ในปี 2019 ที่ผ่านมา ภาพรวมเศรษฐกิจของประเทศจีน GDP เติบโตลดลงอย่างมากในช่วงครึ่งปีหลัง โดยเกิดจากปัจจัยต่างๆ เช่น สงครามการค้าระหว่างจีน-สหรัฐฯ การประท้วงในฮ่องกง อัตราการผิดนัดชำระหนี้ของหุ้นกู้เอกชนหลายแห่ง ทำให้รัฐบาลต้องออกมาตรการหลายอย่างเพื่อปรับสมดุลทางเศรษฐกิจ ปัจจัยเหล่านี้ทำให้บรรยากาศการลงทุนไม่สดใสนัก แต่กองทุนเปิดบัวหลวงหุ้นจีน (B-CHINE-EQ) สามารถผงาดทำกำไรได้สูงถึงกว่า 38% และสูงกว่าดัชนีชี้วัดเกินเท่าตัวโดดเด่นเป็นที่หนึ่งในอุตสาหกรรมกองทุนหุ้นจีนประเภทที่ลงทุนได้ในทุกตลาด หรือกลยุทธ์แบบ All China Strategy
ทั้งนี้ปัจจัยสำเร็จมาจากการเลือกลงทุนในบริษัทที่เติบโตสอดคล้องกับเศรษฐกิจยุคใหม่ การยกระดับการบริโภค การยกระดับอุตสาหกรรมการผลิต รวมถึงการลงทุนด้านการวิจัยและพัฒนาทางด้านเทคโนโลยีอย่างกว้างขวาง เช่น การวิจัยและพัฒนาเครือข่าย 6G เป็นต้น
ปัจจุบัน หน่วยลงทุนมีหุ้นที่โดดเด่นสำคัญๆ ได้แก่ บริษัท Jiangsu Hengli Hydraylics ซึ่งเป็นผู้ผลิตไฮดรอลิกรายใหญ่ที่สุดในจีน และรายใหญ่อันดับ 8 ของโลก จำหน่ายสินค้าให้ลูกค้าทั้งในประเทศ ลูกค้าต่างประเทศ อาทิ Caterpillar ธุรกิจมีผู้แข่งขันในตลาดน้อยราย บริษัท Ping An Insurance บริษัทประกันชีวิตที่มีการลงทุนด้านเทคโนโลยีอย่างกว้างขวาง ทำให้มีโอกาสได้เปรียบทางด้านการแข่งขัน สามารถเป็นผู้นำตลาดประกันชีวิตและจากการที่ตลาดประกันชีวิตของจีนยังมีขนาดเล็กอยู่เพียง 4.2% จึงมีโอกาสเติบโตอีกมากเนื่องจากผู้คนต้องการหลักประกันสุขภาพที่ดี
ด้วยความน่าสนใจของหุ้นรายตัวแล้ว ตลาดหุ้น A shares ของจีนก็มีความน่าดึงดูดให้เข้าไปลงทุนเป็นอย่างมาก เนื่องจากโอกาสการเติบโตยังมีอยู่สูง แม้เมื่อปีที่ผ่านมา ตลาดมี P/E อยู่ที่ 9 เท่าและขยับขึ้นมาเป็น 13 เท่า ก็ยังถือว่าต่ำอยู่ จึงยังมีโอกาสที่ราคาจะขึ้นต่อไปอีก แม้การปรับตัวสูงขึ้นในปีที่ผ่านมาอาจทำให้ตลาดมีการขายเพื่อทำกำไรหรือปรับฐานในระยะสั้น แต่ในระยะยาวยังมีโอกาสเติบโตอีกมาก
ปัจจัยสำคัญอีกประการหนึ่งที่แสดงให้เห็นถึงศักยภาพคือ การที่ดัชนี MSCI ได้ประกาศนำหุ้นจีนเข้าคำนวณในดัชนี MSCI Emerging Market และ MSCI China เพิ่มมากขึ้น แสดงให้เห็นถึงความสำคัญของตลาดหุ้นจีน A Shares ต่อตลาดหุ้นโลก จะช่วยยกระดับหุ้นจีนให้มีความโปร่งใส น่าเชื่อถือ และเป็นสากลมากขึ้น คาดการณ์ว่าการเปลี่ยนแปลงดังกล่าวจะช่วยดึงดูดเม็ดเงินเข้าสู่ตลาดหุ้นจีนในระยะยาว จากที่ปัจจุบันมีการถือครองของต่างชาติต่ำอยู่ที่ 5-7% เท่านั้น
ตลาด A Shares ยังเป็นตลาดทีมีลักษณะพิเศษอีกอย่างหนึ่งคือ มีสัดส่วนของนักลงทุนรายย่อยมากถึง 86% ซึ่งนักลงทุนกลุ่มนี้มีความอ่อนไหวง่าย เน้นการลงทุนระยะสั้น เพื่อเก็งกำไร กองทุนจึงมีความได้เปรียบโดยจะอาศัยโอกาสเข้าลงทุนหุ้นพื้นฐานดี ในช่วงที่นักลงทุนส่วนใหญ่เกิดความตื่นกลัว เพื่อสร้างผลตอบแทนที่ดีให้กับนักลงทุนในระยะยาว
มุมมองจากผู้จัดการกองทุน Allianz Global Investors
ในปีนี้ทางผู้จัดการกองทุนเปิดบัวหลวงหุ้นจีน (Outsourced fund manager) มองว่า เศรษฐกิจมหภาคจีนเติบโตได้ในระดับ 6.00% หรือต่ำกว่าในบางไตรมาส กำไรสุทธิบริษัทจีนที่จดทะเบียนในประเทศ (China A-Shares Onshore Market ) เติบโตที่ประมาณ 6-9% ซึ่งใกล้เคียงกับกำไรสุทธิบริษัทจดทะเบียนจีนในต่างประเทศ (China H-Shares and ADRs market) และยังมองต่อไปอีกว่าดัชนีตลาดหุ้นจีนในปีนี้จะยังสามารถให้ผลตอบแทนเป็นบวกต่อเนื่องจากปีที่แล้ว จากการที่ดัชนีตลาดโดยเฉพาะหุ้นกลุ่มลาร์จแคปจะได้รับการ Re-rating หมายถึง ราคาหุ้นซื้อ/ขายในระดับที่สูงขึ้นกว่าเดิมจากกระแสเงินไหลเข้า เพราะนักลงทุนคาดหวังผลกำไรบริษัทที่ดีขึ้นกว่าช่วงก่อนหน้า สมมติฐานดังกล่าว ผู้จัดการกองทุน Allianz Global Investors ระบุเป้าหมายดัชนีตลาด ณ สิ้นปี ค.ศ. 2020 เพิ่มขึ้น 15-20% จากสิ้นปี ค.ศ. 2019 ในรูปสกุลเงินหยวน
สำหรับกลุ่มอุตสาหกรรมลงทุนนั้น ผู้จัดการกองทุนชื่นชอบธุรกิจที่อยู่ในกลุ่มสินค้าอุปโภคบริโภค เนื่องจากชาวจีนหันมาบริโภคสินค้าคุณภาพสูงที่เรียกว่า High –end products พอร์ตลงทุนจีงให้น้ำหนักมากกับหุ้นในกลุ่มนี้มากเป็นพิเศษ ทั้งกลุ่มสินค้าอุปโภคบริโภคฟุ่มเฟือย (Consumer discretionary) และกลุ่มสินค้าอุปโภคบริโภคจำเป็น (Consumer Staple) ปีที่แล้วบริษัทลงทุนที่อยู่ในกลุ่มสินค้าอุปโภคบริโภคจำเป็น เช่น สุราขาว ไวน์ ได้รับการ Re-rating แต่ในปีนี้ด้วยปัจจัยมหภาคที่ชัดขึ้นไม่ว่าจะเป็นการบรรลุข้อตกลงทางการค้าเฟส 1 กับสหรัฐฯ คาดว่าจะทำให้บริษัทลงทุนในกลุ่มสินค้าอุปโภคบริโภคฟุ่มเฟือยเป็นกลุ่มถัดไปที่ได้รับการ Re-rating จากตลาด รวมถึงกลุ่มบริษัทผู้ผลิตรถยนต์ กลุ่มบริษัทผู้ผลิตเครื่องใช้ภายในบ้าน กลุ่มผู้วิจัยและพัฒนายาที่อยู่ในระยะทดลอง กลุ่มไอที (เฉพาะบริษัทที่เป็นผู้นำด้านส่วนแบ่งตลาด) กลุ่มรถยนต์ไฟฟ้า (เฉพาะบริษัทผู้ผลิตแบทเตอรี่ไฟฟ้า ซึ่งเป็นต้นน้ำในสายการผลิตให้ค่ารถยนต์)
ด้านนโยบายทางการเงินจีน จากหลายปีที่ผ่านมาจีนมักแสดงให้โลกเห็นว่า สามารถปรับใช้นโยบายได้อย่างทันทีที่เห็นภาพรวมเศรษฐกิจเริ่มแสดงอาการเอนเอียง ในปีนี้ผู้จัดการกองทุนมองนโยบายการเงินในโหมดผ่อนคลายต่อไป คาดว่าจะเห็นการปรับลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายลงอีก สภาพคล่องในระบบยังมีเหลือเฟือ ดังนั้นหาก MSCI จะยังไม่พิจารณาเพิ่มน้ำหนักตลาดหุ้นจีน A-Shares เข้าไว้ในดัชนี MSCI Emerging Market อีกก็ไม่ได้เป็นอุปสรรค
ผู้จัดการกองทุนยังคงคาดว่าจะเห็นกระแสเงินไหลเข้าจากนักลงทุนต่างชาติอย่างต่อเนื่องผ่านช่องทางเซี่ยงไฮ้เสิ่นเจิ้นสต็อคคอนเนคต์ หากพิจารณาเม็ดเงินลงทุนจากต่างชาติแล้ว สองปีที่ผ่านมาเม็ดเงินที่ไหลเข้ามาลงทุนในตลาดหุ้นจีน A-Shares ส่วนใหญ่มาจากนักลงทุนทางฝั่งยุโรป เนื่องจากนักลงทุนทางฝั่งสหรัฐฯ ส่วน
ใหญ่ยังเคลือบแคลงสงสัย แต่ในช่วงหลังเมื่อการลงนามทางการค้า ผู้จัดการกองทุนเริ่มเห็นเม็ดเงินจากทางฝั่งสหรัฐฯ เพิ่มขึ้น
กราฟ : Significant pick up in global investor flows into A-Shares
กราฟ : China A-Share Valuation still attractive, below historical level
ด้านนโยบายการคลังจีน แม้การออกมาตรการภาครัฐเพื่อประคองเศรษฐกิจในช่วงที่ผ่านมา เช่น การปรับลดภาษี มีส่วนสำคัญที่ทำให้อัตราส่วนหนี้สาธารณะจะพุ่งขึ้นจากเดิม แต่หนี้ส่วนใหญ่เป็นหนี้ที่ก่อขึ้นภายในประเทศ ในขณะที่หนี้ภาคเอกชนในส่วนของบริษัทจดทะเบียนที่อยู่ในหมวดพัฒนาอสังหาริมทรัพย์จะมีภาระหนี้ครบกำหนดชำระคืนในช่วงกลางปีนี้ แต่บริษัทกลุ่มนี้ได้ระดมทุนผ่านตลาดบอนด์และตลาดทุนได้สำเร็จในช่วงสองสามเดือนที่ผ่านมาทำให้ไม่น่าจะมีปัญหาทางด้านสภาพคล่อง
Source: Allianz Global Investor, 14 January 2020
ผลการดำเนินงานรายไตรมาส (4Q2019) ของหน่วยลงทุน Allianz All China Equity
ไตรมาสที่ผ่านมา (ต.ค. –ธ.ค. 2019) หน่วยลงทุน AGI All China (16.4%) สร้างผตอบแทนได้ดีกว่าดัชนี (13.1%) ปัจจัยหลักมาจากการคัดเลือกหุ้นรายตัวที่อยู่ในกลุ่มอุตสาหกรรม เทคโนโลยี และสถาบันการเงิน ให้ผลตอบแทนดี ขณะที่การคัดเลือกหุ้นรายตัวที่อยู่ในกลุ่มสินค้าฟุ่มเฟือย ให้ผลตอบแทนไม่ดี ด้านการน้ำหนักมาก/น้อยกับกลุ่มอุตสาหกรรมลงทุนไม่มีผลนักต่อผลตอบแทนกองทุนหลัก
- หุ้นที่สร้างผลตอบแทนดีที่สุดให้หน่วยลงทุน AGI All China Equity คือ บริษัท Luxshare Precision Industries เป็นซัพพลายเออร์ให้กับบริษัทผู้ผลิตชิ้นส่วนคอมพิวเตอร์และสมาร์ทโฟนทั่วโลก บริษัทมีทีมบริหารแข็งแกร่ง ด้วยคุณภาพของผลิตภัณฑ์ ทำให้มีส่วนแบ่งตลาดเพิ่มเติมในฐานะเป็นซัพพลายเออร์ให้กับสมาร์ทโฟนของบริษัท Apple สำหรับโอกาสเติบโตในอนาคตของบริษัทคือการขยายไลน์การผลิตและการขยายกลุ่มลูกค้าเพิ่มเติมจากนี้อีก
- หุ้นที่สร้างผลตอบแทนต่ำที่สุดให้กองทุน AGI All China Equity คือ บริษัท Yonghui Superstores ทำธุรกิจซูเปอร์มาเก็ตมีสาขาครอบคลุมทุกมณฑลในประเทศจีน ราคาหุ้นลดลงหลังตลาดกังวลว่าเศรษฐกิจมหภาคและบรรยายกาศด้านการบริโภคจีนยังอึมครึม อาจส่งผลต่อผลประกอบการ แต่กองทุนหลักเชื่อว่าแรงขายน่าสิ้นสุดลง บริษัทมีโอกาสครองส่วนแบ่งทางการตลาดเพิ่มขึ้นจากร้านสะดวกซื้อ
กลยุทธ์พอร์ตลงทุนของหน่วยลงทุน AGI All China Equity และมุมมองต่อตลาด
ปี 2019 ในช่วงที่เศรษฐกิจจีนเผชิญกับความท้าทายและตลาดมีความกังวลต่อประเด็นด้านภูมิรัฐศาสตร์ หุ้นจีนยังสร้างผลตอบแทนที่ดีให้นักลงทุนได้ ทางผู้จัดการกองทุนคาดว่า ปัจจัยความท้าทายและความกังวลจะยังไม่จางคลาย ดังนั้นมุมมองทางด้านผลตอบแทนปีนี้ (2020) จึงเป็นไปได้น้อยมากที่จะเห็นหุ้นจีนสร้างผลตอบแทนงดงามเหมือนในปีที่แล้ว (2019) ถึงแม้ว่าบริษัทจดทะเบียนขนาดใหญ่จะได้รับการ re-rating ต่อก็ตาม
กระนั้นก็ดี การที่หุ้นจีนทั้ง Onshore และ Offshore ซื้อขายระดับมูลค่า 12 x FW PE ถือว่ายังไม่แพงเมื่อเทียบกับตลาดอื่นและเมื่อเทียบกับค่าเฉลี่ยของตนเองในอดีต ภาพรวมกำไรบริษัทจดทะเบียนปีนี้เป็นที่คาดหมายว่าจะออกมาในเชิงบวกเป็นปัจจัยบวกสนับสนุนราคาหุ้นให้ได้รับอานิสงค์ในแง่ของกระแสเงิน บนพื้นฐานระยะยาวที่ดัชนี MSCI จะเพิ่มน้ำหนักหุ้นจีน A-shares อย่างมีนัยยะ ในแง่การบริหารพอร์ตและการเลือกหุ้นรายตัว ผู้จัดการกองทุนมองเห็นโอกาสอยู่มากทีเดียว โดยพบโอกาสในการเลือกหุ้นแทบทุกกลุ่มอุตสาหกรรม โดยเฉพาะหุ้นของบริษัทซึ่งเป็นผู้นำตลาดทางด้านสินค้าบริโภค ผู้ให้บริการด้านสุขภาพ เทคโนโลยี และนวัตกรรม
รายละเอียดการลงทุนของหน่วยลงทุน AGI All China Equity
ผลการดำเนินงานรายไตรมาส (4Q2019) ของหน่วยลงทุน Allianz China A-Shares
ไตรมาสที่ผ่านมา (ต.ค. –ธ.ค. 2019) หน่วยลงทุน AGI China A-Shares (15.3%) สร้างผตอบแทนได้ดีกว่าดัชนี (10.3%) เนื่องจากการคัดเลือกหุ้นรายตัวเป็นหัวใจหลักของกลยุทธ์การบริหารพอร์ต หุ้นในพอร์ตที่อยู่ในกลุ่มอุตสาหกรรม วัสดุก่อสร้าง สินค้าบริโภคจำเป็น สร้างผลตอบแทนที่ดีให้กับพอร์ต
- หุ้นที่สร้างผลตอบแทนดีที่สุดให้หน่วยลงทุน AGI China A-Shares คือ บริษัท Jiangsu Hengli Hydraulics บริษัทเป็นผู้นำตลาดทางด้านผู้ผลิตไฮดรอลิก ประสบความสำเร็จอย่างสูงในการครองส่วนแบ่งทางการตลาดเพิ่มขึ้นในจีน ธุรกิจของบริษัทเป็นตัวอย่างที่ดีที่แสดงให้เห็นว่าบริษัทจีนสามารถเอาชนะห่วงโซ่อุปทานซึ่งเคยเป็นของบริษัทต่างชาติได้สำเร็จ นอกจากนี้ สินค้าใหม่ของบริษัท Jiangsu Hengli Hydraulics ประเภทวาล์วและปั๊มเติบโตได้ดีจากปัจจัยเชิงโครงสร้างที่นำไปสู่จีนยุคใหม่
- หุ้นที่สร้างผลตอบแทนต่ำที่สุดให้หน่วยลงทุน AGI China A-Shares คือ บริษัท Yonghui Superstores ทำธุรกิจซูเปอร์มาเก็ตมีสาขาครอบคลุมทุกมณฑลในประเทศจีน ราคาหุ้นลดลงหลังตลาดกังวลว่าเศรษฐกิจมหภาคและบรรยายกาศด้านการบริโภคจีนยังอึมครึม อาจส่งผลต่อผลประกอบการ แต่กองทุนหลักเชื่อว่าแรงขายน่าสิ้นสุดลง บริษัทมีโอกาสครองส่วนแบ่งทางการตลาดเพิ่มขึ้นจากร้านสะดวกซื้อ
กลยุทธ์พอร์ตลงทุนของหน่วยลงทุน AGI China A-Shares และมุมมองต่อตลาด
ภาพรวมหุ้นจีน A-Shares ซื้อขายระดับมูลค่า 13 x FW PE เทียบกับอัตราการเติบโตของกำไรสุทธิบริษัทจดทะเบียน 8-10% อยู่ในระดับที่เหมาะสม แต่ที่น่าสนใจคือห้าปีผ่านไปดัชนี MSCI China A ให้ผลตอบแทนที่ประมาณศูนย์เปอร์เซนต์ ว่ากันโดยภาพรวมปัจจัยสนับสนุนตลาดคือ สภาพคล่องทางการเงินที่ผ่อนคลาย โดยได้รับการสนับสนุนจากทางการ ความต้องการลงทุนจากนักลงทุนต่างชาติ และการเพิ่มน้ำหนักในดัชนี MSCI EM ผู้จัดการกองทุนมั่นใจว่าตลาดหุ้นจะมีเม็ดเงินหลั่งไหลเข้ามาจากความต้องการถือครองหุ้นจีน A-Shares จากนักลงทุนต่างชาติ
อะไรคือปัจจัยเสี่ยง ? แม้ระดับมูลค่าหุ้นเหมาะสม แต่ราคาไม่ได้ถูกเท่ากับที่เกิดขึ้นตอนต้นปี 2018 โดยเฉพาะหุ้นบริษัทจดทะเบียนขนาดใหญ่ที่มีฐานะทางการเงินดีซึ่งเป็นที่ชื่นชอบของนักลงทุนต่างชาติ นักลงทุนรายย่อยในประเทศคงไม่เป็นผู้ซื้อตามโมเมนตัมที่เกิดขึ้นในช่วงก่อนหน้าตามทิศทางกระแสเงิน ผู้จัดการกองทุนเชื่อหุ้นหุ้นบริษัทจดทะเบียนขนาดใหญ่ที่ให้ผลตอบแทนโดดเด่นกว่าหุ้นขนาดกลางและเล็กมาตั้งแต่ปี 2016 นั้น เป็นไปไม่ได้เลยที่ผลตอบแทนจะโดดเด่นในปีนี้ จึงมองหาหุ้นขนาดกลางและเล็กในกลุ่มเทคโนโลยี เฮลธ์แคร์ และอุตสาหกรรม ที่มีโอกาสเติบโตแบบที่เรียกว่า Secular Growth แทน
รายละเอียดการลงทุนของหน่วยลงทุน AGI China A-Shares
กระบวนการลงทุนของ Allianz Global Investor Fund
- คัดสรรหลักทรัพย์จากปัจจัยสามด้านคือต้องเป็นทั้งหุ้นเติบโต (Growth) หุ้นคุณภาพ (Quality) และหุ้นที่มีระดับมูลค่าเหมาะสม (Valuation) เพื่อให้ได้มาซึ่งหลักทรัพย์ลงทุน 40-60 บริษัท
- ทีมงานวิจัยภาคสนาม (Grass roots research) ลงไปสำรวจบริษัทนั้นๆตั้งแต่แหล่งที่มาของรายได้ แหล่งที่มาของต้นทุน ทิศทางอุตสาหกรรม ทั้งจากผู้ประกอบการ ตัวแทนขาย ลูกค้า
- วิเคราะห์ติดตามความเสี่ยงอย่างต่อเนื่อง (Ongoing Basis) ว่าเป็นไปตามแนวทางการลงทุน (Client guideline) ความเสี่ยงจะถูกประเมินทั้งระดับพอร์ตโฟลิโอ ประเทศ อุตสาหกรรม สไตล์ และรายหลักทรัพย์ โดยใช้ตัวชี้วัดมาตรฐานเช่น Tracking Error, Sharpe Ratio, Information Ratio, Volatility และ Portfolio Beta
สัดส่วนการลงทุนกองทุนเปิดบัวหลวงหุ้นจีน ณ วันที่ 31 ม.ค. 2020
ผลการดำเนินงานกองทุนเปิดบัวหลวงหุ้นจีน ณ วันที่ 31 ม.ค. 2020
ประเด็นข่าวที่น่าสนใจ
ตั้งแต่วันที่ 27 พ.ย. 2019 เป็นต้นไป MSCI ยกเลิกการให้บริการ MSCI All China index โดยจะเปลี่ยนมาใช้ MSCI China All Shares Index แทน
เดิมที วิธีการที่ใช้ในการคำนวณดัชนี MSCI All China Index นั้น เป็นเพียงการนำ MSCI China A Onshore Index (หุ้นจีนที่จดทะเบียนในประเทศ) กับ MSCI China (หุ้นจีนที่จดทะเบียนอยู่ในต่างประเทศเช่น ตลาดฮั่งเส็ง ตลาดแนสแดก) มารวมกัน และวิธีในการกำหนดว่าหุ้นตัวไหนควรนำมารวมเป็นส่วนประกอบในของดัชนีทั้งสองนั้น ไม่ได้เป็นวิธีเดียวกัน (No Consistent methodology)
ขณะที่ MSCI China All Shares Index ที่จะเริ่มใช้ในวันที่ 27 พ.ย. ที่จะถึงนี้นั้น ใช้วิธีการคัดเลือกหุ้นที่จะมาเป็นองค์ประกอบของดัชนีเหมือนกันทั้งกับหุ้นจีนที่จดทะเบียนในประเทศ (Onshore) และกับหุ้นจีนที่จดทะเบียนอยู่ในต่างประเทศ (Offshore) โดยครอบคลุมทั้งหุ้นขนาดใหญ่และหุ้นขนาดกลาง และสะท้อน 85% ของมูลค่าตลาดของบริษัทจดทะเบียนจีนทั้งหมด
เปรียบเทียบlสัดส่วนหุ้นในดัชนี จำแนกตามตลาดที่จดทะเบียนซื้อขาย หากมีการใช้ดัชนีใหม่ อ้างอิง วันที่ 31 ก.ค. 2019
เปรียบเทียบlสัดส่วนหุ้นในดัชนี จำแนกตามกลุ่มอุตสาหกรรม หากมีการใช้ดัชนีใหม่ อ้างอิง วันที่ 31 ก.ค. 2019
ทั้งนี้หน่วยลงทุน Allianz All China Equity Fund จะเริ่มใช้ดัชนีใหม่ดังกล่าวในวันที่ 1 ก.ย. 2019 เป็นต้นไป การเปลี่ยนแปลงดังกล่าวไม่มีผลต่อพอร์ตลงทุนของหน่วยลงทุน Allianz All China Equity Fund เพราะกระบวนการลงทุนของ AGI นั้นวิเคราะห์/คัดเลือกตราสารทุนรายตัว จากกระบวนการลงทุนที่พิจารณาบริษัทที่มีศักยภาพในการเติบโตของรายได้ ธุรกิจมีศักยภาพในการแข่งขัน มีงบการเงินแข็งแกร่ง มีราคาสมเหตุสมผล