นิกเกอิ อาเซียน รีวิว รายงานว่า ISEAS-Yusof Ishak Institute ได้จัดทำแบบสำรวจประเทศสมาชิกในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ประจำปี 2020 โดยระบุว่า ท่ามกลางสถานการณ์ระหว่างสหรัฐฯ และจีนที่ยังคงร้อนแรง 73% ของผู้เชี่ยวชาญ 1,308 คน จากประเทศในประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน ระบุว่า ภูมิภาคกำลังกลายเป็นเวทีสำคัญสำหรับการต่อสู้แย่งชิงอำนาจที่สำคัญและสมาชิกอาเซียนอาจ กลายเป็นตัวแทนสนับสนุนสำหรับด้านใดด้านหนึ่ง โดยตัวเลขนี้เพิ่มขึ้นจาก 62% ในการสำรวจของปีที่ผ่านมา และผลสำรวจยังระบุอีกว่า หากถูกบังคับให้เลือกข้างระหว่างสหรัฐและจีน 54% เลือกสหรัฐฯ ส่วนอีก 46% เลือกจีน
อย่างไรก็ตาม เมื่อพิจารณาจากจำนวนประเทศอาเซียนทั้งหมด พบว่า 7 ใน 10 ของประเทศยอมรับจีน โดย 69% ของคนจากบรูไน ให้ความสำคัญกับจีน 58% จากกัมพูชา 52% จากอินโดนีเซีย 74% จากลาว 61% จากมาเลเซีย 62% จากเมียนมา และ 52% จากไทย
ส่วนสหรัฐเป็นทางเลือกสำหรับ 83% ของคนฟิลิปปินส์ที่ตอบแบบสำรวจ และ 86% ของคนเวียดนาม ตามด้วย 61% จากสิคโปร์ ซึ่งการสนับสนุนอย่างแข็งแกร่งจากฟิลิปปินส์และเวียดนาม ส่วนหนึ่งก็มาจากปัญหาข้อพิพาทพื้นที่ในเขตทะเลจีนตอนใต้ในพื้นที่ของพวกเขากับจีน
ในรายงานล่าสุด ยังพบอีกว่า 64% ของผู้ตอบแบบสำรวจ ระบุว่า สงครามการค้าจะทำให้เกิดผลลบกับเศรษฐกิจเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ โดยเฉพาะประเทศที่พึ่งพาการส่งออกอย่างเช่น สิงคโปร์ และไทย ที่ต่างก็ได้รับผลกระทบทางเศรษฐกิจแล้ว
นอกจากนี้ ท่ามกลางพลังของสหรัฐ สหภาพยุโรป และญี่ปุ่น ที่อยู่ในภูมิภาคนี้ แต่ผลสำรวจก็พบประเด็นน่าสนใจว่า จีนมีการเติบโตในภูมิภาคนี้มากขึ้น โดยผู้ตอบแบบสำรวจ 79% ระบุว่า ปักกิ่งมีอิทธิพลทางเศรษฐกิจมากที่สุดในพื้นที่นี้ เพิ่มขึ้นจากปีก่อน ซึ่งอยู่ที่ 73%