ธนาคารกลางมาเลเซียสั่งแบงก์รายงานรับมือความเสี่ยงจากสภาพอากาศ พร้อมเดินหน้าทำเกณฑ์มาตรฐาน

ธนาคารกลางมาเลเซียสั่งแบงก์รายงานรับมือความเสี่ยงจากสภาพอากาศ พร้อมเดินหน้าทำเกณฑ์มาตรฐาน

นิว สเตรทไทม์ส รายงานว่า Nor Shamsiah Mohamad Yunus ผู้ว่าการธนาคารกลางมาเลเซีย ออกมาระบุว่า สถาบันการเงินจะต้องรายงานการรับมือความเสี่ยงจากสภาพอากาศ และธนาคารกลางจะนำข้อมูลนี้ไปใช้ในการจัดทำเกณฑ์มาตรฐานในประเทศ ซึ่งถือว่าเศรษฐกิจมีขนาดใหญ่อันดับ 3 ในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้

ผู้ว่าการ ธนาคารกลางมาเลเซีย กล่าวว่า จากเหตุการณ์หมอกควันที่เกิดขึ้นในมาเลเซีย อินโดนีเซีย และสิงคโปร์ อันเป็นผลมาจากการเผาป่า เป็นสิ่งหนึ่งที่สะท้อนถึงความท้าทายด้านสิ่งแวดล้อมที่ประเทศกำลังเผชิญอยู่ ขณะที่ประเทศเศรษฐกิจหลักๆ ในปัจจุบัน ให้ความสำคัญกับเรื่องสภาพอากาศเป็นประเด็นผลกระทบโดยตรงต่อความมั่นคงทางการเงิน จึงมีเหตุผลเพียงพอที่ธนาคารกลางมาเลเซีย จะเดินไปในทิศทางเดียวกับธนาคารกลางอื่นๆ ทั่วโลก ในการให้ความสนใจอย่างจริงจังกับความเสี่ยงด้านสภาพอากาศ

ทั้งนี้ ผู้ว่าการ ธนาคารกลางมาเลเซีย ยังกล่าวอีกว่า ในรายงานฉบับใหม่จะขอให้สถาบันการเงิน แยกสินทรัพย์สีเขียวออกมาให้เสร็จสิ้นเพื่อจัดส่งกับคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์มาเลเซียและธนาคารโลก

“กรอบการทำงานนี้มีเป้าหมายเพื่อสนับสนุนข้อมูลประกอบการตัดสินใจและวิเคราะห์ความเสี่ยงที่มาจากสภาพอากาศเปลี่ยนแปลง ในกิจกรรมการระดมทุน กู้ยืม และลงทุน” Nor Shamsiah กล่าว

ธนาคารคาดว่าจะจัดทำร่างฉบับแรกเกี่ยวกับการจัดประเภทสินทรัพย์สีเขียวเสร็จได้ภายในสิ้นปีนี้เพื่อเข้าสู่กระบวนการรับฟังความคิดเห็นของอุตสาหกรรมต่อไป

เมื่อปีที่ผ่านมา หน่วยงานด้านการพัฒนาขององค์การสหประชาชาติ ออกรายงานระบุว่า ความสูญเสียทางเศรษฐกิจที่มาจากภัยพิบัติธรรมชาติในเอเชียและแปซิฟิกอาจจะมีมูลค่าถึง 160,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐต่อปี ภายในปี 2030  โดยภูมิภาคนี้มีประสบการณ์เผชิญภัยพิบัติทางธรรมชาติมากกว่าภูมิภาคอื่น เช่น มาเลเซีย เมื่อช่วงปี 2014-2017 เผชิญกับแผ่นดินไหวถึง 55 ครั้ง พายุและไซโคลนรวม 217 ลูก และน้ำท่วมรุนแรงอีก 236 ครั้ง