กองทุนเปิดบัวหลวงโกลบอลเฮลธ์แคร์ (BCARE) กองทุนเปิดบัวหลวงโกลบอลเฮลธ์แคร์เพื่อการเลี้ยงชีพ (BCARERMF)

กองทุนเปิดบัวหลวงโกลบอลเฮลธ์แคร์ (BCARE) กองทุนเปิดบัวหลวงโกลบอลเฮลธ์แคร์เพื่อการเลี้ยงชีพ (BCARERMF)

สรุปภาวะตลาดหุ้นกลุ่มโกลบอลเฮลธ์แคร์

หุ้นกลุ่มโกลบอลเฮลธ์แคร์ในปีนี้เมื่อพิจารณาจากดัชนี MSCI World Healthcare เพิ่มขึ้นน้อยกว่ากลุ่มอุตสาหกรรมอื่น อาทิ กลุ่มเทคโนโลยี กลุ่มพลังงาน กลุ่มสินค้าฟุ่มเฟือย กลุ่มสาธารณูปโภค เป็นต้น ส่วนหนึ่งเป็นเพราะเฮลธ์แคร์เคยสร้างผลตอบแทนเป็นอันดับหนึ่งในปีที่แล้ว (แท่งสีฟ้า) โดยให้ผลตอบแทนสูงกว่าดัชนี MSCI AC World Net ถึง 11% ในปีก่อนหน้า (2018)

กราฟแสดงผลตอบแทนดัชนี MSCI จำแนกตามรายกลุ่มอุตสาหกรรมในปีนี้ถึงสิ้นเดือน มี.ค. (แท่งสีน้ำเงิน) เทียบปีที่แล้ว (แท่งสีฟ้า) ตามลำดับ

กองทุนหลัก Wellington Global Healthcare Equity Fund

ปิดไตรมาสแรกผลตอบแทนเพิ่มขึ้น +14.3% สูงกว่าดัชนี MSCI World Healthcare Net ที่ทำได้เพียง +8.1% ผลตอบแทนที่ดีกว่าดัชนีนั้น มาจากหุ้นส่วนใหญ่ที่กองทุนหลักลงทุนในกลุ่มชีวเภสัชกรรมขนาดกลางและขนาดเล็กที่มีสัดส่วนประมาณ 35-40% ราคาหุ้นฟื้นตัว หุ้นดังกล่าวราคาได้เคยลดลงแรงในช่วงไตรมาสสี่ปีที่แล้ว ซึ่งเป็นช่วงที่ตลาดประเมินโอกาสที่ธนาคารกลางสหรัฐฯ จะปรับเพิ่มอัตราดอกเบี้ยนั้นมีสูง แต่ท้ายที่สุด กลับไม่ได้เป็นอย่างที่นักลงทุนคาด

ทั้งนี้ ส่วนหนึ่งเป็นเพราะธนาคารกลางสหรัฐฯ เผชิญแรงกดดันทางการเมืองจากประธานาธิบดีสหรัฐฯ นายโดนัลด์ ทรัมป์ ที่ต้องการให้คงหรือลดดอกเบี้ยลงแทนการขึ้นดอกเบี้ย หุ้นถือครองในกลุ่มชีวเภสัชกรรมขนาดกลางและขนาดเล็กจึงดีดตัวขึ้นแรงบนพื้นฐานความสามารถในการทำกำไรสุทธิที่เติบโตต่อเนื่อง เช่น บริษัท Portola Pharmaceutical (+77.7%) บริษัท Spark Therapeutics (+190%)

กระนั้นก็ดี วันที่ 13-17 เม.ย. ซึ่งตรงกับช่วงวันหยุดสงกรานต์ไทย ดัชนีหุ้นกลุ่มโกลบอลเฮลธ์แคร์ลดลงอย่างหนักในเวลาเพียงสัปดาห์เดียวถึง -6.00% จนทำให้ผลตอบแทนตั้งแต่ต้นปีถึงวันที่ 17 เม.ย. เหลือเพียง +1.9% เหตุจากการเมืองสหรัฐฯ ที่มีการหยิบยกประเด็น “Medicare for All” ขึ้นมาเล่นอีกครั้ง แน่นอนว่าเป็นเพียงการฟาดฟันกันทางวาทกรรมของสองฟากการเมือง เช่นเดียวกับที่เคยเกิดขึ้นแล้วในปี 2016 สมัยชิงตำแหน่งประธานาธิบดีสหรัฐฯ คนที่ 45

ทั้งนี้กองทุนหลักมองไปข้างหน้าว่า “Medicare for all” ไม่มีทางเกิดขึ้นได้ ด้วยปัจจัยดังนี้ คือ

  1. มีต้นทุนสูง รัฐบาลสหรัฐฯ จะต้องใช้งบเพิ่มขึ้นอีกราว 33 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐ ในอีก 10 ปีข้างหน้า แน่นอนว่าจะกระทบกับการจัดสรรงบประมาณหลัก เช่น งบตำรวจ งบด้านความมั่นคง ฯลฯ ปัจจุบันตัวเลขงบประมาณรายจ่ายของสหรัฐฯ อยู่ที่ 4.4 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐต่อปีเป็นเม็ดเงินที่สูงเกินพออยู่แล้ว สหรัฐฯ คงไม่ได้ต้องการสร้างหนี้เพิ่มขึ้นอีกมากมายขนาดนั้น อีกทั้งหนี้ที่เกิดจากการดำเนินนโยบายผ่อนคลายเชิงปริมาณ (QE) ก็ยังไม่ลดลง
  2. การออกกฏหมายกระทำได้เฉพาะบางประเด็น หากพรรครีพับลิกันซึ่งเป็นฝ่ายบริหารต้องการเปลี่ยนแปลงโครงสร้างระบบเฮลธ์แคร์สหรัฐฯ จะกระทำได้เฉพาะในส่วนที่ไม่ต้องอาศัยวุฒิสภาเท่านั้น ผลกระทบต่อโครงสร้างธุรกิจเฮลธ์แคร์สหรัฐฯ จึงมีจำกัด
  3. ความพึงพอใจของคนไข้ชาวอเมริกันยังอยู่ในเกณฑ์ดี หากเทียบกับบริการทางการแพทย์ของสหรัฐฯ กับประเทศพัฒนาแล้วอื่นๆ พบว่า ผู้ป่วยใช้ระยะเวลารอคอยที่สั้นกว่า คุณภาพด้านการรักษา คุณภาพของตัวยา ทำให้ชาวอเมริกันส่วนใหญ่มีความพอใจที่สูงกว่าประเทศอื่น การใช้สวัสดิการ “Medical for All” เช่นเดียวกันกับประเทศสหราชอาณาจักร จึงเป็นไปได้ยากเพราะชาวอเมริกันส่วนใหญ่คงไม่สนับสนุนให้รัฐใช้ระบบเดียวกันกับทุกคน

ดังนั้นในช่วงที่ตลาดหุ้นเฮลธ์แคร์มีการ Sell off จึงเป็นโอกาส/จังหวะเข้าลงทุน สำหรับผู้ที่เล็งเห็นโอกาสในการลงทุนระยะยาว หุ้นกลุ่มโกลบอลเฮลธ์แคร์ถูกมองว่าถูกลงอย่างรวดเร็ว (หลังราคาร่วงลง) เทียบกับศักยภาพความสามารถในการสร้างรายได้และกำไรในอนาคต

สรุปผลการดำเนินงานของกองทุนหลักในไตรมาสแรก

Performance Attribution in 1Q2019

Positive contributors (1 January – 31 March 2019)

1.Spark Therapeutics (น้ำหนักลงทุนในพอร์ตสิ้นไตรมาส 0.0%, ราคาหุ้นสิ้นไตรมาสแรกเพิ่มขึ้น +190.0%)

Sub-Sector: Biopharma Mid Cap

ทำธุรกิจวิจัย พัฒนารักษาโรคที่เกิดขึ้นจากพันธุกรรม เช่น โรคตาบอดสี ฮีโมฟีเลีย ในเดือน ก.พ. บริษัทได้รับการเสนอซื้อกิจการจากบริษัท Roche ในราคาที่สูงกว่าราคาตลาดถึง 122% ราคาหุ้นจึงพุ่งขึ้นจาก 50 ดอลลาร์สหรัฐ ในวันที่ 21 ก.พ. เป็น 113 ดอลลาร์สหรัฐ ในวันที่ 25 ก.พ. กองทุนหลักใช้จังหวะที่ราคาหุ้นพุ่งขึ้นแรงขายทำกำไรออกไป ท่ามกลางกระแสความสนใจขอบบริษัทยาขนาดใหญ่ที่เล็งซื้อกิจการของธุรกิจยีนบำบัด

2. Portola Pharmaceutical (น้ำหนักลงทุนในพอร์ต 1.60%, ราคาหุ้นสิ้นไตรมาส 1Q19 เพิ่มขึ้น +77.7%)

Sub-Sector: Biopharma Mid Cap

บริษัททำธุรกิจค้นคว้าทดลองยาไบโอเทคจนอยู่ในระยะที่สามารถนำผลงานวิจัยทางวิทยาศาสตร์ไปหารายได้ในเชิงพาณิชย์ได้แล้ว ด้วยความเชี่ยวชาญด้านโรคที่เกี่ยวกับหัวใจและหลอดเลือด Portola Pharmaceutical ประกาศงบไตรมาสล่าสุดเพิ่มสูง ตัวยาตัวใหม่ที่ชื่อว่า “Andexxa” ผ่านการอนุมัติจากองค์การอาหารและยาสหรัฐฯ (FDA) ไปแล้วตั้งแต่เดือน ธ.ค. 2018

3. Invitae (น้ำหนักลงทุนในพอร์ต 1%, ราคาหุ้นสิ้นไตรมาสแรกเพิ่มขึ้น +112.0%)

Sub-Sector: Medical Technology

เป็นบริษัทที่มีจุดเด่นด้านการถอดรหัสพันธุกรรมยีนมนุษย์ เพื่อให้นักวิทยาศาสตร์การแพทย์นำมาวิเคราะห์ผลเชิงลึก บริษัททำการเปิดตัวแพลตฟอร์มใหม่ชื่อว่า “non-invasive prenatal screening” ต้นปีก่อน อีกทั้งเสนอขายหุ้นเพิ่มทุนที่ราคา 5 ดอลลาร์สหรัฐต่อหุ้น กองทุนหลัก ได้รับหุ้นจัดสรรดังกล่าวและถือครองจนราคาหุ้นเพิ่มขึ้นห้าเท่าตัว จาก 5 เป็น 25 ดอลลาร์สหรัฐ ในเวลาเพียงปีเดียว อย่างไรก็ตามจะยังคงถือลงทุนต่อไปเพราะมองว่ารายได้จากการทดสอบยีนเป็นธีมระยะยาวทางการแพทย์ รายได้ในส่วนนี้น่าจะเพิ่มขึ้นถึงสามเท่าตัวภายในระยะเวลาอีกไม่กี่ปี จากความต้องการในแขนงกุมารเวชศาสตร์ วิทยามะเร็ง เนื้องอก และประสาทวิทยา

Negative contributors (1 January – 31 March 2019) 

1. Eisai (น้ำหนักลงทุนในพอร์ต 1.50%, ราคาหุ้นสิ้นไตรมาสแรกลดลง -26.4%)

Sub-Sector:  Biopharma Mid Cap

ราคาหุ้นไตรมาสแรกลดลงมากกว่าดัชนี เหตุจากพันธมิตรของบริษัทที่ชื่อว่า Biogen ประกาศถอนตัวยาระยะทดลองเฟส 3 เพราะให้ผลลัพธ์ไม่เป็นที่น่าพอใจ ยาดังกล่าวมีชื่อทางการแพทย์ว่า “Aducanumab”

“Aducanumab” เป็นความหวังในวงการแพทย์ว่าจะลดปริมาณกลุ่มแผ่นโปรตีน Amyloid plagues ซึ่งเป็นโปรตีนที่ผิดปกติและล้อมรอบกับเซลล์ประสาทที่เสื่อมของผู้ป่วยอัลไซเมอร์ลง โดยปกติสมองของผู้ป่วยอัลไซเมอร์จะถูกห้อมล้อมด้วยกลุ่มแผ่น Amyloid plagues ทำให้เนื้อสมองในส่วน Hippocampus และ Entorhinal cortex ที่เกี่ยวกับความจำฝ่อลง (ตามรูป)

2. Bristol-Myers Squibb (น้ำหนักลงทุนในพอร์ต 70%, ราคาหุ้นสิ้นไตรมาสแรกลดลง -7.4%)

เป็นบริษัทในกลุ่ม Biopharma Large Cap

สาเหตุที่ทำให้ราคาหุ้นลดลงเพราะบริษัทประกาศซื้อบริษัทผู้ผลิตยาสัญชาติสหรัฐฯชื่อ Celgene

2.1 การควบรวมเกิดในลักษณะที่ได้นำบริษัท ที่ได้ขึ้นชื่อว่าเป็น Undervalued company อย่าง Bristol-Myers Squibb ซึ่งมีมูลค่ากิจการสูงกว่าราคาตลาด ณ ปัจจุบัน ไปซื้อสินทรัพย์ที่ Fully value อย่างบริษัท Celgene ซึ่งมีมูลค่ากิจการเท่ากับราคาตลาดแล้ว

2.2 บริษัท Bristol-Myers Squibb มีตัวยา Biotech กว่า 38 ตัว กว่า 6 ตัวในจำนวนนั้นถูกนำมาพัฒนาทำการตลาดแล้ว บริษัทดีๆ อย่างบริษัท Bristol-Myers Squibb จึงมีทางเลือกอื่นอีกมากที่จะสร้างมูลค่าให้กับผู้ถือหุ้น โดยไม่ต้องผ่านการควบรวม (M&A) ครั้งนี้ก็ได้

2.3 ยารักษามะเร็งโลหิตของบริษัท Celgene ที่ใช้รักษาความผิดปกติของพลาสมาเซลล์ ซึ่งเป็นกลุ่มของเซลล์เม็ดเลือดขาว ชื่อว่า “Revlimid” ของบริษัท Celgene กำลังจะหมดอายุลงในปี 2022

*Source: Wellington Management ณ สิ้นเดือน มี.ค.2019

ปัจจัยบวกและลบต่อหุ้นกลุ่มโกลบอลเฮลธ์แคร์
(+) ผลลัพธ์การทดลองยาเชิงวิทยาศาสตร์การแพทย์ในเฟสสุดท้ายกำลังจะปะทุในอีก 12-24 เดือนข้างหน้ายาจำนวนหลายตัว อาทิ ยาที่ใช้รักษาโรคอัลไซเมอร์ มะเร็ง ผลลัพธ์ที่ว่านี้จะทำให้บริษัทผู้วิจัยยาไบโอเทคซึ่งผ่านการทดลองผิดทดลองถูกมาอย่างยาวนาน สามารถทำตลาดในเชิงพาณิชย์ได้ จึงสร้างรายได้หลายพันล้านเหรียญสหรัฐฯให้กับบริษัทไบโอเทคผู้ทดลองยา

กราฟ: แสดงแขนงของนวัตกรรมด้านการรักษาโรคที่กำลังจะปะทุหลังผ่านการศึกษาวิจัยมาอย่างยาวนาน

คำอธิบายตัวย่อทางการแพทย์

BACE หมายถึง โมเดลที่ใช้รักษาอัลไซเมอร์ได้สำเร็จโดยลดการผลิต amyloid beta ภายในสัตว์ลง

TAU หมายถึง แอนตี้บอดี้

Amyloid-beta หมายถึง กรดอะมิโน ซึ่งเป็นองค์ประกอบหลักของคราบแอมีลอยด์ พบได้ในโรคสมองเสื่อมบางชนิดเช่น Lewy body dementia

RNAi หมายถึง กระบวนการในการควบคุมการแสดงออกของลักษณะทางพันธุกรรมอย่างหนึ่ง ซึ่งพบทั้งในพืช สัตว์ และมนุษย์

mRNA หมายถึง การเรียงลำดับของนิวคลีโอไทด์ที่ Complement กับข้อมูลทางพันธุกรรมที่บริเวณจำเพาะของ DNA ในส่วนที่เป็นยีนส์

RPE65 หมายถึง ยีนส์ที่จำเป็นต่อการมองเห็นปกติ

DMD หมายถึง โรคกล้ามเนื่อเจริญผิดเพี้ยน

TTR หมายถึง การตรวจประเมินโปรตีนและลิ่มเลือด

XLH หมายถึง ภาวะฟอสเฟตในเลือดต่ำทางพันธุกรรมที่พบได้ยาก ผู้ป่วยมีการขับถ่ายฟอสเฟตออกทางปัสสาวะปริมาณมาก สาเหตุมาจากการกลายพันธุ์ของยีน

Source: Wellington Management, March 2019

(+) ท่ามกลางแรงกดดันทางการเมืองที่ต้องการให้บริษัทผู้ผลิตยาสหรัฐฯ ลดราคายาลง กระนั้นก็ตาม RX Saving solutions ซึ่งเป็นผู้ผลิตซอร์ฟแวร์เพื่อให้ช่วยนายจ้างสามารถลดค่าใช้จ่ายด้านยาของพนักงานตนเองลงนั้น ชี้ว่ายาจำนวน 2,862 รายการจากทั้งหมด 3,000 รายการของสหรัฐฯ ในไตรมาสแรกปีนี้มีราคาสูงขึ้นเฉลี่ย 11.3% เทียบกับ 8.6% ในไตรมาสแรกของปีก่อนหน้า แรงกดดันทางการเมืองที่จะหยุดหรือชะลอการเพิ่มขึ้นของราคายาตามใบสั่งแพทย์จึงส่งผลน้อยมากต่อบริษัทผู้ผลิตยาสหรัฐฯ

(+) ค่าใช้จ่ายเฮลธ์แคร์สหรัฐฯ เทียบจีดีพี ยังคงแตะระดับสูงที่สุดในโลกที่ระดับ 18% จึงเป็นอุตสาหกรรมที่สร้างเม็ดเงินได้อย่างมหาศาลให้กับกิจการ

(+) ผู้บริหารกองทุนหลัก (Lead portfolio managers) ซึ่งมีประสบการณ์บริหารหุ้นเฮลธ์แคร์มาตลอด 28 ปีกล่าวว่าไม่เคยเจอช่วงเวลาไหนที่มีการเปลี่ยนแปลงรวดเร็วเช่นนี้มาก่อนสร้างความตื่นเต้นให้กับทีมงานโกลบอลเฮลธ์แคร์มาก

(+) คนไข้ที่ป่วยด้วยโรคเรื้อรังได้รับการรักษาที่ยาวนานขึ้น มีอายุขัยมากขึ้น

(+) โอกาสของเฮลธ์แคร์ในตลาดเกิดใหม่โดยเฉพาะจีนที่มีการลงทุนด้านวิจัยและพัฒนายาไบโอเทคสูงเป็นอันดับสองของโลกรองจากสหรัฐฯ และความต่อเนื่องของนวัตกรรมด้านการวินิจฉัย ป้องกัน รักษาโรค

(+/-) ระดับ Valuation หุ้นเมื่อวัดจากดัชนี MSCI World Healthcare ในภาพรวมอาจจะดูเหมาะสมเมื่อวัดจากการประเมินมูลค่าหุ้นที่ใช้กันโดยทั่วไป ไม่ว่าจะเป็นการหามูลค่าหุ้นด้วยวิธีมูลค่าปัจจุบันของเงินปันผล DDM (Divident discount model) หรือมูลค่าปัจจุบันของกระแสเงินสดรับ FCF (Free cash flow method) แต่อย่างลืมว่า! หุ้นกลุ่มเฮลธ์แคร์มีลักษณะเฉพาะ เราไม่สามารถประเมินมูลค่าหุ้นด้วยโมเดลดั้งเดิมเพราะการวิเคราะห์หาราคาหุ้นที่เหมาะสมของบริษัทวิจัยทดลองยาไบโอเทคไม่สามารถทำได้ ผู้จัดการกองทุนประเมินมูลค่าหุ้นด้วยโมเดลความเป็นไปได้ของผลลัพธ์ทางวิทยาศาสตร์ (Scientific data)

(-) แม้กองทุนฯหลักจะเชื่อว่า “Medical for All” ไม่สามารถเกิดขึ้นได้ แต่วาทกรรมของผู้นำสหรัฐฯจะยังคงส่งผลต่อจิตวิทยาผู้ลงทุนต่อเนื่องไปจนถึงการเลือกตั้งสมัยหน้า 2020 หลายปีที่ผ่านมา รัฐบาลทรัมป์ได้แสดงให้เห็นแล้วว่าเขามีความต้องการที่จะเปลี่ยนแปลงกฏหมายการ Rebate เงินคืนให้กับสถานพยาบาลที่ได้จ่ายยาให้ผู้ป่วยไปในช่วงก่อนหน้าใน แรงกดดันดังกล่าวส่งผลตรงกับ Supply Chain ของบริษัทผู้ผลิตยา

คำถามและคำตอบสำคัญสำหรับผู้ถือหน่วยลงทุน

1.การเข้ามาของเทคโนโลยีดิจิทัลเฮลธ์ และปัญญาประดิษฐ์ ในระยะหลัง กองทุนหลักจะมีการปรับพอร์ตหรือวางพอร์ตอย่างไร เพื่อให้ได้ผลตอบแทนที่สูงกว่าดัชนี (อัลฟ่า) ในอีกหนึ่งปีข้างหน้า

หุ้นถือครองอันดับสองและสาม ของกองทุนหลักที่ ชื่อว่า UnitedHealth Group และ Anthem ซึ่งจัดอยู่ในกลุ่มผู้ให้บริการทางการแพทย์ ธุรกิจของทั้งสองบริษัทนั้นมีการประยุกต์ใช้ Data Analytic, AI, Algorithm เพื่อลดต้นทุนลง เชื่อว่าจะส่งผลบวกต่อกำไรสุทธิหลังหักค่าใช้จ่ายในการดำเนินงาน

2.จีนจะกีดกันคู่แข่งต่างชาติที่ต้องการการเข้ามาเจาะตลาดในประเทศหรือไม่ และการที่รัฐบาลปักกิ่งควบคุมโครงสร้างราคายาจะส่งผลอย่างไร?

จีนกีดกัน เพราะต้องการเป็นเจ้าตลาดในประเทศตนเองไม่เฉพาะทางด้านเทคโนโลยี เฮลธ์แคร์ก็เช่นกัน บริษัทสัญชาติสหรัฐฯ เช่น Intruda ซึ่งมีตัวยารักษาการผ่าเหล่าของเซลล์มะเร็ง บริษัทไบโอเทคจีนทื่ชื่อว่า Beigine ก็สามารถผลิตยาประเภทเดียวกันได้เช่นกันและได้รับการอนุมัติจาก FDA ของจีนด้วย ดังนั้นการแข่งขันจึงสูงขึ้นแน่นอน การที่มียาในตลาดจีนมากขึ้นจึงเป็นการยากต่อบริษัทข้ามชาติเพราะบริษัทยาในประเทศย่อมได้เปรียบจากเงินช่วยเหลือผู้ป่วยที่ใช้สวัสดิการภาครัฐ

กลยุทธ์ของ Wellington Global Health Care Equity Portfolio

เน้นการเติบโตของเงินลงทุนผ่านการลงทุนในหลักทรัพย์ของบริษัทที่ทำธุรกิจทางด้านเฮลธ์แคร์ ด้วยการลงทุนที่หลากหลายทั้งในธุรกิจย่อย (Sub-Sector) มูลค่าตลาดของหลักทรัพย์ลงทุน และภูมิภาคต่างๆ ที่มีอยู่ทั่วโลก

กองทุนหลัก (Master Fund)

ชื่อ: Wellington Global Health Care Equity Portfolio ชนิดหน่วยลงทุน Class S (Accum-USD)

วัตถุประสงค์การลงทุน: แสวงหาผลตอบแทนจากการลงทุนระยะยาวในหุ้นกลุ่มเฮลธ์แคร์ทั่วโลก

Investment style: คัดสรรหุ้นรายตัวแบบ Bottom up ด้วยปัจจัยพื้นฐาน เน้นบริษัทที่มีมูลค่ากิจการแข็งแกร่ง

วันจดทะเบียน: October 2003

ประเทศที่จดทะเบียน: ไอร์แลนด์

สกุลเงิน: USD

เกณฑ์วัดผลการดำเนินงาน (Benchmark): MSCI World Healthcare Net

Morningstar Category: Large cap growthBloomberg (A): WGHCEPA ID

Fund Size: USD 2.3 billion

NAV: USD 59.54

Number of holdings: 127

ผลการดำเนินงานกองทุนย้อนหลัง (ข้อมูลเดือน มี.ค. 2019)

ข่าวความเคลื่อนไหวที่น่าติดตามของหุ้นกลุ่มโกลบอลเฮลธ์แคร์

Swiss Pharmaceuticals update as of 10 Apr 19:

Novartis (Bloomberg code: NOVN: SW, ราคาหุ้น 83.54 CHF) บริษัทยา ที่มีสำนักงานใหญ่อยู่เมืองบาเซิล เมืองเล็กๆ น่ารักทางตอนเหนือของประเทศสวิตเซอร์แลนด์ หุ้นถือครองอันดับ 7 ของกองทุนหลัก BCARE และ BCARERMF ตั้งเป้าซื้อกิจการบริษัทยา ด้วยมูลค่าดีลควบรวมในปีนี้ที่ไม่เกิน 5% ของมูลค่าตลาดบริษัทจดทะเบียนในตลาดฯ หรือไม่เกิน 10 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ (ปัจจุบัน Market cap = 200 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ) เป้าหมายเพื่อเพิ่มผลตอบแทนส่วนของผู้ถือหุ้น (Shareholder’s return) ไปพร้อมๆ กับปูแผนอนาคตบริษัทไปสู่บริษัทที่เน้นนวัตกรรมมากขึ้น 

และมีแนวคิดที่จะสละ (Spin off) ธุรกิจ eyecare ออกไป โดยหันมาเน้นธุรกิจหลักซึ่งคือ การพัฒนานวัตกรรมยาใหม่ๆ ตั้งแต่เดือน ก.พ. 2018 บริษัทได้จำหน่ายธุรกิจประเภท Generic Drug ซึ่งมองว่าจะไม่ใช่ธุรกิจหลักอีกต่อไป เห็นได้จากการทำ Join venture กับบริษัท Sandoz บริษัทยาสัญชาติสหรัฐฯ (ถือครองหุ้น Novartis สัดส่วน 3.49%)

การที่ Novartis หันมาเน้น High margin product จากยาชีววัตถุคล้ายคลึง (Bio similar) เพราะต้องการสร้างรายได้จาก ยาสิทธิบัตรจากค่ายอื่นที่หมดอายุลงนั่นเอง

Note:

  1. ราคาหุ้นบริษัท Novartis เพิ่มขึ้นกว่า 20% ในช่วง 1 ปีที่ผ่านมา
  2. Development project ที่บริษัท Novartis เชี่ยวชาญ อาทิ
    • มะเร็งวิทยา (Oncology): Chronic/acute myeloid leukemia, Alzheimer’s disease, Lung cancer (แผนยื่น Filing ปี 2023)
    • ประสาทวิทยา (Neuroscience): Spinal Muscular atrophy (แผนยื่น Filing ปี 2023)
    • ปลูกถ่ายตับและถุงน้ำดี (Hepatology): Solid organ transplantation (แผนยื่น Filing ปี 2023)
    • ระบบทางเดินหายใจ (Respiratory): Severe asthma (แผนยื่น Filing ปี 2022)

United Kingdom Pharmaceuticals update as of 29 March 19:

บริษัทยาสัญชาติสหราชอาณาจักร ชื่อว่า AstraZeneca Plc (บริษัทลงทุนในกองทุนหลัก BCARE น้ำหนักลงทุน 2.80%)  บรรลุข้อตกลงกับบริษัทยาสัญชาติญี่ปุ่นชื่อว่า Daiichi Sankyo Co Ltd (ถือครองบางส่วน) ในการพัฒนาและขายยาใช้บำบัดผู้ป่วยมะเร็งปอด (Lung cancer) ชื่อว่า “Trastuzumab Deruxtecan” มูลค่า 6.9 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ ซึ่ง Daiichi Sankyo ถือครองสิทธิบัตรยาตัวนี้อยู่

มะเร็งปอดเป็นสาเหตุการตายอันดับ 1 ของคนบนโลกที่ป่วยเป็นมะเร็ง ในปี 2012 คนทั่วโลกมีคนป่วยเป็นมะเร็งปอด 1.8 ล้านคน เข้ารับการรักษา และ 1.6 ล้านคนเสียชีวิต ความคืบหน้าด้านการพัฒนายาด้านนี้มีความจำเป็นสูง(อ้างอิง ADC directory, last editorial review,   September 28, 2018)

 

มูลค่าการเข้าซื้อ:

  • ภายใต้ดีลดังกล่าวบริษัท AstreZeneca จะจ่ายเงินให้บริษัท Daiichi Sankyo จำนวน 6.9 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ (โดยจ่าย Upfront payment 1.35 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ)

ผลประโยชน์ที่ได้:

  • ทั้งสองบริษัทจะร่วมมือกันวิจัยพัฒนาและทำการตลาดยาต่อไปในอนาคต
  • ข้อดี คือ Daiichi Sankyo มีสิทธิพิเศษในการขายยาในประเทศญี่ปุ่น และถือครองยาใช้บำบัดผู้ป่วยมะเร็งปอดชื่อ Trastuzumab Deruxtecan จึงเป็นประโยชน์กับ AstraZeneca ซึ่งเป็น Existing Global leading pharmaceutical

Source: https://www.adcdirectory.com/news/updated-results-for-fam-trastuzumab-deruxtecan-111 https://clinicaltrials.gov/ct2/show/NCT03523572 https://www.investing.com/news/stock-market-news/daiichi-sankyo-astrazeneca-sign-69-billion-cancer-drug-deal-1821648

ดีลที่เกิดขึ้นต่อเนื่องสอดคล้องกับมุมมองของผู้จัดการกองทุน Wellington Global Healthcare Equity ที่เล็งเห็นว่าขณะนี้เป็นช่วงของวิวัฒนาการการแพทย์ที่มีการเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็วเมื่อเทียบกับ 28 ปีของการบริหารกองทุนที่ผ่านมา