BF Economic Research
- ในการเยือนพม่าครั้งนี้ จีน-พม่า ทั้งสองฝ่ายได้แลกเปลี่ยนบันทึกความเข้าใจ จดหมาย และร่างพิธีสาร ครอบคลุม 33 โครงการของจีนในภาคส่วนต่างๆ ทั้งข้อมูลข่าวสาร อุตสาหกรรม การเกษตร ความมั่นคง และการโยกย้ายถิ่นฐานของผู้พลัดถิ่นภายในประเทศในรัฐกะฉิ่น ที่มีพรมแดนติดกับจีน ทั้งนี้เพื่อสนับสนุนโครงการสาธารณูปโภคที่สำคัญต่างๆ มูลค่าหลายพันล้านดอลลาร์ในแผนระเบียงเศรษฐกิจจีน-เมียนมา (CMEC) ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของโครงการ Belt and Road Initiative หรือ BRI
- ทั้งนี้ ปธน.สีเดินทางเยือนเมียนมาครั้งแรกในฐานะประธานาธิบดี หลังจากที่เขาเคยเดินทางเยือนเมียนมาในปี 2009 ในฐานะรองประธานาธิบดีในสมัยประธานาธิบดีหู จิ่นเทา และนับเป็นการเดินทางเยือนเมียนมาครั้งแรกของประธานาธิบดีจีนในรอบเกือบ 20 ปี
- โครงการในความร่วมมือนั้น อาทิเช่น การร่วมทุนก่อสร้าง และสัมปทานท่าเรือน้ำลึกเจาะพยูในรัฐยะไข่ มีความยาว 1,700 กิโลเมตร มูลค่า3 พันล้านดอลลาร์ฯ แผนพัฒนาเขตเศรษฐกิจพิเศษเจาะพยูโดยรอบบริเวณท่าเรือ ซึ่งจะช่วยให้ขยายโครงข่ายการค้าจากบริเวณมณฑลยูนาน ผ่านทางเมียนมา เพื่อออกสู่มหาสมุทรอินเดีย
- โครงการเส้นทางรถไฟความเร็วสูงเชื่อมเมียนมา-ยูนาน จากเมืองมูเซะ ในรัฐฉาน ผ่านเมืองมัณฑะเลย์ ข้ามเมียนมาทั้งประเทศ ไปสิ้นสุดยังชายฝั่งตะวันตกของเมียนมาเพื่อออกสู่มหาสมุทรอินเดีย ไปจนถึงแผนการปรับปรุงและขยายเขตปริมณฑลของนครย่างกุ้ง
- ระเบียงพม่าช่วยทำให้จีนมีทางลัดเข้าสู่มหาสมุทรอินเดีย เป้าหมายใหญ่ของผู้วางแผนยุทธศาสตร์จีน ที่ทางออกสู่มหาสมุทรอินเดียนั้นทำให้การนำเข้าน้ำมันและก๊าซจำนวนมากจากอ่าวเปอร์เซียไม่ต้องตัดผ่านช่องแคบมะละกา และยังสามารถใช้งานในเป้าประสงค์ทางทหารได้ในอนาคต ในอนาคตเม็ดเงินลงทุนและ Volume การค้าระหว่างจีนและพม่า น่าจะเพิ่มขึ้นอย่างมีนัยสำคัญ
- จากข้อมูลปี 2018 จีนนำเข้าสินค้าจากพม่าเป็นมูลค่า 7 พันล้านดอลลาร์ฯ เป็นน้ำมันดิบและเชื้อเพลิงราว 25% ของมูลค่าการนำเข้าทั้งหมด ขณะที่จีนส่งออกสินค้าไปพม่าที่ 1.0 หมื่นล้านดอลลาร์ฯโดยสินค้าส่งออกหลักได้แก่ เครื่องใช้ไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ (1.8 พันล้านดอลลาร์ฯ) ,เครื่องจักร (1.0 พันล้านดอลลาร์ฯ) , และ เหล็กและผลิตภัณฑ์ที่เกี่ยวข้อง (9 ร้อยล้านดอลลาร์ฯ)
- ความร่วมมือนี้เป็นส่วนหนึ่งของ BRI (Belt and Road Initiative) หรือความริเริ่มหนึ่งแถบหนึ่งเส้นทางมีเป้าหมายที่จะสร้างเครือข่ายทางรถไฟ ทางหลวง ท่าเรือ และโครงสร้างพื้นฐาน เชื่อมต่อจีนกับจุดต่างๆ ในภูมิภาคเอเชีย ยุโรป และอัฟริกา ซึ่งหากสร้างสำเร็จ จะเป็นการ By pass เส้นทางเดินเรือที่ผ่านสิงคโปร์ และน่าจะส่งผลกระทบถึงไทยด้วย
- อย่างไรก็ดี ตามMOU ที่จีนลงนามกับเมียนมานี้ ไม่ได้กล่าวถึงโครงการก่อสร้างเขื่อนมิตโสน ในรัฐคะฉิ่น มูลค่า 6 พันล้านดอลลาร์ฯ ซึ่งเป็นเขื่อนผลิตกระแสไฟฟ้าขนาดใหญ่ถึง 6,000 เมกะวัตต์ บริเวณต้นแม่น้ำอิรวดี ด้วยเงินทุนจีน ซึ่งโครงการดังกล่าวถูกระงับไปตั้งแต่ปี 2011 เนื่องจากข้อกังวลด้านผลกระทบทางระบบนิเวศ
- International Crisis Group กล่าวว่า แม้จะดูเป็นตัวเลขการลงทุนของทุนจีนขนาดใหญ่ แต่เมียนมาค่อนข้างระมัดระวังติดกับดักหนี้จีนพอสมควร (จีนเป็นเจ้าหนี้รายใหญ่ของพม่า ประมาณ 4 พันล้านดอลลาร์ฯ หรือราว 40% ของหนี้ต่างประเทศทั้งหมดของพม่า) โดยเฉพาะอย่างยิ่ง รัฐบาลพรรคNLDของนางซูจีมีกำหนดถึงช่วงเลือกตั้งทั่วไปเดือนมีนาคมปี 2021