Active Fund กับ Passive Fund แตกต่างกันอย่างไร

Active Fund กับ Passive Fund แตกต่างกันอย่างไร

โดย…ศรศักดิ์ สร้อยแสงจันทร์

ผู้เชี่ยวชาญด้านการวางแผนทางการเงิน

BF Knowledge Center

Active Fund กับ Passive Fund แตกต่างกันอย่างไร เป็นคำถามที่หลายคนอยากทราบ โดยความแตกต่างของกองทุนทั้งสองประเภทอยู่ที่ กลยุทธ์การบริหารพอร์ตของของผู้จัดการทุน คือ กลยุทธ์การบริหารแบบ Passive และ Active

กองทุนที่บริหารแบบ Passive ผู้จัดการกองทุนไม่ได้ทำงานน้อยหรือขี้เกียจ แต่เป็นกองทุนที่มุ่งหวังผลตอบแทนในระดับเดียวกับผลตอบแทนของตลาด เช่น กองทุนหุ้น SET50 คาดหวังที่จะสร้างผลตอบแทนให้ใกล้เคียงกับดัขนี SET 50 เป็นการบริหารพอร์ตภายใต้แนวคิดที่ไม่เชื่อว่าในระยะยาว ผู้จัดการกองทุนสามารถบริหารกองทุนให้ได้ผลตอบแทนที่สูงกว่าผลตอบแทนของตลาดหรือดัชนี จึงไม่จำเป็นต้องเสียค่าธรรมเนียมการจัดการอัตราสูงเพื่อจ้างผู้จัดการกองทุน แต่ใช้วิธีบริหารแบบง่ายๆ ไม่ต้องเสียเวลาวิเคราะห์หุ้นและภาวะเศรษฐกิจให้วุ่นวาย จึงจัดสรรเงินทุนในพอร์ตโดยซื้อหุ้นทุกตัวตามน้ำหนักหรือสัดส่วนของหุ้นที่ใช้ในการคำนวนดัฃนี หรืออาจใช้แบบจำลองในการคำนวนเลือกหุ้นและจัดสรรสัดส่วนให้ได้ผลลัพธ์ใกล้เคียงกับตลาดมากที่สุด โดยลงทุนในแบบนั้นไปตลอด จึงเก็บค่าธรรมเนียมการจัดการในอัตราต่ำ ซึ่งเป็นที่มาของชื่อ Passive Fund

กองทุนใช้กลยุทธ์แบบ Active คนส่วนใหญ่ยังเข้าใจผิดกันอยู่มาก ถ้ายกตัวอย่างกองทุนหุ้น นักลงทุนมักเข้าใจว่ากองทุนที่เป็นประเภท Active Fund  ผู้จัดการกองทุนต้องขยันทำการซื้อขายหุ้นบ่อยๆ เพื่อทำกำไร โดยคาดหวังว่าผู้จัดการกองทุนต้องมีความรู้ความสามารถสูงกว่านักลงทุนทั่วไป และมีข้อมูลที่ดีกว่า ควรมองหรือคาดการณ์ได้ว่าตลาดหุ้นจะขึ้นหรือลง และหุ้นตัวไหนจะขึ้น จึงเข้าไปซื้อไว้ก่อนและขายออกที่ราคาสูงๆ แต่ความเป็นจริงผู้จัดการกองทุนไม่ได้มีความสามารถในการคาดการณ์ทิศทางของตลาดหรือหุ้นรายตัวได้ถูกต้องแม่นยำเหนือนักลงทุนทั่วไป

ผลตอบแทนที่ได้จากการลงทุนของผู้จัดการกองทุนส่วนใหญ่ไม่ได้มาจากความสามารถในการจับจังหวะตลาดและทำกำไรจากการขึ้นลงของราคาหุ้น (ถ้าเทียบกันแล้วนักลงทุนอาจซื้อขายหุ้นบ่อยกว่าผู้จัดการกองทุนด้วยซ้ำไป) ผลตอบแทนส่วนใหญ่มาจากการคัดสรรและเลือกลงทุนในหุ้นที่ผู้จัดการกองทุนได้ทำการวิเคราะห์มาอย่างรอบด้านแล้วว่าเป็นหุ้นที่ราคามีโอกาสขึ้นดีจากพื้นฐานของตัวบริษัทที่มียอดขายและกำไรที่ดี มีอัตราการเติบโตสูง มีองค์ประกอบของสินค้า/บริการ ผู้บริหาร แผนธุรกิจ ที่สอดคล้องและได้ประโยขน์จากปัจจัยแวดล้อมทางธุรกิจ ซึ่งเกิดจากการวิเคราะห์และติดตามข้อมูลของบริษัทต่างๆ รวมทั้งภาวะเศรษฐกิจ อุตสหากรรม อย่างสม่ำเสมอ ซึ่งเรียกได้ว่าเป็นความ Active หรือความขยันของผู้จัดการกองทุน ซึ่งเน้นการลงทุนระยะยาวในหุ้นที่คัดเลือกมาเป็นอย่างดีแล้ว ไม่จำเป็นต้องซื้อขายหุ้นบ่อยๆ ให้สิ้นเปลืองค่าธรรมเนียมโบรกเกอร์ โดยยังไม่นับโอกาสขาดทุนจากการเก็งกำไรในระยะสั้น