กองทุนบัวหลวงชี้การลงทุนกลุ่มกองทุนอสังหาฯ และโครงสร้างพื้นฐานมีแนวโน้มโตสดใส

กองทุนบัวหลวงชี้การลงทุนกลุ่มกองทุนอสังหาฯ และโครงสร้างพื้นฐานมีแนวโน้มโตสดใส

นายพรชลิต พลอยกระจ่าง รองกรรมการผู้จัดการ Head of Real Estate & Infrastructure Investment  บริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุนรวม บัวหลวง จำกัด (กองทุนบัวหลวง) เปิดเผยว่า การลงทุนในกลุ่มกองทุนอสังหาริมทรัพย์ (PFPO) ทรัสต์เพื่อการลงทุนในอสังหาริมทรัพย์ (REIT) และกองทุนรวมโครงสร้างพื้นฐาน (IFF) มีแนวโน้มขยายตัวเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง อันเป็นผลจากทิศทางอัตราดอกเบี้ยที่ยังอยู่ในระดับต่ำ ทำให้นักลงทุนสนใจเข้ามาลงทุนในกองทุนกลุ่มนี้ ซึ่งให้ผลตอบแทนที่ดีกว่าอัตราดอกเบี้ยเงินฝากธนาคาร ทั้งยังจ่ายเงินปันผลเฉลี่ย 6-7% สูงกว่าบริษัทจดทะเบียนที่จ่ายเงินปันผลเฉลี่ย 3-4%

ขณะที่ บริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุนรวม (บลจ.) ต่างๆ ก็จัดตั้งกองทุนรวมมาลงทุนซื้อสินทรัพย์ทางเลือกประเภทนี้ ซึ่งจะเป็นผลดีกับตลาดโดยรวมของกลุ่มธุรกิจประเภทนี้เพิ่มขึ้นไปอีก

“หากเรามองดูการไปซื้ออสังหาริมทรัพย์ เมื่อเทียบกับการซื้อสินทรัพย์ประเภทนี้ จะเห็นว่า ใช้เงินต่างกัน เช่น การจะซื้อคอนโดมีเนียมในแต่ละครั้ง ใช้เงิน 2-3 ล้านบาท และก็ต้องไปกู้ยืมเงินเพื่อซื้อด้วย แต่ว่าหากเรานำเงินที่มีไปซื้อกองทุนกลุ่มนี้ จะได้ผลตอบแทนที่ดีกว่า สภาพคล่องดีกว่า ความเสี่ยงก็น้อยกว่าด้วยเช่นกัน เพราะตลาดอสังหาริมทรัพย์ เผชิญภาวะอุปทานล้นตลาดค่อนข้างมาก การลงทุนในอสังหาริมทรัพย์แล้วทำกำไรได้ จึงเป็นเรื่องยากกว่าเดิม และกว่าจะขายอสังหาริมทรัพย์ออกได้ก็ไม่ง่ายเหมือนซื้อขายกองทุนด้วย”

สำหรับภาพรวมตลาดกองทุนทั้ง 3 ประเภทนี้ ในช่วงครึ่งปีแรก 2562 ที่ผ่านมา มีมูลค่ารวมกันกว่า 7.9 แสนล้านบาท เพิ่มขึ้นเกือบ 12% จากสิ้นปีก่อน ซึ่งมีมูลค่าตลาดกว่า 710,000 ล้านบาท และคิดเป็น 4.7% ของมูลค่าตลาดรวมตลาดหลักทรัพย์ฯ โดยในมูลค่าตลาดรวม 3 กองทุนนั้น เป็นกองทุนรวมอสังหาริมทรัพย์ และทรัสต์เพื่อการลงทุนในอสังหาริมทรัพย์ 55% ส่วนอีก 45% เป็นกองทุนรวมโครงสร้างพื้นฐาน

ขณะเดียวกัน ในช่วงครึ่งแรกของปี 2562 ที่ผ่านมา พบว่า มีกองทุนทั้ง 3 ประเภทนี้อยู่ในตลาดรวม 67 กอง เพิ่มขึ้นจากเมื่อปี 2557 ที่มีอยู่ 59 กอง โดยจำนวนกองทุนรวมอสังหาริมทรัพย์มีแนวโน้มลดลงต่อเนื่อง จากการที่กองทุนประเภทนี้ไม่สามารถขยายขนาดได้ตามเกณฑ์ของสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) ทำให้บางกองทุนเลือกที่จะปล่อยให้กองทุนครบอายุและปิดตัวไป อีกส่วนหนึ่งเลือกที่จะเปลี่ยนจากกองทุนรวมอสังหาริมทรัพย์ไปเป็นทรัสต์เพื่อการลงทุนในอสังหาริมทรัพย์ โดยเพิ่มสินทรัพย์ใหม่ๆ เข้าไป

นายพรชลิต กล่าวเพิ่มเติมว่า ปัจจุบัน กองทุนบัวหลวง บริหารกองทุน 3 ประเภทนี้อยู่รวมกัน 5 กอง อย่างไรก็ดี ภายในสิ้นปี 2562 นี้ จะเพิ่มขึ้นเป็น 7 กอง โดย 2 กองใหม่ที่จะเพิ่มเข้ามานั้น ได้แก่ กองทุนรวมโครงสร้างพื้นฐานโรงไฟฟ้า ซุปเปอร์ เอนเนอร์ยี (SUPEREIF) ซึ่งจะเปิดเสนอขายหน่วยลงทุนให้ประชาชนทั่วไปเป็นครั้งแรก (IPO) ในระหว่างวันที่ 22-26 ก.ค. และ 30-31 ก.ค. นี้ รวมถึงทรัสต์เพื่อการลงทุนในสิทธิการเช่าอสังหาริมทรัพย์ บัวหลวง เค.อี. รีเทล (BKER) ซึ่งอยู่ระหว่างยื่นไฟล์ลิ่ง กับ สำนักงานก.ล.ต.