กองทุนแบบไหน? เหมาะกับวัยหลังเกษียณ
โดย…อรพรรณ บัวประชุม CFP®
ผู้เชี่ยวชาญด้านการวางแผนทางการเงิน
BF Knowledge Center
เผลอแป๊บๆ ก็ “กะ เษียณ” กันแล้ว เงินก้อนที่หามาทั้งชีวิตดูแล้วน่าจะเยอะพอ เราต้องรีบกิน รีบเที่ยว รีบใช้ในช่วงนี้ เพราะเรายังมีเรี่ยวแรง มีเวลาเหลือเฟือในการใช้จ่ายเงิน รีบใช้เองก่อนที่จะมีใครมาช่วยใช้… ถ้าทุกคนคิดกันอย่างนี้แล้วล่ะก็ ความสุขหลังเกษียณก็ดูเหมือนว่าจะไม่ Long lasting ซะแล้ว
ทางที่ดี เมื่อเกษียณแล้ว มีเงินก้อนออกมา เราต้องรู้ก่อนว่าเงินที่มีทั้งหมด จะทยอยใช้จ่ายกันอย่างไร ใช้จ่ายในแต่ละปี แต่ละเดือน แต่ละวันเท่าไหร่ ให้เงินต้นหดหายน้อยที่สุด หรืออีกมุมนึงคือ ทำยังไงให้เงินก้อนทำงานได้ด้วยตัวเอง ให้เติบโตขึ้น เพื่อให้ทันกับสิ่งที่เราต้องใช้จ่ายไปจนสิ้นสุดอายุขัย แล้วอะไรล่ะที่จะเป็นตัวช่วยในเรื่องเหล่านี้
- กองทุนรวมตลาดเงิน
ในเมื่อเราต้องกินต้องใช้กันทุกวัน ดังนั้น เงินที่จะนำไปลงทุนก็ต้องมีความแตกต่างกัน ในส่วนที่อยากนำเงินออกมาใช้จ่ายง่ายๆ และยังพอได้รับผลตอบแทนด้วย ก็คงหนีไม่พ้นกองทุนรวมตลาดเงิน ที่สามารถขายคืนได้ทุกวันทำการ และผลตอบแทนค่อยๆ ขยับขึ้นไปเรื่อยๆ อย่างช้าๆ ไม่ต้องวิตกกังวลว่าเงินต้นจะหายไหม แต่ก็แน่นอนว่าโอกาสในการรับผลตอบแทนสูงๆ ก็เป็นไปไม่ได้เช่นกัน เหมาะกับการคงเงินไว้สำหรับใช้จ่ายในช่วงสั้นๆ 3 เดือน ถึง 6 เดือน หรืออาจจะมีเอาไว้ประมาณ 1 ปี เพื่อสำรองสำหรับค่าใช้จ่ายที่จะเกิดขึ้นในอนาคตอันใกล้
- กองทุนรวมผสม
เพื่อให้เงินมีโอกาสงอกเงยมากขึ้น หรือแบ่งไว้เป็นเงินลงทุน แน่นอนว่ากองทุนรวมผสม จะต้องมีการผสมผสานกันไม่ว่าจะเป็นสินทรัพย์ประเภทตราสารหนี้ (พันธบัตร หุ้นกู้) ตราสารทุน (หุ้นในตลาดหลักทรัพย์) หรือการลงทุนในกองทุนรวมโครงสร้างพื้นฐาน หรือแม้แต่การลงทุนในสินทรัพย์ที่มีความเสี่ยงสูงขึ้น อย่างเช่น ทองคำ ดังนั้น การเลือกลงทุนในกองทุนผสมต้องดูนโยบายว่ามีสัดส่วนการลงทุนในสินทรัพย์อะไรเท่าไหร่ หรือเน้นลงทุนในอะไร จะได้เลือกลงทุนได้เหมาะสมมากขึ้นตามความเสี่ยงที่เราสามารถยอมรับได้
- กองทุนรวมตราสารทุน
หลายเสียงบอกไว้ว่า ไม่ควรลงทุนในกองทุนนี้เยอะมากนัก เพราะหากเกิดอะไรขึ้นกับการลงทุน ในขณะที่เราเองไม่สามารถหารายได้หลักได้อีก อาจส่งผลเสียกับการใช้ชีวิตหลังเกษียณ แต่ทั้งนี้ทั้งนั้น ไม่ใช่ว่าจะไม่สามารถลงทุนในกองทุนหรือสินทรัพย์เสี่ยงได้เลย ก็ยังสามารถลงทุนได้ เพียงแต่ว่าสัดส่วนการลงทุนในกองทุนที่มีความเสี่ยงสูงหรือสินทรัพย์ที่มีความเสี่ยงสูงนั้นอาจลดลง อย่างเช่น ก่อนเกษียณเคยลงทุนในกองทุนรวมตราสารทุน (กองทุนหุ้น) สูงมาก เช่นมีเงินลงทุน 5 ล้านบาท ลงทุนในกองทุนหุ้นและสินทรัพย์เสี่ยง 4 ล้านบาท และลงทุนในกองทุนตราสารหนี้ 1 ล้านบาท ก็หันกลับมาลดพอร์ตการลงทุนในกองทุนหุ้นและสินทรัพย์เสี่ยงลง โดยอาจทยอยลดการลงทุนเรื่อยๆ ทุกๆ 5 ปี ตามอายุของเราก็ได้ เพื่อเป็นการปรับสัดส่วนการลงทุน เช่น อายุ 60 ปี เหลือการลงทุนในกองทุนหุ้นและสินทรัพย์เสี่ยง 3.5 ล้าน ลงทุนในกองทุนตราสารหนี้ 1.5 ล้านบาท เมื่ออายุ 65 ปีก็ปรับสัดส่วนการลงทุนลงอีก เหลือการลงทุนในกองทุนหุ้นและสินทรัพย์เสี่ยง 3 ล้าน ลงทุนในกองทุนตราสารหนี้ 2 ล้าน และทยอยปรับลดทุกๆ 5 ปีไปเรื่อยๆ
ดังนั้น หากใครที่สามารถรับความเสี่ยงได้สูง ถึงแม้ว่าจะมีอายุที่มากขึ้นแต่ก็ยังอยากลงทุนในสินทรัพย์เสี่ยงก็ไม่ว่ากัน เพียงแค่ว่าเงินที่จะมาลงทุนในสินทรัพย์เสี่ยงนี้ จะต้องเป็นเงินที่เตรียมไว้สำหรับการลงทุนที่มีความเสี่ยงสูงจริงๆ มิเช่นนั้นแล้ว อาจจะต้องมากลุ้มกังวลใจ อันเกิดจากความไม่แน่นอนกับเงินลงทุนในช่วงท้ายของอายุ แต่ถ้าหากใครกังวล ตัดสินใจไม่ถูกไม่รู้จะเลือกลงทุนในกองทุนอะไร สัดส่วนเท่าไหร่ ก็อย่าลืมหันมามองกองทุนรวมผสม ที่เป็นกองทุนสำเร็จรูป ผสมผสานการลงทุนให้เราเรียบร้อยแล้ว เพียงแค่เราอย่าลืมดูนโยบายสักนิดว่าเขาลงทุนในอะไร เราสนใจลงทุนด้วยหรือเปล่า หากใช่ตรงใจเรา ก็เริ่มลงทุนกันได้เลยค่ะ เพื่อให้เงินทำงานหลังจากที่เราเกษียณจากงานที่ทำ