BF Economic Research
- สถานการณ์ความไม่สงบระหว่างสหรัฐฯและอิหร่านได้เริ่มคลี่คลาย เมื่อประธานาธิบดีสหรัฐฯ แถลงในวันที่ 8 ม.ค. ว่า สหรัฐฯ จะไม่ตอบโต้ทางการทหาร ต่อเหตุการณ์โจมตีฐานทัพสหรัฐฯ ในอิรัก โดยกองทัพอิหร่าน เนื่องจากการโจมตีครั้งนี้มิได้สร้างความเสียหายอย่างมีนัยสำคัญ และเห็นว่าท่าทีของอิหร่านลดความแข็งกร้าวลง อย่างไรก็ดี สหรัฐฯ จะตอบโต้ด้วยมาตรการคว่ำบาตรทางเศรษฐกิจเพิ่มเติมแทน หากต่อไปประธานาธิบดีสหรัฐฯ เริ่มมีท่าทีใช้มาตรการทางการทูต จะยิ่งเป็นสัญญาณบวกต่อสถานการณ์ในตะวันออกกลาง
- สำหรับนัยยะของสถานการณ์นี้ที่มีต่อการเคลื่อนไหวของสินทรัพย์ในตลาดนั้น พบว่าราคาทองลงมาปิดที่ 1559.85 ดอลลาร์ฯ/ounce (-33%) ส่วนราคาน้ำมัน Brent อยู่ที่ 65.96 ดอลลาร์ฯ/bbl (+0.8%) ส่วนดัชนีหุ้นทั่วโลกปรับตัวขึ้นมานำโดยดัชนีหุ้นสหรัฐฯ เช่น DJIA ที่ 28,745.09 (+161.41 จุด) ขณะที่หุ้นเอเชียทั่วเริ่มเปิดมาบวกเช่นกัน สำหรับทิศทางของตลาดในระยะข้างหน้าคาดว่าความตึงเครียดทางการเมืองระหว่างสหรัฐฯและอิหร่านน่าจะลดระดับลงและจะเป็นผลดีต่ออารมณ์ของนักลงทุนมากขึ้น
- ส่วนการเคลื่อนไหวของราคาน้ำมันที่จะมีต่อทิศทางของเศรษฐกิจไทยนั้น เราคาดว่าหากราคาน้ำมันBrent วิ่งอยู่ในระดับที่ไม่เกิน 70 ดอลลาร์ฯ/ bbl แล้ว อัตราเงินเฟ้อไทยน่าจะยืนต่ำกว่า 1.0% ขณะที่การส่งออกสุทธิของไทยอาจจะถูกกระทบจากราคาน้ำมันในระดับที่จำกัด เว้นเสียแต่ว่าสถานการณ์ความตึงเครียดจะยกระดับขึ้นมาอีกครั้ง
เราได้ประเมินการขยายตัวของเศรษฐกิจไทยในปี 2020 ที่ 2.8% จากปี 2019 ที่ 2.5% โดยปัจจัยที่ส่งผลกระทบต่อ GDP ไทยนั้นสะท้อนการบริโภคในประเทศที่ไม่น่าจะขยายตัวสูงนัก (กระทบจากปัญหาภัยแล้ง รายได้เกษตร ภาระหนี้สูงทำให้ใช้จ่ายสินค้าคงทน เช่นรถยนต์ลดลง) การลงทุนของภาครัฐจะเป็นแรงขับเคลื่อนสำคัญของปีนี้ ขณะที่ภาพการส่งออกจะไม่แย่กว่าปีที่แล้วแต่จะไม่ได้ขยายตัวมากนัก สำหรับกรอบการเคลื่อนไหวของเงินบาทปีนี้ ฝ่ายจัดการกองทุนมองว่าจะอยู่ที่ 29-31 บาท/ดอลลาร์ฯ