สำนักข่าวอินโฟเควสท์ รายงานว่า นายกีรติ รัชโน ผู้ตรวจราชการกระทรวงพาณิชย์ รักษาราชการแทนอธิบดีกรมการค้าต่างประเทศ กระทรวงพาณิชย์ กล่าวถึงกรณีสหรัฐ ประกาศระงับให้สิทธิพิเศษทางภาษีศุลกากร (GSP) สินค้าไทยชั่วคราว มีผล 6 เดือนข้างหน้าว่า การระงับสิทธิ GSP สินค้าไทย 573 รายการ ไม่ได้หมายความว่า ไทยไม่สามารถส่งออกสินค้าดังกล่าวไปยังสหรัฐได้อีก หรือไทยจะสูญเสียมูลค่าการได้รับสิทธิ GSP ไปทั้งหมด 40,000 ล้านบาท โดยไทยยังส่งออกสินค้าไปสหรัฐได้ตามปกติ แต่ต้องเสียภาษีอัตราปกติ (MFN Rate) เฉลี่ยประมาณ 4.5% หรือคิดเป็นมูลค่าไม่เกิน 1,800 ล้านบาท
สำหรับสินค้าสำคัญของไทยที่จะถูกระงับสิทธิ GSP ได้แก่ มอเตอร์ไซค์ แว่นสายตา เครื่องจักรกล อุปกรณ์ไฟฟ้า พลาสติกและของทำด้วยพลาสติก อาหารปรุงแต่ง เคมีภัณฑ์ อุปกรณ์ทำด้วยเหล็กหรือเหล็กกล้า ทองแดง ผลิตภัณฑ์เซรามิก และเครื่องประดับ เป็นต้น กลุ่มสินค้าที่ถูกเก็บอัตราภาษีสูงสุด คือ เครื่องใช้บนโต๊ะอาหาร และเครื่องครัวเซรามิก 26% ส่วนสินค้าที่ถูกเรียกเก็บอัตราภาษีต่ำสุด คือ เคมีภัณฑ์ 0.1%
ทั้งนี้ กระทรวงพาณิชย์ จะเร่งดำเนินการเจรจากับสหรัฐฯ เพื่อขอคืนสิทธิ GSP โดยเร็วที่สุด ยืนยันว่าจะไม่ใช้วิธีการตอบโต้ทางการค้าแต่อย่างใด ซึ่งระหว่างนี้ยังมีเวลา 6 เดือนกว่าที่ประกาศของสหรัฐฉบับนี้จะมีผลบังคับใช้ คาดว่าระหว่างการประชุมอาเซียนซัมมิท ที่ประเทศไทยจะเป็นเจ้าภาพจัดการประชุมเดือน พ.ย.นี้ ไทยจะหาโอกาสเจรจาเบื้องต้นกับสหรัฐ รวมทั้งการเจรจาภายใต้กรอบความตกลงการค้าและการลงทุนไทย-สหรัฐ ในลำดับต่อไป
ขณะเดียวกัน กรมการค้าต่างประเทศได้เชิญผู้ประกอบการมาหารืออย่างต่อเนื่อง เพื่อรับทราบสถานการณ์และประเมินผลกระทบ หากถูกเพิกถอนสิทธิ GSP โดยแนะนำให้ผู้ประกอบการหาตลาดใหม่เพื่อทดแทนตลาดเดิม โดยเฉพาะตลาดที่มีแนวโน้มการเติบโตทางเศรษฐกิจ เช่น ตะวันออกกลาง ยุโรปตะวันออก อเมริกาใต้ และรัสเซีย รวมถึงการใช้ประโยชน์จากประเทศที่ไทยมีข้อตกลงการค้าเสรี (FTA) ใน 13 กรอบความตกลง เช่น อาเซียน จีน ญี่ปุ่น อินเดีย ออสเตรเลีย นิวซีแลนด์ ชิลี และเปรู เป็นต้น นอกจากนี้ ผู้ประกอบการไทยจำเป็นต้องปรับกลยุทธ์ในการแข่งขัน และสร้างมูลค่าเพิ่มให้สินค้า