สรุปภาวะการลงทุนในทองคำ
ทองคำนับเป็นหนึ่งในสินทรัพย์ที่สามารถสร้างผลตอบแทนให้กับนักลงทุนได้เป็นอย่างดีประมาณ 18% นับตั้งแต่ช่วงต้นปีจนถึงสิ้นเดือน ต.ค. 2019 และปรับขึ้นสู่ระดับสูงสุดในรอบหลายปีที่ราว 1,540 ดอลลาร์สหรัฐฯ ต่อออนซ์
ทั้งนี้ ภายหลังจากเดือน ต.ค. ราคาทองคำปรับตัวลดลงเคลื่อนไหวที่กรอบประมาณ 1,452-1,508 ดอลลาร์สหรัฐฯ ต่อออนซ์ โดยปัจจัยสำคัญที่มีผลต่อการเคลื่อนไหวของราคาทองคำในช่วงที่ผ่านมา ได้แก่
1.) ผลจากความขัดแย้งทางการค้าระหว่างสหรัฐฯ-จีน ที่ส่งผลกระทบกับสภาวะ Risk On และ Risk Off ในตลาดการเงิน
2.) ความคาดหวังของตลาดที่มีต่อทิศทางนโยบายการเงิน
3.) ความกังวลด้านการชะลอตัวของเศรษฐกิจโลก
4.) ความเสี่ยงทางการเมืองอื่นๆ เช่น Brexit และการประท้วงในฮ่องกง
5.) การเข้าซื้อทองคำของบรรดาธนาคารกลางต่างๆ เพื่อกระจายความเสี่ยงให้กับพอร์ตเงินทุนสำรองของประเทศ โดยเฉพาะฟากฝั่งของจีนและรัสเซีย
ทั้งนี้ เมื่อไหร่ก็ตามที่ตลาดมีความหวังว่าธนาคารกลางจะปรับลดอัตราดอกเบี้ย หรือตลาดมีความกังวลต่อสถานการณ์ทางการเมืองที่มักจะส่งผลให้ค่าเงินสกุลดอลลาร์สหรัฐฯ อ่อนค่าลง จะส่งผลต่อราคาทองคำให้ขยับตัวขึ้นไปได้ดี แต่ในทิศทางตรงข้ามหากสองปัจจัยนี้ขาดแรงผลักดัน เช่น ธนาคารกลางตัดสินใจไม่ลดดอกเบี้ย ค่าเงินยูโรอ่อนตัวลงจากความไม่แน่นอนทางการเมือง หรือ กระบวนการเจรจาทางการค้าเริ่มมีความหวัง ค่าเงินสกุลดอลลาร์สหรัฐฯ มักจะปรับตัวแข็งค่าขึ้น รวมทั้งทำให้นักลงทุนเพิ่มน้ำหนักกับสินทรัพย์เสี่ยงมากขึ้น และมักจะทำให้ราคาทองคำจะเคลื่อนไหวแบบ Side-way หรือเข้าสู่ขาลง
อย่างไรก็ตาม ตั้งแต่ในช่วงเดือน มิ.ย. 2019 ผลจากสงครามการค้าที่เพิ่มมากขึ้นและอาจกลายเป็นสงครามสกุลเงิน ได้ผลักดันทั้งค่าเงินสกุลดอลลาร์สหรัฐฯ และราคาทองให้ปรับขึ้นไปในเวลาเดียวกันซึ่งเป็นเหตุการณ์ที่ไม่เกิดขึ้นบ่อยในอดีต และได้เพิ่มความไม่แน่นอนต่อการคาดการณ์ทิศทางราคาทองคำ
ด้านอุปสงค์ทองคำในช่วงไตรมาส 3 เพิ่มขึ้น 3% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปี 2018 หนุนจากการเข้าซื้อของ ETF และเป็นการเข้าซื้อที่มากที่สุดนับตั้งแต่ช่วงไตรมาสแรกของปี 2016 เหตุด้วยนักลงทุนต้องการใช้ทองคำเพื่อเป็นเครื่องมือในการกระจายความเสี่ยงให้กับพอร์ตการลงทุนในสภาวะที่ตลาดสินทรัพย์เสี่ยงมีความผันผวน ขณะที่อุปสงค์ด้านอื่นๆ ปรับตัวลดลงเล็กน้อย สำหรับด้านอุปทานของทองคำในช่วงไตรมาส 3 เพิ่มขึ้น 4% จาการขายออกของผู้ถือครองทองคำเพื่อทำกำไรหลังราคาทองคำปรับตัวขึ้นมาอย่างมาก
ความเคลื่อนไหวค่าเงินบาท
ค่าเงินบาทยังคงเป็นค่าเงินที่แข็งค่ามากที่สุดในภูมิภาคเอเชียนับตั้งแต่ช่วงต้นปี โดยแข็งค่าไปแล้วมากกว่า 7.6% จากการแสวงหาผลตอบแทนของนักลงทุน (Search for Yield) ประกอบกับสถานะสินทรัพย์ปลอดภัยในภูมิภาค (Regional Safe Haven) ของค่าเงินบาท ด้วยเสถียรภาพด้านต่างประเทศที่แข็งแกร่ง ทำให้นักลงทุนมีความเชื่อมั่นต่อการถือครองสินทรัพย์ไทย รวมถึงการแข็งค่าของค่าเงินบาทยังช่วยให้ผลตอบแทนของนักลงทุนต่างชาติเพิ่มขึ้น แม้ว่า ธปท. พยายามออกมาตรการเพื่อช่วยบรรเทาการแข็งค่าของค่าเงินบาท ไม่ว่าจะเป็นการลดอัตราดอกเบี้ยนโยบาย หรือปรับปรุงกฎเกณฑ์เพื่อช่วยหนุนการนำเงินออกนอกประเทศ
อย่างไรก็ตาม คาดว่าระดับค่าเงินบาทในระยะสั้นนี้จะยังคงเคลื่อนไหวอยู่ในระดับปัจจุบัน ไม่แข็งค่าต่อเนื่องไปมากนัก ด้วยในช่วงเดือนหลังมานี้กระแสเงินทุนไหลเข้ามายังตลาดการเงินเริ่มอ่อนแรงลง จากระดับมูลค่าตลาดที่ปรับตัวขึ้นมาค่อนข้างมากแล้ว โดยค่าเงินที่กลับขึ้นมาแข็งค่าสูงสุดในภูมิภาคได้ในระยะหลัง ได้แก่ ค่าเงินวอนของเกาหลีใต้ ด้วยแรงหนุนจากสถานการณ์สงครามการค้าที่มีพัฒนาการในเชิงบวกทำให้ภาคการผลิตและแนวโน้มการส่งออกของเกาหลีใต้ดูดีขึ้น
แนวโน้มราคาทองคำ
ในช่วงสุดท้ายของปี 2019 มองว่าราคาทองคำมีแนวโน้มเคลื่อนไหวอยู่ในกรอบ 1,450-1,550 ดอลลาร์สหรัฐฯ ต่อออนซ์ โดยมีความผันผวนที่ลดลง เนื่องจากมองว่า Brexit แม้จะมีความไม่ชัดเจน แต่ก็มีความคืบหน้ามากขึ้น ด้านการเจรจาทางการค้าสหรัฐอเมริกา-จีนนั้น ล่าสุดเริ่มมีสัญญาณในเชิงบวกมากขึ้นแม้จะยังมีความไม่แน่นอนสูงก็ตาม นอกจากนี้บริษัทเอกชนในสหรัฐอเมริกาจำนวนมากได้ปรับลดคาดการณ์การขยายตัวทางธุรกิจในช่วง 6-12 เดือนข้างหน้าลง และเฟดจะยังคงมีนโยบายรักษาการขยายตัวทางเศรษฐกิจของสหรัฐอเมริกาซึ่งจะสนับสนุนความเชื่อมั่นของค่าเงินสกุลดอลล่าร์สหรัฐฯ จากปัจจัยดังกล่าวยังคงทำให้ราคาทองยังคงมีความผันผวน แม้อาจไม่มากเท่ากับช่วงก่อนหน้าก็ตาม
ทั้งนี้ กองทุนบ้วหลวงเชื่อว่าทองคำยังเป็นแหล่งการลงทุนที่ดีในระยะยาว ที่ช่วยกระจายความเสี่ยงให้กับพอร์ตการลงทุนโดยเฉพาะในช่วงที่สภาวะเศรษฐกิจหรือตลาดการเงินมีความไม่แน่นอน
กองทุนหลัก (Master Fund)
ชื่อ: SPDR Gold Trust
นโยบายลงทุน: มุ่งเน้นลงทุนในทองคำแท่ง เพื่อสร้างผลตอบแทนของกองทุนหลักหลังหักค่าธรรมเนียมและค่าใช้จ่ายในการจัดการทั้งหมดของกองทุน ให้ใกล้เคียงกับผลตอบแทนของราคาทองคำแท่ง
ประเภทโครงการ: กองทุนรวมอีทีเอฟ (Exchange Traded Fund) ที่จดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์นิวยอร์ก ญี่ปุ่น ฮ่องกง สิงคโปร์
วันจัดตั้งกองทุน: 18 พฤศจิกายน 2004
ประเทศที่จดทะเบียน: สิงคโปร์
สกุลเงิน: USD
เกณฑ์วัดผลการดำเนินงาน (Benchmark): LBMA Gold Price PM
Morningstar Category: US ETF Commodities Precious Metal
Bloomberg code: GLD:SP
Trust’s Holdings: Physical gold bullion kept in the form of London Good Delivery bars and held in allocated account
*ที่มา State Street Global Advisors ข้อมูลเดือน ธ.ค. 2018 ดูรายละเอียดกองทุนรวมต่างประเทศได้ที่
https://www.bblam.co.th/application/files/6115/7404/6352/fact-sheet-sg-en-gld_OCT_2019.pdf
ผลการดำเนินงานกองทุนย้อนหลังกองทุนเปิดบัวหลวงโกลด์ฟันด์ ณ วันที่ 31 ต.ค. 2019