น.ส.ศิรารัตน์ อรุณจิตต์
Fund Management
ตลาด Green Bond มีความเติบโตอย่างมากในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมา โดยในปี 2018 มีมูลค่าประมาณ 5.8 แสนล้านดอลลาร์สหรัฐ เติบโตถึง 4 เท่าจากปี 2014 และในปี 2020 ที่จะถึงมีการคาดการณ์ว่า มูลค่าตลาด Green Bond จะสามารถทะลุ 1 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐ
แรงสนับสนุนสำคัญนอกเหนือจากความใส่ใจต่อสิ่งแวดล้อมและการตระหนักถึงปัญหาต่างๆ จากนักลงทุนและผู้ออกตราสารแล้ว ยังมีแรงขับเคลื่อนอีกส่วนหนึ่งจากการจัดทำเป้าหมายเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืน (Sustainable Development Goals –SDGs) ขององค์การสหประชาชาติ เพื่อมุ่งหวังจะช่วยแก้ปัญหาที่โลกกำลังเผชิญอยู่ อาทิเช่น ความยากจน ความไม่เท่าเทียม สภาวะโลกร้อน และสันติสุข โดยวางเป้าหมายว่าจะทำสำเร็จได้ภายในปี 2030
แรงตื่นตัวในเรื่องดังกล่าวได้มีเพิ่มมากขึ้นทั้งจากภาครัฐและภาคเอกชน ไม่ว่าจะเป็นการเน้นการทำนโยบายด้าน ESG การรณรงค์ด้านสิ่งแวดล้อม ป้องกันการเกิดมลภาวะ การแก้ปัญหาสภาพวิกฤติทางภูมิอากาศ ขณะที่ทางด้านการลงทุนก็ได้มีการออกตราสารหนี้แบบเฉพาะเพื่อนำเงินทุนไปใช้ในโครงการที่มุ่งพัฒนาและแก้ปัญหาด้านสิ่งแวดล้อมและสังคม ทั้ง Green Bond / Social Bond / Sustainability Bond จากทั้งภาครัฐและเอกชน
ในแง่ของภาครัฐนั้น ได้มีการออกตราสารหนี้ที่เรียกว่า “Sovereign Green Bond” ซึ่งในปี 2016 มีสัดส่วนเพียง 1% ของมูลค่า Green Bond ทั้งหมด แต่ในระยะเวลาเพียง 3 ปี สัดส่วนดังกล่าวกลับเพิ่มขึ้นเป็นกว่า 10% แสดงให้เห็นถึงการขยายตัวที่ค่อนข้างสูงและรวดเร็ว ด้วยภาครัฐเล็งเห็นถึงประโยชน์ของการออกตราสารหนี้ดังกล่าว อาทิเช่น บ่งชี้กลยุทธ์การพัฒนาประเทศได้ชัดเจน สามารถดึงดูดนักลงทุนใหม่ๆ เข้ามา สร้างสรรค์การเกิด green markets ภายในประเทศ เป็นต้น ซึ่งผู้ลงทุนใน Sovereign Green Bond ส่วนใหญ่จะเป็นกลุ่มกองทุน ประกัน กองทุนบำเหน็จบำนาญ ธนาคารกลาง และธนาคารพาณิชย์
ในแง่ของวัตถุประสงค์ของการออก Sovereign Green Bond ส่วนใหญ่แล้วจะนำเงินทุนประมาณครึ่งหนึ่งไปใช้ในโครงการเพิ่มประสิทธิภาพด้านพลังงานและการขนส่ง ซึ่งใกล้เคียงกับวัตถุประสงค์ของผู้ออกที่เป็นภาคเอกชน แต่สิ่งที่จะแตกต่างกันคือ ภาครัฐจะมีแนวโน้มที่จะลงทุนเป็นสัดส่วนที่สูงกว่าภาคเอกชนในโครงการเกี่ยวกับการเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศที่กำลังเป็นที่กังวลไปทั่วโลก รวมถึงบางประเทศจะลงทุนในโครงการด้านเกษตรกรรม และการท่องเที่ยวเชิงอนุรักษ์อีกด้วย
ปัจจุบันประเทศที่ออก Sovereign Green Bond ได้มีการกระจายไปในหลายภูมิภาคทั่วโลก มิได้กระจุกอยู่แต่ในยุโรปอย่างที่ผ่านมา ยกตัวอย่างเช่น ประเทศแรกในกลุ่ม “อันดับความน่าเชื่อถือสูงสุด AAA” ที่ออก Sovereign Green Bond คือ เนเธอแลนด์ ซึ่งเพิ่งออกไปเมื่อเดือนพฤษภาคมที่ผ่านมา และได้รับการตอบรับจากนักลงทุนอย่างล้นหลาม โดยมีอายุตราสาร 21 ปี ด้วยอัตราดอกเบี้ยสกุลยูโรที่ 0.5%
ประเทศแรกในกลุ่ม “ละตินอเมริกา” ที่ออก Sovereign Green Bond คือ ชิลี ได้เสนอขายไปเมื่อเดือนมิถุนายนที่ผ่านมา ปรากฏว่ามีนักลงทุนจับจองสูงถึงเกือบ 13 เท่า โดยมีอายุตราสาร 31 ปี ด้วยอัตราดอกเบี้ยสกุลดอลลาร์ที่ 3.53% ซึ่งเป็นอัตราดอกเบี้ยที่ต่ำที่สุดเมื่อเทียบในกลุ่มประเทศตลาดเกิดใหม่
ประเทศแรกในกลุ่ม “เอเชีย” ที่ออก Sovereign Green Bond คือ อินโดนีเซีย ด้วยมูลค่า 1.25 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ นับเป็น Sovereign Green Bond ที่ใหญ่ที่สุดของกลุ่มตลาดเกิดใหม่ และมีนักลงทุนสนใจลงทุนสูงมาก ส่งผลให้อัตราดอกเบี้ยรุ่นอายุ 5 ปีที่ออกมา จากประมาณการณ์ที่ 4.05% ลดลงมาอยู่ที่ 3.75% เท่านั้น
ปฏิเสธไม่ได้เลยว่า ปัจจุบันนักลงทุนมิได้แสวงหาแต่ผลตอบแทนที่เป็นตัวเลขเท่านั้น แต่ยังพิจารณาถึงจุดประสงค์ของการใช้แหล่งเงินทุนของผู้ออกตราสารด้วย ดังจะเห็นได้จากข้างต้นว่าความต้องการลงทุนใน Green Bond มีจำนวนเพิ่มมากขึ้น และแนวโน้มต่อไปในอนาคตคาดว่า ตลาด Green Bond จะยังคงได้รับการตอบรับจากนักลงทุนเพิ่มมากขึ้น ช่วยสนับสนุนให้เกิดสภาพคล่องเพิ่มขึ้น และสามารถใช้เป็นตราสารหนึ่งในการกระจายพอร์ตการลงทุน
ในแง่ของผู้ออกตราสารเองสามารถที่จะออกตราสารที่มีอายุยาวและต้นทุนต่ำกว่าตราสารทั่วไป เพราะได้รับสิทธิประโยชน์ เช่น ในประเทศไทย สำนักงาน ก.ล.ต. ได้ยกเว้นค่าธรรมเนียมการยื่นคำขออนุญาตเสนอขายตราสารหนี้ Green Bond / Social Bond / Sustainability Bond ตั้งแต่วันที่ 17 พฤษภาคม 2019 จนถึงวันที่ 31 พฤษภาคม 2020
ขณะเดียวกันในแง่ของผู้ลงทุน นอกจากผลตอบแทนที่ได้รับแล้ว ยังเป็นการกระจายการลงทุนของพอร์ตไปยังสินทรัพย์ที่มีความเสี่ยงต่ำ มีความผันผวนของราคาต่ำเมื่อเทียบกับตราสารหนี้ทั่วไป อีกทั้งยังเกิดความสบายใจและมั่นใจว่าเงินที่นำไปลงทุนได้นำไปใช้ในการป้องกันและแก้ปัญหาสภาพแวดล้อมที่โลกเรากำลังเผชิญอยู่ ก่อให้เกิดความยั่งยืนและมั่นคงในระยะยาวต่อไป