โดย…ศรศักดิ์ สร้อยแสงจันทร์
ผู้เชี่ยวชาญด้านการวางแผนทางการเงิน
BF Knowledge Center
กองทุนรวมเป็นสินทรัพย์ทางการเงินที่มีความหลากหลายทั้งนโยบายการลงทุน ความเสี่ยง และผลตอบแทน การลงทุนในกองทุนรวมให้ได้ผลสำเร็จ นักลงทุนควรต้องศึกษาทำความเข้าใจข้อมูลต่างๆ ให้ชัดเจน โดยพิจารณาความเหมาะสมของแต่ละคน ทั้งนี้ มีข้อคิดที่ฝากไว้เป็นสิ่งที่ควรหลีกเลี่ยงเมื่อลงทุนในกองทุนรวม
1.ลงทุนโดยไร้เป้าหมาย
ถ้าถามถึงเป้าหมาย นักลงทุนบางท่านคงตอบว่าอยากได้กำไร มากๆ และเร็วๆ บางท่านอาจตอบว่ากำไรไม่ต้องมากก็ได้ แต่ขอให้ไม่ขาดทุน การตั้งเป้าหมายการลงทุนที่ดีควรตอบโจทย์ชีวิตของแต่ละคน เช่น ลงทุนเพื่อออมไว้ใช้ยามเกษียณ ลงทุนเพื่อสร้างความมั่งคั่ง หรือลงทุนเพื่อสร้างครอบครัว(ซื้อบ้าน/รถ ทุนการศึกษาลูก) โดยต้องกำหนดจำนวนเงินที่ต้องการใช้ ระยะเวลาที่ลงทุน พิจารณาประกอบกับจำนวนเงินที่ใช้ลงทุน ระดับความเสี่ยงที่ยอมรับได้ จึงจะนำไปสู่แผนการลงทุนให้ได้ผลตอบแทนที่จะบรรลุเป้าหมายที่ต้องการ และยังทำให้นักลงทุนสามารถติดตามทบทวนผลที่ได้รับเพื่อปรับเปลี่ยนแผนการลงทุนได้
เป้าหมายและแผนลงทุนจะเป็นตัวกำหนดสินทรัพย์ควรที่ลงทุน เช่น กองทุนตราสารหนี้ กองทุนหุ้น กองทุนผสม หรือกองทุนอสังหาริมทรัพย์ หากไร้ซึ่งเป้าหมาย การลงทุนจะไร้ทิศทาง ใครชักชวนว่ากองทุนไหนดีก็ซื้อลงทุนตามคำแนะนำไป โดยไม่รู้ว่ากองทุนนั้นนำพาให้ไปสู่เป้าหมายได้หรือไม่ และจำนวนเงินที่ลงทุนในแต่ละกองทุนเหมาะสมกับเป้าหมายหรือระดับความเสี่ยงที่รับได้หรือไม่
2.ซื้อขายกองทุนแบบเล่นหุ้น
นักลงทุนส่วนมากมักลงทุนในกองทุนหุ้น โดยใช้ความคุ้นเคยจากการเล่นหุ้น นั่นคือซื้อกองทุนเมื่อคาดว่าตลาดหุ้นจะขึ้นและรีบขายออกเมื่อมีกำไร หรือขายตัดขาดทุนเมื่อหุ้นลง โดยหาจังหวะซื้อๆ ขายๆ ตามาภาวะตลาด เพราะเห็นว่ามูลค่าหน่วยลงทุน (NAV) ปรับตัวขึ้นลงตามดัชนีตลาดหลักทรัพย์ จึงพยายามหาจังหวะซื้อขายทำกำไรตามรอบ ซึ่งคงไม่ผิดแปลกอะไรหากเป็นความชอบของนักลงทุน แต่สิ่งที่ลืมนึกถึงก็คือค่าใช้จ่ายของกองทุนซึ่งเป็นต้นทุนที่สูงกว่า เช่น ค่าธรรมเนียมการจัดการกองทุน ที่นักลงทุนไม่ต้องเสียหากลงทุนในหุ้นเอง ค่าธรรมเนียมการขาย/ซื้อคืนกองทุนซึ่งสูงกว่าค่าธรรมเนียมซื้อขายหุ้นของโบรกเกอร์มาก (ยกเว้น กองทุน ETF ที่ไม่เก็บค่าธรรมเนียมการขาย/ซื้อคืน) ยังไม่นับว่านักลงทุนอาจซื้อขายผิดจังหวะทำให้ขาดทุน
ในขณะที่หลายกองทุน หากถือลงทุนระยะยาว 3-5 ปีแล้วได้ผลตอบแทนที่ดีกว่าผลตอบแทนของตลาดหลักทรัพย์ เพราะกองทุนถูกออกแบบมาให้เป็นการลงทุนระยะยาวสำหรับผู้ที่ไม่มีความรู้ความชำนาญในตลาดหุ้น ผู้จัดการกองทุนจึงคัดเลือกหุ้นที่มีปัจจัยพื้นฐานดีและถือลงทุนเพื่อหวังผลตอบแทนจากราคาหุ้นที่เพิ่มสูงขึ้นตามมูลค่าของบริษัทในระยาว มากกว่าการเก็งกำไรกับราคาที่ขึ้นลงในระยะสั้นจากปัจจัยที่ชั่วคราวซึ่งไม่ได้ส่งผลต่อสถานะและผลการดำเนินงานของกิจการ กองทุนหุ้นจึงไม่เหมาะสมกับการลงทุนระยะสั้น
3.ไล่ล่าหาผู้ชนะ
ปัจจุบันกองทุนรวมมีให้เลือกมากมายหลายร้อยกองทุน ทำให้นักลงทุนประสบความยากลำบากในการหาข้อมูลและศึกษาทำความเข้าใจอย่างครบถ้วน จึงพึ่งพาผู้แนะนำการลงทุนของสถาบันการเงินต่างๆ ซึ่งส่วนใหญ่นำเสนอกองทุนที่เป็นตัวแทนขายให้โดยไม่แนะนำกองทุนนอกสังกัด ในยุคนี้มีกูรูทางการเงินมากมายคอยแนะนำกองทุนเด่นที่น่าสนใจลงทุนโดยมีความเห็นประกอบ แต่ที่นักลงทุนนิยมมากที่สุดโดยใช้เป็นทางลัดหรือตัวช่วยในการตัดสินใจคือการจัดอันดับกองทุน ซึ่งใช้ผลการดำเนินงานที่ผ่านมาเป็นเกณฑ์ในการจัดอันดับ
ถึงแม้จะมีคำชี้แจงประกอบชัดเจนว่าเป็นผลการดำเนินงานในอดีตไม่สามารถยืนยันหรือรับประกันผลการดำเนินงานในอนาคต แต่นักลงทุนส่วนหนึ่งยังใช้เป็นข้อมูลในการตัดสินใจเลือกลงทุนในกองทุนที่ติดอันดับต้นๆ โดยใช้ตรรกะวิธีคิดที่ว่าในอดีตกองทุนเคยทำผลงานได้ดี ในอนาคตก็น่าจะทำผลงานได้ดีเช่นเดียว จึงเกิดพฤติกรรมไล่ซื้อกองทุนที่ติดอันดับต้นๆ ของแต่ละปี โดยไม่ได้มองย้อนกลับไปดูว่า กองทุนที่ได้อันดับดีๆ ในอดีตที่เคยลงทุนไว้นั้น ปัจจุบันยังให้ผลตอบแทนที่ดีอยู่หรือไม่ บางท่านเห็นว่าผลตอบแทนกองเดิมไม่ดีก็ขายทิ้ง ไปตามซื้อกองทุนที่อันดับดีในปีต่อๆ ไป
4.ปล่อยให้อารมณ์ครอบงำ
การลงทุนเป็นกิจกรรมหนึ่งของมนุษย์ซึ่งใช้ข้อมูล เหตุผลและตรรกะ ตามพื้นฐานความรู้และประสบการณ์ในการตัดสินใจ แต่บ่อยครั้งก็มีปัจจัยหรือสิ่งเร้าที่ทำให้นักลงทุนถูกครอบงำด้วยอารมณ์ เช่น ความโลภซึ่งทำให้กล้าเสี่ยงจนเกินไป จึงลงทุนในสินทรัพย์เสี่ยงมากกว่าระดับที่ยอมรับได้และไม่เป็นไปตามแผนการลงทุนที่วางไว้ หรือเกิดความหวาดกลัวในยามที่ตลาดหุ้นตก จึงตัดสินใจขายกองทุนหุ้นด้วยเกรงว่ามูลค่ากองทุนจะลดลงไปอีก
การเสพสื่อทั้งจากสื่อหลักและโซเชียลมีเดียที่มีอยู่มากมาย ซึ่งมักจะนำเสนอข้อมูลข่าวสารที่ใส่สีสรรเพื่อดึงดูดผู้รับสื่อ บางครั้งมีผลทางจิตวิทยาที่กระตุ้นให้นักลงทุนเกิดความฮึกเหิมหรือตกใจกลัวเกินจริง ทำให้ตัดสินใจลงทุนด้วยอารมณ์ ไม่อยู่บนพื้นฐานการวิเคราะห์ข้อมูลที่รอบด้านอย่างเป็นเหตุเป็นผล โดยมองข้ามธรรมชาติของตลาดทุนที่มีความผันผวนเป็นเรื่องปกติ
การป้องกันตัวให้พ้นจากการครอบงำของอารมณ์จึงอยู่ที่การวางแผนลงทุน การจัดสรรเงินลงทุนในสินทรัพย์ที่หลากหลาย เพื่อกระจายความเสี่ยงให้สอดคล้องกับเป้าหมายและความเสี่ยงที่เหมาะสมกับนักลงทุนแต่ละท่าน โดยต้องทำความเข้าใจลักษณะของสินทรัพย์หรือกองทุนแต่ละประเภทถึงความเสี่ยงต่างๆ และความผันผวน
เมื่อเข้าใจดีแล้วจึงลงทุนตามแผนที่ได้วางไว้โดยให้ความสนใจกับข่าวสารพอสมควร หลีกเลี่ยงการเสพข่าวรายวันรายชั่วโมง ไม่ให้ความสำคัญกับข้อมูลข่าวลือทางโซเชียลมีเดียที่ไม่ใช่สื่อหลักและไม่มีแหล่งอ้างอิงที่เชื่อถือได้
หวังว่าข้อคิดที่กล่าวมาข้างต้นจะช่วยให้นักลงทุนหลีกเลี่ยงผิดพลาดในการลงทุนกับกองทุนรวมได้