BF Asean Corner
- ผ่านมาเกือบครึ่งปีแล้วสำหรับปี 2019 สำหรับเศรษฐกิจของอาเซียนในไตรมาสแรกที่ผ่านมา ยังคงมีโมเมนตัมที่สามารถเติบโตได้ต่อเนื่อง ซึ่งเศรษฐกิจของอินโดนีเซียและมาเลเซียขยายตัวชะลอลงจากไตรมาสสุดท้ายของปีที่ผ่านมาเล็กน้อย แต่นับว่าดูดีเลยทีเดียวท่ามกลางภาวะเศรษฐกิจโลกที่มีความผันผวนในขณะนี้
- ขณะที่เศรษฐกิจของฟิลิปปินส์และสิงคโปร์จะขยายตัวได้น่าผิดหวังเล็กน้อย แต่ก็มีปัจจัยเฉพาะที่สามารถอธิบายได้คือ ฟิลิปปินส์เป็นผลจากความล่าช้าในการผ่านร่างนโยบายงบประมาณ สำหรับสิงคโปร์เนื่องจากเป็นประเทศที่พึ่งพิงการส่งออกเป็นหลัก ก็ย่อมได้รับผลกระทบจากประเด็นกีดกันทางการค้า รวมถึงเป็นผลของฐานที่สูงของช่วงเดียวกับของปีที่ผ่านมาอีกด้วย
- แต่อย่างหนึ่งที่เหมือนกัน คือปัจจัยหลักที่ส่งผลให้เศรษฐกิจอาเซียนในไตรมาสแรกของปี สามารถทำให้เติบโตได้ดี คืออุปสงค์ภายในประเทศ โดยเฉพาะการบริโภคภาคเอกชนที่แข็งแกร่ง ขณะที่ การบริโภคภาครัฐบาลในบางประเทศ และการลงทุนในทุกประเทศอาเซียนยังไม่สามารถเติบโตได้ดีเท่าที่ควร
- สำหรับในระยะข้างหน้า เศรษฐกิจของประเทศอาเซียนน่าจะขยายตัวเร่งขึ้นจากไตรมาสแรก โดยมีปัจจัยสนับสนุน
- อย่างแรกคือการใช้จ่ายและการลงทุนภาครัฐ หลังการเลือกตั้งของอินโดนีเซียท่ามกลางชัยชนะของโจโควีที่ได้ก้าวสู่ตำแหน่งประธานาธิบดีเป็นสมัยที่ 2 เช่นเดียวกับฟิลิปปินส์ที่เพิ่งผ่านพ้นการเลือกตั้งกลางเทอมเมื่อเดือนที่ผ่านมา ซึ่งพรรคของรัฐบาลภายใต้การนำของดูเตอร์เต้ได้กวาดชัยชนะในการเลือกตั้งครั้งนี้ ความต่อเนื่องนโยบายของรัฐบาลทั้ง 2 ประเทศที่เน้นการลงทุนในโครงสร้างพื้นฐานน่าจะส่งผลให้การเบิกจ่ายงบประมาณมีประสิทธิภาพ ขณะที่รัฐบาลมาเลเซียภายใต้การนำของมหาเธร์ ก็น่าจะได้ข้อสรุปเกี่ยวกับการทบทวนนโยบายพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานของประเทศ
- อันที่ 2 คือ การลงทุนภาคเอกชน ซึ่งความเชื่อมั่นของนักลงทุนหลังการเลือกตั้งของประเทศอาเซียนซึ่งมีเสถียรภาพ จะส่งผลให้การลงทุนเพิ่มสูงขึ้น ขณะที่ การลงทุนภาคการก่อสร้างของสิงคโปร์ที่มีทิศทางที่ฟื้นตัวขึ้นตัวอย่างต่อเนื่องจากการลงทุนภาคอสังหาริมทรัพย์เพื่อดึงดูดการลงทุน
- อีกอันที่สำคัญคือการดำเนินนโยบายการเงินที่ผ่อนคลายลง โดยการปรับลดอัตราดอกเบี้ยนโยบาย ซึ่งประเทศที่ได้มีการปรับลดอัตราดอกเบี้ยไปแล้วคือมาเลเซีย และฟิลิปปินส์ ส่วนอินโดนีเซียก็มีแนวโน้มที่จะปรับลดเช่นกัน ซึ่งการปรับลดดอกเบี้ยนโยบายจะเป็นอีกหนึ่งแรงส่งสำคัญที่จะกระตุ้นเศรษฐกิจผ่านต้นทุนทางการเงินที่ลดลง
- ความท้าทายยังคงมีอยู่จากปัจจัยภายนอก เนื่องความยืดเยื้อของประเด็นกีดกันทางการค้าของสหรัฐฯ ที่มีแนวโน้มบานปลายเป็นการกีดกันทางเทคโนโลยีซึ่งน่าจะกดดันภาพรวมการเติบโตของเศรษฐกิจโลก ซึ่งจะส่งผลต่อเนื่องไปยังกดดันอุปสงตค์
- ภายนอกประเทศของอาเซียนให้ลดลง