ซีเอ็นบีซี รายงานว่า ประเทศยักษ์ใหญ่เอเชีย ทั้งจีน ญี่ปุ่น และเกาหลีใต้ เป็นผู้นำผลักดันการใช้รถยนต์พลังงานไฮโดรเจน โดยคาดว่าจะผลิตออกมาหลายล้านคันใช้วิ่งบนท้องถนนในอีก 10 ปีข้างหน้า หรือคิดเป็นมูลค่าหลักพันล้านดอลลาร์สหรัฐ
จีน เป็นตลาดรถยนต์ที่ใหญ่ที่สุดในโลก มียอดขายรถยนต์ 28 ล้านคันต่อปี ซึ่งจีนตั้งเป้าหมายมีรถยนต์พลังงานไฮโดรเจนวิ่งบนท้องถนนกว่า 1 ล้านคันภายในปี 2030 แต่ปัจจุบันยังมีเพียง 1,500 คัน และส่วนใหญ่เป็นรถบัส ส่วนญี่ปุ่น เป็นตลาดรถยนต์ที่มียอดขายกว่า 5 ล้านคันต่อปี ต้องการมียอดขายรถยนต์พลังงานไฮโดรเจน 800,000 คัน จากเวลานี้อยู่ที่ 3,400 คัน ขณะที่ เกาหลีใต้ แม้มีขนาดตลาดรถยนต์ 1 ใน 3 ของญี่ปุ่น แต่ตั้งเป้าหมายมีรถยนต์พลังงานไฮโดรเจนวิ่งบนท้องถนน 850,000 คัน ภายในปี 2030 โดยสิ้นปีที่ผ่านมา ยังมียอดขายรถยนต์พลังงานไฮโดรเจน 900 คัน เท่านั้น
รถยนต์พลังงานไฮโดรเจน เป็นเทคโนโลยีอีกขั้น จากรถยนต์ไฟฟ้าที่เป็นเทคโนโลยีทางเลือกหลักในเวลานี้ ท่ามกลางความสำเร็จของเทสลาในการจำหน่ายรถยนต์หรู ซึ่งทั้งยอดขายและโควตาการผลิต ต่างถูกกำหนดโดยจีน นักวิเคราะห์มองว่า แม้รถยนต์พลังงานไฮโดรเจนไม่ได้มีความเหนือกว่าเทคโนโลยีเฉพาะใด แต่ ไฮโดรเจนเป็นแหล่งพลังงานสะอาดสำหรับรถยนต์ ด้วยเวลา และการปรับปรุงโครงสร้างพื้นฐานด้านการเติมเชื้อเพลิง จะทำให้รถยนต์พลังงานไฮโดรเจนเป็นที่ยอมรับมากขึ้น
ปัจจุบัน มีผู้ผลิตรถยนต์รายใหญ่ ผลิตรถยนต์พลังงานไฮโดรเจนจำหน่ายเชิงพาณิชย์แล้ว เช่น โตโยต้า มอเตอร์ เปิดตัวรถยนต์ซีดาน รุ่นมิไร ปลายปี 2014 แต่ยังมียอดขายทั่วโลกแค่ 10,000 คัน ฮุนได มอเตอร์ เปิดตัว รุ่นเนกโซ่ เดือน มี.ค. 2018 มียอดขายต่ำกว่า 2,900 คันทั่วโลก ขณะที่ รุ่น ทูซอน ที่เปิดตัวก่อนหน้านั้น มียอดขาย 900 คัน ฝั่ง ฮอนด้า มอเตอร์ มีรถยนต์พลังงานไฮโดรเจนไว้ให้เช่า และเดมเลอร์ เอจี ส่งมอบรถยนต์พลังงานไฮโดรเจนให้ลูกค้าองค์กรและภาครัฐจำนวนหนึ่ง
ทั้งนี้ มีความต้องการใช้รถยนต์พลังงานไฮโดรเจนมากขึ้นในกลุ่มรถบัส ทั้งโตโยต้า และฮุนได ต่างนำเสนอ และเริ่มจำหน่ายชิ้นส่วนยานยนต์ของรถยนต์พลังงานไฮโดรเจนให้ผู้ผลิตรถบัสแล้ว โดยเฉพาะผู้ผลิตในจีน โดยมีโรงงานผลิตในจีนหลายแห่งที่พัฒนารถบัสออกมาเอง เช่น บริษัท SAIC Motor ซึ่งเป็นบริษัทของรัฐ เป็นผู้ผลิตรถยนต์รายใหญ่ที่สุดของชาติ และ จีลี่ ออโต้ กรุ๊ป ซึ่งเป็นของ วอลโว่ คาร์ และโลตัส แบรนด์