กองทุนรวมโครงสร้างพื้นฐานโรงไฟฟ้า ซุปเปอร์ เอนเนอร์ยี (SUPEREIF) ที่กำลังเปิดขาย IPO อยู่ในช่วงวันที่ 22-31 ก.ค. นี้ จะอยู่ภายใต้การบริหารจัดการของกองทุนบัวหลวง ที่ปัจจุบันบริหารจัดการกองทุนรวมโครงสร้างพื้นฐานอยู่ทั้งหมด 3 กองทุน จากทั้งหมด 7 กองทุนในอุตสาหกรรม และเมื่อนับรวมกองทุน SUPEREIF แล้ว จะส่งผลให้กองทุนบัวหลวงมีกองทุนรวมโครงสร้างพื้นฐานบริหารทั้งหมด 4 กองทุน จาก 8 กองทุนในอุตสาหกรรม หรือครึ่งหนึ่งเลยก็ว่าได้
วันนี้ กองทุนบัวหลวง จะมาเล่าเรื่องราวเพิ่มเติมของโรงไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์ให้ทุกคนได้รับทราบ ผ่านมุมมองที่ได้จากการสัมภาษณ์ คุณจอมทรัพย์ โลจายะ ประธานคณะกรรมการ บริษัท ซุปเปอร์ เอนเนอร์ยี คอร์เปอเรชั่น จำกัด(มหาชน) หรือ SUPER ซึ่งเป็นบริษัทแม่ของผู้ขายทรัพย์สินให้กองทุน และจะเป็นบริษัทที่เข้ามาทำหน้าที่ดูแลสินทรัพย์ของกองทุนนี้ด้วย
คุณจอมทรัพย์ กล่าวว่า โรงไฟฟ้าทั้งหมด 19 แห่งที่กองทุน SUPEREIF จะเข้าลงทุนในรายได้สุทธินั้น ล้วนเป็นโรงไฟฟ้าที่ดำเนินการเชิงพาณิชย์แล้ว โดยมีกำลังการผลิตรวม 118 เมกกะวัตต์ ซึ่งไฟฟ้าที่ผลิตได้ทั้งหมดของโรงไฟฟ้าทั้ง 19 แห่ง มีสัญญาซื้อขายไฟฟ้ากับการไฟฟ้านครหลวง (กฟน.) และการไฟฟ้าส่วนภูมิภาค (กฟภ.) ด้วยราคาคงที่ 5.66 บาทต่อหน่วย ตลอดระยะเวลาสัญญาซื้อขาย ซึ่งมีอายุสัญญาเฉลี่ยคงเหลือประมาณ 22 ปี
การจำหน่ายไฟฟ้านั้น ไม่ได้เคลื่อนไหวไปตามสภาวะเศรษฐกิจ เพราะทั้งกฟน. และกฟภ. ซึ่งเป็นคู่สัญญาของโรงไฟฟ้า รับซื้อไฟฟ้าทั้งหมดที่ผลิตได้ ด้วยเหตุนี้จึงเป็นที่มาว่า SUPEREIF น่าจะทำให้นักลงทุนมีโอกาสรับรายได้ที่สม่ำเสมอและมั่นคงได้
ทั้งนี้ ปัจจุบัน SUPER มีกำลังการผลิตไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์ในประเทศไทย ทั้งสิ้น 777 เมกกะวัตต์ ซึ่งโรงไฟฟ้าของบริษัทลูกรวม 19 แห่ง ที่ SUPEREIF จะเข้าลงทุนในรายได้สุทธิ ซึ่งมีกำลังการผลิต 118 เมกกะวัตต์ จึงคิดเป็น 1 ใน 6 ของกำลังไฟฟ้าทั้งหมดที่ SUPER ผลิตได้
คุณจอมทรัพย์ กล่าวว่า แนวโน้มการใช้พลังงานแสงอาทิตย์ในประเทศไทยนั้นยังมีโอกาสเติบโตได้อีกมาก ทั้งจากการที่ภาครัฐมีโครงการโซลาร์ประชาชน 10,000 เมกกะวัตต์ หรือโครงการที่เปิดโอกาสให้ประชาชนจำหน่ายไฟฟ้าส่วนเกินที่ผลิตได้จากพลังงานแสงอาทิตย์คืนให้การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) การไฟฟ้านครหลวง (กฟน.) และการไฟฟ้าส่วนภูมิภาค (กฟภ.)
นอกจากนี้ยังเป็นผลพวงจากการมีโครงการ Private PPA หรือ Private Power Purchase Agreement ที่เปิดโอกาสให้หน่วยงานเอกชนทำสัญญาซื้อขายไฟฟ้ากันหน่วยงานเอกชนด้วยกันได้โดยตรง ซึ่งคาดว่า โครงการโซลาร์ประชาชน และ Private PPA จะส่งผลให้ตลาดการจำหน่ายไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์เติบโตได้อีก 30-40% ขึ้นไปในช่วงต่อจากนี้
ขณะที่ ความเสี่ยงของโรงไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์นั้น ก็คือ ภัยธรรมชาติ เช่น อุทกภัย เพราะในการดำเนินการโรงไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์ เมื่อตั้งแผงโซลาร์แล้วก็ผลิตไฟฟ้าจ่ายเข้ากริดได้ทันที อย่างไรก็ดีในเรื่องความเสี่ยงนี้ โรงไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์มีการทำประกันเพื่อปิดความเสี่ยงจากภัยธรรมชาติเอาไว้แล้ว
“ปัจจุบันประเทศไทยใช้พลังงานแสงอาทิตย์ประมาณ 3,000-4,000 เมกกะวัตต์ หรือคิดเป็น 10% ของพลังงานไฟฟ้าทั้งหมดที่ใช้ ที่ผ่านมารัฐบาลเคยวางแผนไว้ว่าจะเพิ่มสัดส่วนการใช้พลังงานสะอาดทุกรูปแบบให้เป็น 30% ของการใช้พลังงานไฟฟ้าทั้งประเทศ ดังนั้นสัดส่วนการใช้พลังงานแสงอาทิตย์ ซึ่งเป็นหนึ่งในพลังงานสะอาดย่อมมีโอกาสเติบโตอีกแน่นอน” คุณจอมทรัพย์ กล่าว
ด้านภาพรวมการเติบโตของการใช้ไฟฟ้าในไทยนั้น คุณจอมทรัพย์ ระบุว่า ส่วนหนึ่งเป็นการเติบโตตามการขยายตัวของผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ (จีดีพี) ซึ่งก็หมายถึงเติบโตล้อไปกับเศรษฐกิจ ขณะที่อีกส่วนที่จะทำให้เติบโต จะมาจากการเปลี่ยนเทคโนโลยีผลิตไฟฟ้าจากวิธีเดิมๆ คือ จากที่เคยใช้ทรัพยากร เช่น น้ำมันเตา ถ่านหิน ก๊าซธรรมชาติ ก็จะหันมาใช้พลังงานสะอาด ผ่านการใช้เทคโนโลยีในการผลิตไฟฟ้า มีทั้งพลังงานลม แสงอาทิตย์ และไฮโดรเจน
ในกลุ่มพลังงานสะอาดทั้งหมดนั้น พลังงานแสงอาทิตย์มีต้นทุนถูกที่สุด และเชื่อว่าในอนาคตเทคโนโลยีก็จะพัฒนาดีขึ้นไปอีก เห็นได้ชัดจากในอดีตที่แผงโซลาร์เซลล์ เคยผลิตไฟฟ้าได้ 250 กิโลวัตต์ต่อแผง ปัจจุบันก็ผลิตได้ 380-400 กิโลวัตต์ต่อแผงแล้ว จึงน่าจะเห็นการเติบโตที่มาจากการเปลี่ยนมาใช้ไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์ได้ใน 2-3 ปีข้างหน้า