สำคัญมากหากอยากเกษียณ

สำคัญมากหากอยากเกษียณ

สำคัญมากหากอยากเกษียณ

โดย…อรพรรณ บัวประชุม CFP®

ผู้เชี่ยวชาญด้านการวางแผนทางการเงิน

BF Knowledge Center

“เกษียณ” ฟังดูแล้วเป็นเรื่องที่ดูไกล๊ไกล สำหรับใครหลายๆ คน ด้วยความคิดที่ว่า ยังมีเวลาอีกเยอะ มีเวลาอีกนานกว่าจะถึงวันนั้น รอให้ตัวเองมีรายได้มากกว่านี้ก่อนแล้วค่อยเตรียมก็ยังทัน แต่คนที่เห็นความสำคัญกับเรื่องอื่นมากกว่า ก็มักจะพลาดกับเรื่อง “เกษียณ” ไปอย่างน่าเสียดาย ในขณะที่เรานั้นยังลั้ลลา แต่บางคนที่เตรียมตัวกันก็เตรียมกันแบบเต็มที่อย่างกับเป็นนักกีฬาที่จะเข้าแข่งขันโอลิมปิก 2020 เลยทีเดียว และก็ยังมีอีกหลายคนที่ชอบคิดว่ามีแค่นี้ก็พอแล้ว แถมยังจะตัดสินใจเกษียณก่อนที่จะถึงเวลาเกษียณเสียอีก คราวนี้ลองมาดูกันซิว่า นอกจากเงินแล้ว ถ้าจะเกษียณ อะไรบ้างที่เราต้องเจอ!!! ถ้าเจอแล้ว เราปรับตัวกันหรือยัง

เตรียมใจกับ Life Style ที่ไม่เหมือนเดิม ถามใจตัวเองก่อนว่าพร้อมเกษียณจากงานที่ทำอยู่หรือไม่ ไม่ว่าจะเป็นงานประจำ หรือธุรกิจส่วนตัวก็ตาม เพราะเมื่อเกษียณแล้วจากตำแหน่งที่เคยนั่งอยู่ ที่เคยติดอยู่ หัวโขนต่างๆ อำนาจบารมีเมื่อครั้งยังทำงานอยู่นั้นเป็นอันต้องจบลง การปรับตัว ปรับใจรับกับสิ่งใหม่ๆ ที่จะเกิดขึ้นจึงเป็นสิ่งสำคัญมาก โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ผู้ที่เคยอยู่ในตำแหน่งสูงๆ มีหน้าที่การงานใหญ่โต ต่างเป็นที่นับหน้าถือตาไม่ว่าจะกับลูกน้อง เพื่อนร่วมงาน เพื่อนฝูง ญาติสนิทมิตรสหาย ต่างก็ให้ความเคารพ ให้ความเกรงใจ แต่เมื่อเกษียณมาแล้ว ตำแหน่งต่างๆ หัวโขนต่างๆ ก็สิ้นสุดลง เป็นช่วงที่จะได้เห็นความจริงใจที่คนรอบข้างให้กับเราเมื่อเราไม่ได้มีหน้าที่ตำแหน่งต่างๆ สิ่งเหล่านี้เป็นเรื่องที่ต้องยอมรับให้ได้ และเป็นเรื่องธรรมดาดังคำที่ว่า  “สูงสุดกลับสู่สามัญ” นั่นเอง ดังนั้น ใครที่ยังยอมรับในเรื่องนี้ไม่ได้ต้องค่อยๆ ปรับตัว ปรับเปลี่ยนความคิด ยอมรับสิ่งที่จะเกิดขึ้นให้ดี

​​​​​​​อยากใช้ชีวิตหลังเกษียณแบบไหน หากไม่มีกิจกรรมอะไรทำหลังเกษียณคงเป็นเรื่องที่น่าเบื่อมาก ดังนั้น ต้องหาอะไรทำให้ได้ก่อนเกษียณ ไม่ว่าจะเป็นการทำงานฟรีแลนซ์ที่อยากทำก็ดี งานอดิเรกที่ชื่นชอบก็ได้ เพราะหลังจากเกษียณจากงานประจำแล้ว จะมีเวลาเหลือเฟือให้ทำได้อย่างเต็มที่ บางคนรู้สึกดีที่ได้ทำในช่วงแรก แต่เมื่อผ่านไปเพียงไม่กี่เดือนก็เริ่มรู้สึกเบื่อ เหงา เพราะในช่วงที่ผ่านมาการใช้ชีวิตของเราจะต้องพบปะผู้คนตลอด มีงานให้ทำมากมายที่ต้องทำต้องจัดการให้สำเร็จ ซึ่งวิถีชีวิตหลังเกษียณอาจไม่ต้องรีบทำให้เสร็จเหมือนตอนที่ทำงานประจำ ดังนั้น การแบ่งเวลาจึงเป็นสิ่งสำคัญมาก อย่างเช่น แบ่งเวลาไปออกกำลังกายที่ชื่นชอบได้มากขึ้น แบ่งเวลาทำงานที่รัก แบ่งเวลาไปพบปะเพื่อนฝูงที่มีเวลาตรงกับเรา การได้พบปะพูดคุยเป็นประจำจะช่วยทำให้เรามีชีวิตที่ยืนยาวขึ้นมากกว่าการอยู่เงียบๆ แบบเหงาๆ คนเดียว

​​​​​​​พร้อมรับค่ารักษาพยาบาล จากที่เคยได้สิทธิรักษาพยาบาลในโรงพยาบาลเอกชนได้เต็มที่ ไม่ว่าจะเจ็บป่วยเล็กน้อย (OPD) หรือต้องนอนรักษาตัวในโรงพยาบาล (IPD) ก็ยังได้สิทธิ แม้บางครั้งอาจจะต้องจ่ายเพิ่มเองบ้าง แต่อย่างน้อยบริษัทนายจ้างก็ยังช่วยรักษาพยาบาลให้ โดยเฉพาะเงินเดือนที่ได้รับก็ยังคงได้รับอยู่ แม้ว่าจะต้องพักรักษาตัวในโรงพยาบาลบ้าง แต่เมื่อเกษียณแล้วหากต้องการได้รับการรักษาดีๆ จะต้องมีเงินส่วนหนึ่งกันเอาไว้สำหรับเรื่องนี้ โดยเฉพาะใครที่มีโรคประจำตัวและไม่เคยทำประกันสุขภาพมาก่อนยิ่งต้องกันเงินเอาไว้รักษาตัวเองให้ดี และหากในช่วงที่อายุมากขึ้นลองคิดหรือยังว่าเราจะให้ใครมาดูแล ถ้าหากไม่มีใครคอยดูแล เราต้องเตรียมหาคนดูแลตัวเองในอนาคตด้วยไหม ดังนั้น ค่าใช้จ่ายในส่วนนี้จึงมีความสำคัญและหลายคนมองข้ามไป ห่วงแต่ว่าเมื่อเกษียณแล้วเมื่อก่อนที่ยังไม่เคยได้เที่ยวก็มาเที่ยวช่วงนี้ที่ยังไหวอยู่ จริงๆ แล้วก็สามารถทำได้เพียงแต่อย่าลืมเรื่องสำคัญในช่วงที่เราทำอะไรๆ ก็ไม่ไหวแล้ว

​​​​​​​จะอยู่บ้านไหน เพราะบ้านเป็นที่ที่เราใช้เวลามากที่สุดหลังเกษียณ บ้านที่อยู่หลังเกษียณ ยังเป็นบ้านหลังเดิมที่อยู่ในปัจจุบันไหม ถ้าไม่ใช่ต้องเตรียมมองหาแล้วว่าเราอยากมีชีวิตเกษียณแบบไหน ทำเลที่ใกล้สถานรักษาพยาบาล? ใกล้มินิมาร์ท? ใกล้สิ่งอำนวยความสะดวก? หรืออยากอยู่ติดชายทะเล หากเป็นบ้านหลังเดิม อย่าลืมว่าอนาคตสุขภาพเราไม่เหมือนเดิม ดังนั้น จึงต้องเตรียมตัวปรับปรุงบ้านเพื่อตอบโจทย์ในช่วงที่เราต้องการ ไม่ว่าจะเป็นราวจับตามทางเดิน ราวจับในห้องน้ำ ประตูทางเข้า – ออก กว้างพอไหม หากเราต้องถือไม้เท้า หรือต้องใช้รถเข็น พื้นทางเดินหรือพื้นห้องน้ำต้องปรับเปลี่ยนเป็นวัสดุกันลื่นไหม เพื่อป้องกันอันตรายในยามที่เราแก่ตัวลง

​​​​​​​เทคโนโลยียังต้องเรียนรู้ อย่าหยุดเรียนรู้ ไม่ว่าคุณจะอายุเท่าไหร่ เรียนสูงมาแค่ไหน เพราะการเกษียณไม่ใช่การสิ้นสุดทุกสิ่งทุกอย่าง แต่เป็นการเดินทางในรูปแบบที่ต่างไปจากเดิม โดยเฉพาะโลกยุคที่มีการเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว การใช้จ่ายเงินทองก็เริ่มเปลี่ยนไป จากที่เคยไปจับจ่ายใช้สอยในตลาดสด ก็เปลี่ยนเป็นการจับจ่ายใช้สอยในซุปเปอร์มาร์เก็ต และยิ่งตอนนี้ยิ่งไม่ต้องออกไปจับจ่ายที่ไหนเลย เพียงแค่อยู่หน้าคอมพิวเตอร์ หรือมีเพียงสมาร์ทโฟนก็สามารถสั่งซื้อของออนไลน์ได้แล้ว ไม่ต้องออกไปโบกรถข้างนอก แค่เลือกจุดหมายปลายทางที่ต้องการไปถึงก็มีรถมารับ แค่หิวท้องก็มีอาหารมาส่งได้ถึงที่ หรืออยากจะส่งของให้กับใครสักคนก็มี Kerry มารับถึงบ้านแล้วไปส่งให้ถึงที่ เพราะฉะนั้น การเปลี่ยนแปลงในยุคนี้เป็นการเปลี่ยนแปลงที่เร็วมาก จึงต้องก้าวตามให้ทัน การใช้จ่ายจากการจ่ายเป็นธนบัตรเป็นเหรียญ ก็เปลี่ยนเป็นบัตรเดบิต บัตรเครดิต หรือการใช้จ่ายโดยการสแกน QR Quote ก็สามารถทำได้ง่าย และจะมีสิ่งที่เปลี่ยนแปลงเพื่ออำนวยความสะดวกเรามากขึ้นได้อีก ดังนั้น การเรียนรู้จึงเป็นสิ่งที่จำเป็นมาก

​​​​​​​เรื่องเงินทองพร้อมพินัยกรรมที่ต้องเตรียม เตรียมตั้งแต่ที่ยังจำได้ มีสติรับรู้ จัดสรรให้กับคนที่เรารัก เราหวังดี จัดสรรให้กับคนที่ดูแลเรามาโดยตลอดไม่ว่าจะเป็นบุพการี ลูก หลาน ที่เราต้องการให้กับเขา สามารถระบุได้ว่าเราอยากจะให้อะไรกับเขา ไม่ว่าจะเป็นทรัพย์สิน เงินทอง โฉนดที่ดิน เงินฝากธนาคาร สร้อยคอทองคำ รถยนต์คันโปรด ที่อยากจะส่งต่อ ก็ลงบันทึกในพินัยกรรมโดยระบุให้ชัดเจนว่าต้องการให้อะไรกับใคร หรืออยากส่งมอบต่อให้กับสถานพยาบาลเพื่อให้ผู้ป่วย ผู้สูงอายุได้มีโอกาสใช้ การส่งต่อให้กับแผ่นดินให้กับลูกหลานคนไทยในอนาคต สิ่งเหล่านี้ สามารถทำได้โดยการวางแผนไว้ล่วงหน้าเช่นกัน

อย่างน้อยหากได้เตรียมความพร้อมตามที่กล่าวมาแล้ว การเกษียณเปี่ยมด้วยความสุขก็ไม่ใช่เรื่องยากลำบากอีกต่อไป สิ่งสำคัญต่อจากนี้ คือ การมีจิตใจที่เข้มแข็งกับก้าวต่อไปที่มั่นคง