท้จริงอยู่ในระดับต่ำ ภาคเอกชนยังสามารถระดมทุนได้ต่อเนื่อง โดยสินเชื่อขยายตัวต่อเนื่องทั้งสินเชื่อธุรกิจและสินเชื่ออุปโภคบริโภค

(+)  ธนาคารกลางสหรัฐฯ (เฟด) ยังคงอัตราดอกเบี้ยนโยบายการเงินเดิมที่ 2.25% – 2.5% และมีการส่งสัญญาณว่าจะไม่มีการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยในปีนี้ ทำให้คาดหวังว่า Fund flow ที่เคยไหลออกจำนวนมากจะเริ่มชะลอตัวตามไปด้วย และกลับมาลงทุนประเทศในเอเชียอีกครั้ง

(+) การเปลี่ยนกฎเกณฑ์ใหม่ของ MSCI EM ที่จะเปลี่ยนมาใช้เกณฑ์ NVDR จะส่งผลให้สัดส่วนการลงทุนในหุ้นไทยของต่างชาติเพิ่มสูงขึ้น โดยเป็นการเปิดโอกาสให้นักลงทุนต่างชาติเข้ามาลงทุนในหุ้นไทย ซึ่งเกณฑ์ดังกล่าวได้เพิ่มน้ำหนักการลงทุนหุ้นไทยจาก 2.3% สู่ 2.8% คิดเป็นเม็ดเงินที่จะเข้ามาในหุ้น MSCI Thailand กว่า 2.4 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ หรือ 7.6 หมื่นล้านบาท โดยคาดว่าหุ้นที่ถูกเพิ่มน้ำหนัก และอยู่ใน MSCI Thailand อาจมีแนวโน้มที่นักลงทุนสนใจมากขึ้น

(+/-)  ปัจจัยหลักภายในประเทศที่ต้องติดตามคือผลการเลือกตั้งอย่างป็นทางการ ซึ่งนักลงทุนไทยและต่างชาติจะพิจารณาถึงความมีเสถียรภาพของรัฐบาลชุดใหม่และความต่อเนื่องของนโยบายและแผนพัฒนาเศรษฐกิจทำให้นักลงทุนเลือกชะลอลงทุนออกไปก่อน

(-)  ในระยะสั้น การจัดตั้งรัฐบาลที่ล่าช้าอาจทำให้เกิดผลกระทบต่อการเบิกจ่ายงบประมาณภาครัฐ และหากนักลงทุนไม่เห็นความชัดเจนของโฉมหน้ารัฐบาลใหม่และความต่อเนื่องของนโยบายเศรษฐกิจก็อาจตัดสินใจลงทุนช้าออกไป ทำให้เป็นค่าเสียโอกาสของประเทศ

 (-)  ความกังวลเกี่ยวกับการชะลอตัวของเศรษฐกิจโลก ทั้งจากผลกระทบสงครามการค้าที่ยังมีอยู่ แม้จะผ่อนคลายลงแล้ว จากการที่สหรัฐกับจีนหันมาเจรจาประนีประนอมกันตั้งแต่ปลายปี 2018 และปัญหาการเมืองในกลุ่มประเทศสหภาพยุโรป ทำให้เดือน เม.ย. IMF มีการปรับลด GDP Growth โลกปี 2019 เป็น 3.3% จากเดิม 3.5% ในส่วนของ 2020 ยังคงอยู่ที่ 3.6% เท่าเดิม

กลยุทธ์การลงทุนของกองทุน

ข้อมูล ณ 28 ก.พ. 2019 กองทุนได้ผลตอบแทนย้อนหลัง 3 เดือน  1.23% สูงกว่าตัวชี้วัด (SET TRI) ที่ 1.12% โดยลงทุนในกลุ่มพลังงานและสาธารณูปโภคมากที่สุด ที่ 24.20% ส่วนหนึ่งมาจากราคาน้ำมันที่ปรับตัวดีขึ้น และได้รับอานิสงส์จากแผนพัฒนากำลังการผลิตไฟฟ้าของประเทศไทย หรือ PDP ของกระทรวงพลังงาน ที่เปิดโอกาสให้ผู้ประกอบการโรงไฟฟ้าเอกชนขนาดใหญ่ เข้ามามีส่วนร่วมในการแข่งขันมากขึ้น ในส่วนของกลุ่มอื่นๆ ผู้จัดการการทุนคัดเลือกหุ้นอย่างระมัดระวังจากปัจจัยพื้นฐาน และระดับราคาที่เหมาะสมของหุ้นแต่ละตัว

ตัวอย่างโครงการที่กองทุนให้การสนันสนุน*โครงการ CAC SME Certification

  • โครงการภายใต้แนวร่วมปฏิบัติของภาคเอกชนไทยในการต่อต้านการทุจริต (Collective Action Coalition Against Corruption หรือ CAC) ซึ่งมีความคืบหน้าด้วยดี จากเป้าหมายของโครงการที่จะมีบริษัทเข้าร่วมประกาศเจตนารมณ์ 50 บริษัทและผ่านการรับรอง 15 บริษัทภายในปี 2018 ปัจจุบันมีบริษัทเข้าร่วมแล้ว 32 บริษัท และผ่านการรับรองแล้ว 7 บริษัท
  • โครงการเกมเพื่อการเรียนรู้การต่อต้านคอร์รัปชัน (Corrupt the Game) สำหรับเยาวชนในโรงเรียน ซึ่งเป็นโครงการที่มุ่งเน้นการสื่อสารปัญหาและผลกระทบของคอร์รัปชัน โดยได้ดำเนินการพัฒนาเกมให้เข้ากับคอมพิวเตอร์ตั้งโต๊ะเพื่อให้สามารถใช้งานได้ในห้องเรียนของโรงเรียน ซึ่งรองรับทั้งบนระบบปฏิบัติการ Windows และ Mac OS โดยแบ่งเป็นตอนย่อย 10 ตอน ระยะเวลาแต่ละตอนไม่เกิน 20-25 นาที ในแต่ละตอนจะมีคำถามจำลองว่าหากเกิดเหตุการคอร์รัปชันในชีวิตจริงนักเรียนจะทำอย่างไร และให้นักเรียนร่วมกันตอบท้ายคาบเรียนเพื่อเป็นบทเรียนในการสร้างความเข้าใจอย่างแท้จริง

ทั้งนี้ คณะกรรมการพิจารณาโครงการเพื่อธรรมาภิบาลไทย (Donation Committee) มีการติดตามความคืบหน้าของการดำเนินงานแต่ละโครงการอย่างต่อเนื่อง และอยู่ระหว่างการพิจารณาคัดเลือกโครงการใหม่ๆเพื่อให้การสนุบสนุนเพิ่มเติม

*ที่มา : http://www.cgfundthailand.com