“ตลาดทุน” ถือเป็นช่องทางสำคัญในการระดมทุนเพื่อขยายธุรกิจ รวมทั้งการลงทุนที่จะช่วยขับเคลื่อนเศรษฐกิจของประเทศให้เติบโตแข็งแกร่ง เมื่อต้นเดือน ก.ย. ที่ผ่านมา นับเป็นโอกาสอันดี ที่กองทุนบัวหลวง ร่วมเป็นส่วนหนึ่งขององค์กรในตลาดทุนไทย ให้การต้อนรับคณะผู้บริหารระดับสูงจากสภาแห่งชาติ สปป.ลาว พร้อมทั้งคณะผู้บริหารจากสำนักงานคณะกรรมการคุ้มครองหลักทรัพย์ (LSCO) สปป.ลาว ที่เดินทางมาศึกษางาน ทั้งร่วมแบ่งปันประสบการณ์ในด้านพัฒนาการตลาดทุน รวมถึงความสำเร็จของกองทุนโครงสร้างพื้นฐานในไทย เพื่อเป็นแนวทางในการปรับปรุงกฎหมายหลักทรัพย์ของ สปป.ลาวในอนาคต
ทีมงานกองทุนบัวหลวงยังได้รับเกียรติจาก ท่านนางสายสะหมอน จันทะจัก เลขาธิการ สำนักงานคณะกรรมการคุ้มครองหลักทรัพย์ (LSCO) สปป.ลาว องค์กรที่เปรียบได้กับสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) ของไทย เกี่ยวกับพัฒนาการของตลาดทุนของ สปป.ลาวด้วย
ท่านนางสายสะหมอน กล่าวถึงเหตุผลของการมาศึกษางานตลาดทุนของไทยว่า คณะฯ ขอแสดงความขอบคุณ บริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุนรวม บัวหลวง จำกัด หรือ กองทุนบัวหลวง เพราะครั้งนี้ พิเศษกว่าหลายครั้งที่ผ่านมา ด้วยเหตุหลักที่ LSCO นำสมาชิกสภาแห่งชาติของ สปป. ลาว เดินทางมาด้วย เนื่องจากในเวลาอันใกล้นี้ LSCO เตรียมเสนอกฎหมายหลักทรัพย์ฉบับปรับปรุงให้สภาแห่งชาติฯ พิจารณา ซึ่งสภาฯ จะเปิดประชุมในเดือน ต.ค. นี้
การมาศึกษางานที่กองทุนบัวหลวง ก็จะทำให้คณะฯ เข้าใจผลิตภัณฑ์ การบริหารจัดการกองทุน การจัดตั้งกองทุน และบริหารเงินที่ระดมทุนได้ชัดเจนยิ่งขึ้น ทั้งได้รับแนวคิดดีๆ นำไปใช้ในการวางแนวทางและนโยบายเพื่อรองรับต่อไป โดยเฉพาะการระดมทุนก่อสร้างโครงสร้างพื้นฐาน ซึ่งมีความจำเป็นต่อการพัฒนาประเทศ
สำหรับกฎหมายหลักทรัพย์ฉบับเดิม จัดตั้งขึ้นตั้งแต่ปี 2555 รวมเวลาที่ใช้กฎหมายเดิมกว่า 7 ปีแล้ว และไม่มีการปรับปรุงเลย ในขณะที่สภาพแวดล้อมของตลาดทุนเปลี่ยนแปลงไปมาก ดังนั้น จึงต้องปรับปรุงกฎหมายให้ตอบสนองความต้องการของตลาดทุนในปัจจุบัน อีกทั้ง LSCO ต้องการให้สมาชิกสภาแห่งชาติ ที่มีภารกิจหลายด้าน มีโอกาสทำความเข้าใจกับตลาดทุนมากขึ้น จึงเชิญมาร่วมดูงานในไทยด้วย เพื่อจะได้แสดงความคิดเห็น ประกอบการปรับปรุงกฎหมายหลักทรัพย์ของ สปป.ลาวต่อไป
ท่านนางสายสะหมอน กล่าวถึงบทบาทของ LSCO ในตลาดทุน สปป. ลาว ว่า ในช่วงที่ผ่านมา นับเป็นหน่วยงานที่มีบทบาทมากที่สุดในการพัฒนาตลาดทุน สปป. ลาว เพราะเป็นเจ้าภาพในการสร้างนิติกรรม เช่น ร่างกฎหมายว่าด้วยหลักทรัพย์ กฎระเบียบต่างๆ นอกจากนี้ ยังเป็นหน่วยงานที่ต้องดูแลด้านอุปทาน (Supply Side) เป็นเจ้าภาพประสานงานดึงบริษัทเข้ามาระดมทุน เพื่อให้มีผลิตภัณฑ์ที่มีคุณภาพเข้ามาซื้อขายในตลาดหลักทรัพย์ สปป. ลาวด้วย
“สปป.ลาวเป็นประเทศที่เศรษฐกิจยังมีขนาดเล็กอยู่ ผู้ประกอบการวิสาหกิจ ทั้งที่เป็นของภาครัฐและเอกชนก็ยังมีน้อย ขนาดธุรกิจยังไม่ใหญ่ และมองว่า มีหลายจุดในการดำเนินงานที่ต้องปรับปรุง เช่น การปฏิบัติตามมาตรฐานบัญชีสากล การดูแลเรื่องการกำกับดูแลกิจการที่ดี (Corporate Governance: CG) เพื่อให้ผลิตภัณฑ์ที่มาซื้อขายในตลาดหลักทรัพย์ สปป. ลาว มีคุณภาพ” เลขาธิการ LSCO สปป.ลาว กล่าว
LSCO ยังมีบทบาทในเรื่องนโยบายต่างๆ เช่น การให้สิทธิประโยชน์จูงใจ (Incentive) สำหรับบริษัทที่จะมาจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ รวมทั้งสำหรับคู่ค้าที่จะเข้ามาลงทุนในตลาดหลักทรัพย์ โดยก่อนหน้านี้ สปป.ลาว ก็ลดภาษีรายได้นิติบุคคลให้กับบริษัทที่จดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ 5% เป็นระยะเวลา 10 ปี
ขณะเดียวกัน LSCO พยายามเสนอให้รัฐบาล สปป.ลาว พิจารณาออกนโยบายเพิ่มเติมเพื่อส่งเสริมให้นักลงทุนเข้ามาลงทุนในตลาดหลักทรัพย์ภายในประเทศให้มากขึ้น ซึ่งเป็นเรื่องที่ดีๆ สำหรับช่วงที่ผ่านมา ที่ภาครัฐของ สสป.ลาว เล็งเห็นความสำคัญของตลาดทุนมากที่สุด โดยกำหนดยุทธศาสตร์พัฒนาตลาดทุนโดยเฉพาะ เนื่องจากพิจารณาเห็นว่า เป็นการสร้างช่องทางใหม่ในการให้วิสาหกิจเข้ามาระดมทุน
สปป.ลาว พร้อมมองหาความร่วมมือในอนาคต ไม่ว่าจะเป็น รูปแบบความร่วมมือ 2 ฝ่าย หลายๆ ฝ่าย หรือการร่วมมือในโครงการระดับสากล เพื่อสร้างช่องทางหรือกลไกในการสร้างทรัพยากรบุคคลให้กับตลาดทุน อาทิ ผู้ที่ทำงานใน LSCO ตลาดหลักทรัพย์ หรือบริษัทหลักทรัพย์ รวมทั้งการสร้างผู้เชี่ยวชาญ โดยในช่วง 8-9 ปีที่ผ่านมา สปป.ลาว ก็มีการร่วมมือกับภายนอกประเทศช่วยในการพัฒนาตลาดทุนอยู่มาก
ในส่วนภารกิจการให้ความรู้กับนักลงทุนนั้น ก็ถือเป็นอีกหนึ่งภารกิจสำคัญที่ LSCO ดำเนินการอยู่ เพราะเสาหลักในตลาดทุน ประกอบด้วย 4 เสา คือ ซัพพลายในตลาด ข้อบังคับและกฎหมาย การกำกับดูแล และนักลงทุน
ที่ผ่านมา LSCO ประสานงานกับตลาดหลักทรัพย์ บริษัทจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ รวมทั้งบริษัทที่คาดเข้ามาจดทะเบียนในนตลาดหลักทรัพย์ ร่วมมือกันให้ความรู้กับนักลงทุน ขณที่ LSCO เอง ก็มีช่องทางหลากหลายในการให้ความรู้กับผู้ลงทุน มีทั้งรายการโทรทัศน์ ยูทูบ เฟซบุ๊ก วารสาร หนังสือพิมพ์ เป็นต้น ขณะเดียวกัน จากประสบการณ์ที่ให้ความรู้มา 8-9 ปี พบว่า ประชาชนลาว เข้าใจตลาดทุนมากขึ้น ทั้งยังให้การสนับสนุนอย่างแข็งแกร่ง
ท่านนางสายสะหมอน กล่าวว่า ตลาดทุนของทุกประเทศ ต่างก็มีจุดแข็งและจุดอ่อนที่ควรปรับปรุงแตกต่างกันออกไป จุดแข็งของตลาดทุน สปป. ลาว คือ การเมืองที่มีเสถียรภาพ อยู่ในความสงบ ทำให้นักลงทุนเชื่อมั่นกับการนำเงินไปลงทุนในตลาดหลักทรัพย์ได้ อีกด้านหนึ่ง คือ รัฐบาลสนับสนุนการใช้ตลาดหลักทรัพย์ เป็นช่องทางระดมทุนอย่างเต็มที่ โดยพยายามพัฒนานโยบายที่จำเป็นในการพัฒนาและสนับสนุนตลาดทุน พร้อมให้ความสำคัญกับการมองปัญหาอุปสรรคที่มีอยู่รอบด้าน เพื่อเดินหน้าพัฒนาตลาดทุน สปป.ลาว ให้ดีขึ้นในอนาคต
สำหรับความท้าทายที่ตลาดทุน สปป.ลาวต้องพัฒนาเพิ่มเติม คือ ธุรกิจลาวยังมีขนาดเล็กอยู่ ต้องปรับปรุงเรื่องมาตรฐานบัญชี การกำกับดูแลกิจการที่ดี ส่วนอีกเรื่องที่สำคัญ คือ ฐานผู้ลงทุน เพราะเมื่อมีผลิตภัณฑ์ ก็ต้องมีผู้ซื้อ ซึ่งปัจจุบันตลาดหลักทรัพย์ สปป.ลาว มีผู้ลงทุนในหลักทรัพย์แล้ว แต่ยังขาดผู้ซื้อ-ขายหลักทรัพย์ หรือ เทรดเดอร์อยู่ ขณะที่ความท้าทายเรื่องสภาพแวดล้อมตลาดทุนที่เปลี่ยนแปลงรวดเร็ว ก็เป็นอีกปัจจัยที่ต้องจับตา
ในฐานะที่ LSCO เป็นผู้คุ้มครองหลักทรัพย์ ก็ต้องเร่งเพิ่มความรวดเร็ว และความเข้มแข็งในการดูแลตลาดทุนให้มากขึ้น ซึ่ง LSCO เชื่อมั่นว่า จากการร่วมมือแบบ 2 ฝ่ายกับ ก.ล.ต. ประเทศต่างๆ ในอาเซียน รวมทั้งความร่วมมือแบบหลายฝ่ายในกลุ่มประเทศสมาชิกอาเซียน และความร่วมมือในระดับสากล จะทำให้สามารถรับมือกับความท้าทายที่เผชิญอยู่ได้ ขณะเดียวกัน ความท้าทายเหล่านี้ก็จะได้รับการแก้ไขอย่างเหมาะสม สนับสนุนให้ตลาดทุน สปป.ลาว เป็นแหล่งจัดสรรเงินทุนเพื่อให้วิสาหกิจของประเทศพัฒนาได้ต่อไปในอนาคต
นี่คือ พัฒนาการของตลาดทุน สปป.ลาว ที่น่าจับตามองเป็นอย่างยิ่ง กองทุนบัวหลวง มีความยินดีที่มีโอกาสร่วมเป็นส่วนหนึ่งในการพัฒนาตลาดทุน สปป.ลาว ในครั้งนี้…