ไชน่าเดลี รายงานว่า ธนาคารจีนจะปฏิรูปโครงสร้างอัตราดอกเบี้ยที่สำคัญ ส่งผลให้บริษัทจีนมีต้นทุนกู้ยืมต่ำลง โดยมีผลวันอังคารนี้เป็นต้นไป ซึ่งเป็นการทำเพื่อรักษาโมเมนตัมเศรษฐกิจ ท่ามกลางสงครามการค้าระหว่างสหรัฐกับจีน
นักวิเคราะห์ ระบุว่า การปฏิรูปอัตราดอกเบี้ยนี้จะทำให้ต้นทุนทางการเงินสำหรับผู้ประกอบธุรกิจขนาดเล็ก บริษัทเอกชนลดลง ทั้งยังส่งเสริมการลงทุนในภาคการผลิตด้วย
ธนาคารกลางจีน เปิดเผยนโยบายออกมาช่วงสุดสัปดาห์ที่ผ่านมา โดยระบุว่า จะมีการแนะนำอัตราดอกเบี้ยอ้างอิงใหม่ ซึ่งจะเป็นอัตราดอกเบี้ยเงินกู้ สำหรับให้ธนาคารนำเสนอแก่ลูกค้าชั้นดีของพวกเขา เพื่อเป็นการตั้งอัตราดอกเบี้ยเงินกู้ที่จะคิดกับภาคธุรกิจและภาคครัวเรือน โดยจะนำมาแทนที่อัตราดอกเบี้ยอ้างอิงก่อนหน้านี้ ที่ใช้อัตราดอกเบี้ยเงินกู้ 1 ปี
การประกาศครั้งนี้มีนัยสำคัญต่อตลาดจีน เพราะเป็นการปฏิรูปโครงสร้างอัตราดอกเบี้ยครั้งแรกในรอบทศวรรษ โดยธนาคารกลาง เปิดเผยผ่านแถลงการณ์ว่า อัตราดอกเบี้ยอ้างอิงใหม่จะเริ่มใช้วันอังคารนี้ โดยธนาคารพาณิชย์ 18 แห่ง ทั้งธนาคารของรัฐ ธนาคารของเมือง ธนาคารในท้องถิ่น และธนาคารต่างประเทศ จะรายงานอัตราดอกเบี้ยเงินกู้อ้างอิงทุกเดือน
นักวิเคราะห์ คาดการณ์ว่า อัตราดอกเบี้ยเงินกู้อ้างอิงครั้งแรกที่ออกมาจะต่ำกว่าอัตราปัจจุบัน ซึ่งใช้อัตราดอกเบี้ยเงินกู้อ้างอิง 1 ปี อยู่ที่ 4.35% โดยอัตรานี้ใช้มาตั้งแต่เดือน ส.ค. 2015
ในแถลงการณ์ ระบุว่า ธนาคารพาณิชย์ได้รับอนุญาตให้ใช้อัตราดอกเบี้ยลอยตัวได้ ในเปอร์เซ็นต์สูงกว่าดอกเบี้ยเงินกู้ระยะกลาง ของธนาคารกลาง ซึ่งเป็นต้นทุนที่ธนาคารพาณิชย์จ่ายให้เงินที่กู้ยืมจากธนาคารกลาง โดยขณะนี้อยู่ที่ 3.3%
Sheng Songcheng ที่ปรึกษาธนาคารกลางจีน และอดีตหัวหน้าฝ่ายสถิติธนาคารกลางจีน กล่าวว่า การปฏิรูปนี้จะช่วยรักษาอัตราดอกเบี้ยเงินกู้ให้อยู่ในระดับต่ำ อีกทั้งทำให้ธนาคารกลางจีนใช้ระบบอัตราดอกเบี้ยได้มีประสิทธิภาพมากขึ้น ผ่านการซื้อและขายเครื่องมือทางการเงินในตลาดเปิด เหมือนที่ธนาคารกลางตะวันตกใช้นโยบายการเงินผ่านช่องทางนี้
Pan Xiangdong หัวหน้านักเศรษฐศาสตร์ บริษัทหลักทรัพย์ นิว ไทม์ส กล่าวว่า การปฏิรูปภาษีครั้งนี้คาดว่าจะส่งผลต่อภาคครัวเรือนโดยช่วยให้อัตราดอกเบี้ยเงินกู้ซื้อบ้านต่ำลง และเป็นการอำนวยความสะดวกด้านสินเชื่อระยะยาวให้กับธุรกิจขนาดเล็ก ธุรกิจเอกชน