กองทุนสำรองเลี้ยงชีพ กับเรื่องที่มักเข้าใจผิด

กองทุนสำรองเลี้ยงชีพ กับเรื่องที่มักเข้าใจผิด

กองทุนสำรองเลี้ยงชีพ กับเรื่องที่มักเข้าใจผิด
โดย…อรพรรณ บัวประชุม CFP®

ผู้เชี่ยวชาญด้านการวางแผนทางการเงิน

BF Knowledge Center

หลายครั้งที่มนุษย์เงินเดือน ที่มีสวัสดิการดีๆ ที่บริษัทให้ นั่นก็คือ “กองทุนสำรองเลี้ยงชีพ” และก็นั่นแหละ แม้ว่าบริษัทจะมีสวัสดิการดีๆ ให้ แต่ก็ไม่วาย ทำให้มนุษย์เงินเดือนตัวเล็กๆ อย่างเราต้องตกใจ เพราะยังไม่ทันได้ตั้งตัว บริษัทที่ทำงานอยู่ก็มีอันต้องล้มพับ ปิดกิจการไปเสียก่อน แล้วกองทุนสำรองเลี้ยงชีพที่เราสะสมไว้ทุกเดือนนั้น เราจะได้รับเงินคืนหรือเปล่า หรือว่าจะปิดไปเหมือนกับบริษัทที่เราทำงานอยู่ด้วยเหมือนกัน

ก่อนที่จะคิดไปไกล เรากลับมามองดูที่กองทุนสำรองเลี้ยงชีพที่เรามีก่อนว่าเป็นกองทุนลักษณะไหน เป็นกองทุนเดี่ยว (กองทุนที่จัดตั้งเฉพาะสำหรับบริษัทเราบริษัทเดียวเท่านั้น) หรือกองทุนหลายนายจ้าง (กองทุนที่จัดตั้งขึ้นมาแล้วมีสมาชิกหลายบริษัท หรือ Pooled Fund)

หากเป็นกองทุนเดี่ยว แน่นอนว่า ถ้าบริษัทเราปิดกิจการ กองทุนสำรองเลี้ยงชีพที่เรามีอยู่ก็มีอันต้องปิดตัวตามไปด้วย เพราะสมาชิกในกองทุน มีแต่เพื่อนพ้องในบริษัทเราเท่านั้นที่เป็นสมาชิก เมื่อบริษัทปิดก็ไม่มีใครส่งเงินสะสมและเงินสมทบอีกต่อไป ดังนั้น กองทุนประเภทนี้จึงต้องปิดกองทุนด้วยเช่นกัน

แต่ถ้าหากเป็นกองทุนหลายนายจ้าง (Pooled Fund) ชื่อก็บอกแล้วว่ามีนายจ้างหลายรายที่สนใจเลือกส่งเงินสมทบให้กับกองทุนนี้ นั่นก็แสดงว่าเราเองก็ส่งเงินสะสมเข้ากองทุนนี้ด้วยเช่นกัน ดังนั้น หากบริษัทปิดตัวลง กองทุนสำรองเลี้ยงชีพประเภทกองทุนหลายนายจ้าง (Pooled Fund) จะยังคงอยู่ เพราะยังมีบริษัทอื่นๆ ยังคงส่งเงินสมทบและเงินสะสมเข้ากองทุนนี้ต่อไป กองทุนไม่ได้ปิดตัวลงเหมือนกับกองทุนเดี่ยว

ดังนั้น หลายคนที่เคยเข้าใจผิด มักจะคิดว่าบริษัทปิดกิจการ กองทุนสำรองเลี้ยงชีพที่เราสะสมไว้ก็คงต้องปิดด้วยเป็นแน่ คิดแบบนี้ก็ถือว่าถูกครึ่งหนึ่ง เพราะหากบริษัทเราเป็นกองทุนสำรองเลี้ยงชีพแบบกองทุนเดี่ยว เมื่อบริษัทปิดตัว กองทุนก็ต้องปิดไปด้วย แต่ถ้าหากเป็นกองทุนหลายนายจ้าง (Pooled Fund) กองทุนสำรองเลี้ยงชีพจะยังอยู่ต่อ แต่ในส่วนของบริษัทเราก็เป็นอันต้องจบลงเช่นกัน เพราะบริษัทปิด (กองทุนสำรองเลี้ยงชีพยังอยู่ แต่ในส่วนของบริษัทเราไม่อยู่ในกองทุนแล้ว เราไม่สามารถอยู่แบบลอยๆ ในกองทุนต่อไปได้) ก็เท่ากับว่าเราเองก็ไม่สามารถอยู่ในกองทุนได้อีกต่อไป แต่ก็อย่าได้ตกใจไป ยังมีทางเลือกอยู่ 2 ทางเลือกด้วยกัน คือ

1.จะเอาเงินออกไหม?

หากตัดสินใจแบบนี้ ต้องมาดูอายุงานกันหน่อยว่าเราจะเสียภาษีเต็มเม็ดเต็มหน่วยหรือไม่ จะเสียภาษีเต็มๆ หากอายุงานไม่ถึง 5 ปี แต่ถ้าอายุงาน 5 ปีขึ้นไปสามารถใช้สิทธิ 7,000 คูณอายุงาน คงเหลือเท่าไหร่ลดให้ครึ่งหนึ่ง และคำนวณตามฐานภาษี โดย 150,000 บาทแรกไม่ได้รับยกเว้น และใช้ใบแนบแยกยื่น เพื่อลดภาระทางภาษีได้

2. มองหากองทุน RMF for PVD ซึ่งเป็นกองทุนรวมเพื่อการเลี้ยงชีพสำหรับกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ

หากเลือกแบบนี้ ก็จะเป็นการลงทุนยาวถึงช่วงเกษียณอายุกันเลยทีเดียว (ต้องมีอายุครบ 55 ปีบริบูรณ์ และถือครองตั้งแต่ยังเป็นกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ ไม่น้อยกว่า 5 ปีเต็ม) จึงจะถูกต้องตามเงื่อนไขกองทุน

ดังนั้น ในอนาคตเมื่อได้งานใหม่ บริษัทใหม่มีกองทุนสำรองเลี้ยงชีพก็เริ่มสะสมใหม่ แต่ถ้าที่ใหม่ไม่มีกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ เราก็หาทางลงทุนในรูปแบบของกองทุนรวมเพื่อการเลี้ยงชีพ (RMF) ซึ่งเป็นกองทุนที่มีเงื่อนไขการลงทุนใกล้เคียงกับกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ เพียงแค่ไม่มีเงินสมทบในส่วนของนายจ้าง แต่มีนโยบายการลงทุนให้เลือกหลากหลาย สามารถเลือกลงทุนได้ตามความเหมาะสมของแต่ละคน

ใครที่เอาเงินออก แนะนำให้นำเงินจำนวนนี้มาลงทุนในกองทุนรวมเพื่อการเลี้ยงชีพ (RMF) ให้เต็มสิทธิ หรือลงทุนในกองทุนรวมทั่วไปที่มีนโยบายตามความเสี่ยงที่รับได้ อย่าได้เผลอไผลใช้เงินจนหมด และอย่าลืมว่า ไม่ว่าจะเลือกแบบไหน เมื่อระยะเวลาการลงทุนคงเหลือลดน้อยลง ก็ควรปรับพอร์ตการลงทุนตามความเสี่ยงที่ลดลงของตัวเองด้วย