สำนักข่าวรอยเตอร์ส รายงานว่า ขณะนี้การชำระเงินผ่านมือถือกำลังเติบโตอย่างมากในตลาดเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ เช่นตามแผงขายสินค้าไม่ไกลจากย่านการเงินในเมืองโฮจิมินห์ มีการรองรับชำระเงินผ่านกระเป๋าเงินอิเล็กทรอนิส์ หรืออี-วอลเล็ทของบริษัทเอกชนอย่าง วอร์เบิร์ก พินคัส บริษัทผู้ให้บริการขับขี่ แกร๊บ และกองทุนเพื่อความมั่งคั่งของสิงคโปร์อย่าง GIC และอื่นๆ รวมแล้วไม่ต่ำกว่า 28 อี-วอลเล็ท รวมทั้งอนุญาตให้ผู้ใช้งานใช้โอนเงินสดเข้ามาผ่านมือถือมาได้ด้วย
การมีวอลเล็ทให้บริการมากเช่นนี้ มาพร้อมความหวังของเวียดนามที่วางแผนเป็นเศรษฐกิจไร้เงินสดภายในปี 2027 ซึ่งการแข่งขันที่สูงของอี-วอลเล็ทจะเป็นแรงผลักดันให้ต้องขยายผู้ใช้งานให้มากขึ้น เพื่อผลักดันให้ผู้ทำธุรกิจมีกำไร
โอลิเวอร์ วายแมน บริษัทที่ปรึกษา ระบุว่า คงไม่ใช่อี-วอลเล็ททั้งหมดที่จะอยู่รอดได้ เพราะผู้ที่อยู่ในกลุ่มระบบชำระเงินผ่านมือถือจำนวนมากในภูมิภาคนี้เริ่มเข้าสู่ภาวะหดตัวบ้างแล้ว จากการที่แต่ละประเทศในภูมิภาคหวังจะสนับสนุนการใช้งานอี-วอลเล็ทหลักๆ เพียง 2 ราย
ดันแคน วู้ดส์ หัวหน้าธุรกิจค้าปลีกและการปฏิบัติการทางธนาคาร ประจำเอเชียแปซิฟิก ของโอลิเวอร์ วายแมน กล่าวว่า ธุรกิจอี-วอลเล็ทพยายามใช้เงินจำนวนมากกับการดึงดูดใจให้ผู้บริโภคใช้งาน จนถึงขั้นใช้วอลเล็ทในชีวิตประจำวัน ซึ่งเมื่อมีวอลเล็ทมากมายให้เลือกใช้ คราวนี้ต้องมาดูกันแล้วว่ากระเป๋าใบไหนพกเงินไว้มากที่สุด
ทั้งนี้ จากข้อมูล พบว่า เอเชียตะวันออกเฉียงใต้ มีผู้ได้รับใบอนุญาตประกอบธุรกิจอี-วอลเล็ท อย่างน้อย 150 ราย โดยในจำนวนนี้ครอบคลุมถึงแกร๊บ, โก-เจ็ก, เทนเซ็นต์ โฮลดิ้งส์, แอนท์ ไฟแนนเชียล, สิงคโปร์ เทเลคอม และ แอร์เอเชีย รวมถึงบริษัทฟินเทคอีกเป็นสิบๆ ราย ที่กำลังต่อสู้แย่งชิงตลาดกันอยู่
ขณะที่ข้อมูลของดีลสตรีทเอเชีย ระบุว่า แกร๊บ วางแผนลงทุน 500 ล้านดอลลาร์สหรัฐกับธุรกิจในเวียดนาม โดยมุ่งเน้นที่ด้านการชำระเงิน ขณะที่วิชั่น ฟันด์ของซอฟต์แบงก์ และ GIC ลงทุนไป 300 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ในบริษัทแม่ของอี-วอลเล็ท ที่มีชื่อว่า VNPAY เมื่อเดือน ก.ค. ส่วนอี-วอลเล็ท ชื่อว่า Momo ระดมทุนได้ 100 ล้านดอลลาร์สหรัฐ จากวอร์เบิร์ก พินคัส เมื่อเดือน ม.ค.