อินโดนีเซียเปิดตัวคิวอาร์โค้ดมาตรฐานดันประเทศสู่สังคมไร้เงินสด

อินโดนีเซียเปิดตัวคิวอาร์โค้ดมาตรฐานดันประเทศสู่สังคมไร้เงินสด

เดอะ จาการ์ตา โพสต์ รายงานว่า ธนาคารกลางอินโดนีเซีย ได้เปิดตัวคิวอาร์โค้ดมาตรฐานของอินโดนีเซีย (QRIS) ซึ่งเป็นระบบการใช้รหัสที่มีเป้าหมายเพื่อนำพาประเทศไปสู่สังคมไร้เงินสด

สำหรับ QRIS เป็นรูปแบบรหัสที่มีความซับซ้อนมากขึ้น อนุญาตให้ผู้ใช้งานจากระบบชำระเงินหนึ่งโอนเงินไปยังผู้ให้บริการรายอื่นที่อยู่ภายใต้ระบบนิเวศของธนาคารกลางอินโดนีเซีย เช่น ผู้ใช้งานที่ใช้กระเป๋าเงินอิเล็กทรอนิกส์ของ LinkAja จะสามารถโอนเงินไปให้เจ้าของร้านค้าที่ใช้กระเป๋าเงินอิเล็กทรอนิกส์ของ OVO ได้ ผ่านการใช้คิวอาร์โค้ดมาตรฐาน QRIS นี้

Perry Warjiyo ผู้ว่าการ ธนาคารกลางอินโดนีเซีย กล่าวว่า QRIS จะอนุญาตให้ชำระเงินได้ผ่านการใช้รหัสคิวอาร์เพื่อเชื่อมต่อและทำงานบนมาตรฐานเดียวกันในระบบ โดยที่ผ่านมาธนาคารกลางเริ่มพัฒนา QRIS มาตั้งแต่ต้นปีก่อน เป็นการทำงานร่วมกันกับสถาบันการเงินต่างๆ รวมถึงผู้ให้บริการเครือข่ายระหว่างธนาคาร และผู้ให้บริการกระเป๋าเงินอิเล็กทรอนิกส์ T-cash ที่ปัจจุบันเปลี่ยนชื่อเป็น LinkAja โดยมาตรฐานของ QRIS มีพื้นฐานมาจากยูโรเพย์ มาสเตอร์การ์ด และวีซ่า ซึ่งเป็นมาตรฐานระดับสากล

Sugeng ผู้ช่วยผู้ว่าการธนาคารกลางอินโดนีเซีย กล่าวว่า ธนาคารเลือกใช้เทคโนโลยีคิวอาร์โค้ด เพราะต้นทุนต่ำกว่าการใช้บัตรที่ฝังชิป หรือการติดตามด้วย RFID โดยคิวอาร์โค้ด มีต้นทุนถูกเพราะพิมพ์รหัสออกมาบนแอปในสมาร์ทโฟน ขณะที่การใช้บัตรหรือการติดตามด้วย RFID จะต้องมีการซื้อเครื่องอ่าน EDC คู่ด้วย ซึ่งมีต้นทุนอย่างต่ำ 450,000 รูเปีย หรือ 31.26 ดอลลาร์สหรัฐต่อเครื่อง

ด้วยเหตุนี้เองเมื่อต้นทุนต่ำ จึงทำให้ผู้ประกอบการขนาดกลางจนถึงขนาดย่อมในอินโดนีเซียที่มีกว่า 65 ล้านราย สามารถนำระบบการชำระเงินแบบไร้เงินสดไปใช้งานได้ โดยไม่จำเป็นต้องซื้อเครื่องอ่านใดๆ

“เราเชื่อว่ารูปแบบการชำระเงินที่ทันสมัยจะช่วยสนับสนุนกิจกรรมทางเศรษฐกิจในอินโดนีเซีย ซึ่งมีอัตราการเติบโตที่ประมาณ 5% โดยเราเชื่อว่าผู้เล่นในระบบเศรษฐกิจดิจิทัลเข้ามาใช้ระบบชำระเงินใหม่นี้ การเติบโตของเศรษฐกิจก็อาจจะเกิน 5% ได้” Sugeng กล่าว