โดย…อรพรรณ บัวประชุม CFP®
ปี 2563 เป็นปีแห่งการเปลี่ยนแปลง ไม่ว่าอะไรที่ไม่เคยคิดว่าจะเปลี่ยนก็ได้เปลี่ยน จากที่เราเคยเห็นเวลาทำงาน 9-5 นั่นก็หมายถึงทำงาน 9 โมงเช้า เลิกงาน 5 โมงเย็น ที่ออฟฟิศ ก็กลับกลายเป็นว่า anytime anywhere ทำงานที่ไหนก็ได้ ทำได้ทุกเวลา ซึ่งช่วงนี้ต้องเป็นแบบนี้ แม้ว่าอาจจะมีหลายคนที่คิดถึงออฟฟิศมาก หรือแม้แต่การทานอาหารแบบง่ายๆ เมื่อก่อนเราเดินไปสั่ง ไปกินที่ร้าน แต่เดี๋ยวนี้ต้องใช้ Application หรือใครที่สะดวกโทรสั่ง ก็ทำได้ เป็นการเร่งสิ่งที่จะเกิดขึ้นในอนาคตให้เกิดเร็วขึ้นเป็นวิถีชีวิตใหม่ (New Normal) นั่นเอง
แต่เอ๊ะ แล้วเกี่ยวอะไรกับการจัดสรรเงินลงทุนกันล่ะคะ ต้องมีส่วนเกี่ยวด้วยค่ะ
ที่แน่ๆ ถ้าพูดถึงกองทุนรวม ระยะเวลาการลงทุนเปลี่ยนแน่นอนค่ะ เพราะว่าเราอยากติดเทรนด์ใหม่ๆ กันสักหน่อย คราวนี้เรามาดูกันว่ามันมีเรื่องอะไรที่ new กันบ้าง
เนื่องจากปีนี้มีการเปลี่ยนแปลงเยอะ รวมถึงเรื่องของการลงทุนที่เปลี่ยนแปลงด้วยเช่นกัน จากกองทุนรวมหุ้นระยะยาว (LTF) ที่หมดสิทธิในเรื่องการลดหย่อนภาษีแล้ว และยังมีกองทุนรวมเพื่อการออม (SSF) และ กองทุนรวมเพื่อการออมแบบพิเศษ (SSF-X) ที่ออกมาเฉพาะช่วงเท่านั้น ทำให้หลายคนเกิดความสงสัยในเรื่องการลงทุนว่าควรต้องลงทุนอย่างไร และถ้ายังไม่เคยลงทุนในกองทุนรวมเพื่อการเลี้ยงชีพ (RMF) ต้องลงทุนด้วยหรือไม่
ง่ายๆ ที่อยากให้ทุกคนกลับมาคิดถึงก่อนการลงทุน นั่นก็คือ “เป้าหมาย” ในการลงทุนครั้งนี้คืออะไร
ถ้าเป้าหมายคือ ลงทุนเพื่อเตรียมเงินไว้ใช้หลังเกษียณ แนะนำให้เลือกการลงทุนอย่างแรกใน กองทุนรวมเพื่อการเลี้ยงชีพ (RMF) ค่ะ เนื่องจากมีหลากหลายนโยบายให้เลือกลงทุน สำคัญตรงที่ไม่มีนโยบายในการจ่ายเงินปันผล เท่ากับว่าเงินที่ลงทุนในกองทุนรวม RMF คือเงินที่ต้องการเก็บไว้ใช้หลังเกษียณจริงๆ ด้วยเงื่อนไขกองทุนที่ว่าจะต้องมีอายุครบ 55 ปีก่อนจึงจะขายคืนได้ และต้องมีการลงทุนมาแล้วไม่น้อยกว่า 5 ปี ด้วย พิเศษในปี 2563 นี้ คือ ไม่มีเงื่อนไขการลงทุนขั้นต่ำ ดังนั้น เราสามารถเลือกได้ว่าต้องการลงทุนเท่าไหร่ และสามารถลงทุนได้สูงถึง 30% ของเงินได้ทั้งปี (สูงสุดไม่เกิน 500,000 บาท)
คิดง่ายๆ หากมีเงินได้ทั้งปี 1 ล้านบาท สามารถลงทุนในกองทุนรวม RMF ได้สูงสุด 300,000 บาท (เมื่อรวมกับกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ กบข. กองทุนรวม SSF แบบธรรมดา กองทุนสงเคราะห์ครูโรงเรียนเอกชน รวมถึงประกันชีวิตแบบนำนาญแล้ว ต้องไม่เกิน 500,000 บาท) ดังนั้น หากคำนวณเงินได้ 30% แล้วได้มากกว่าหรือเท่ากับ 500,000 บาทก็จะไม่สามารถใช้สิทธิลงทุนในกองทุน SSF แบบธรรมดาได้อีก
ถ้าสิทธิลงทุนในกองทุนรวม RMF เต็มสิทธิแล้ว แต่ยังไม่เต็ม 500,000 บาท ก็มาลงทุนเพิ่มเติมในกองทุนรวม SSF แบบธรรมดา ซึ่งเป็นกองทุนรวมเพื่อการออม มีหลากหลายนโยบายให้เลือกลงทุนเช่นกัน แต่เมื่อลงทุนแล้วต้องถือครอง 10 ปีเต็ม สามารถเลือกได้ว่าต้องการเงินปันผลหรือไม่ โดยพิจารณาจากนโยบายกองทุนที่ต้องการได้เลย ซึ่งในส่วนของการลงทุนในกองทุนรวม SSF นี้ สามารถลงทุนได้สูงสุด 30% ของเงินได้ทั้งปีเช่นกัน แต่จะต้องไม่เกิน 200,000 บาท
แต่ถ้าหากต้องการสิทธิลดหย่อนภาษีเพิ่มเติม ก็สามารถเพิ่มการลงทุนในกองทุนรวม SSF แบบพิเศษได้ แต่จะต้องรับความเสี่ยงได้สูง เนื่องจากกองทุนนี้ ไม่ว่าจะลงทุนที่ไหนก็ตาม นโยบายคือมีการลงทุนในหุ้นไทยไม่น้อยกว่าร้อยละ 65 ส่วนจะได้ปันผลหรือไม่นั้น ก็เลือกจากนโยบายของแต่ละกองทุนได้เลย ซึ่งการลงทุนในกองทุนรวม SSF พิเศษนี้ สามารถลงทุนได้สูงสุด 200,000 บาท เท่ากันทุกคน โดยที่ไม่ต้องคำนวณจากเงินได้แต่อย่างใด และต้องถือครอง 10 ปีเต็มเช่นกัน ที่สำคัญ ต้องลงทุนเฉพาะช่วงระหว่างวันที่ 1 เมษายน ถึง 30 มิถุนายน 2563 นี้เท่านั้นนะคะ
ดังนั้น หากใครที่ลงทุนในกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ กองทุนรวม RMF เต็มสิทธิลดหย่อนภาษี 500,000 บาทแล้ว จะลงทุนในกองทุนรวม SSF แบบธรรมดาก็ไม่สามารถลงทุนได้แล้ว แนะนำให้ลงทุนในกองทุนรวม SSF แบบพิเศษค่ะ แต่ถ้าเราไม่จำเป็นต้องลงทุนเพื่อใช้สิทธิลดหย่อนภาษีมากขนาด 700,000 บาท การเลือกลงทุนในกองทุนรวมเพื่อการเลี้ยงชีพ (RMF) เพียงประเภทเดียวก็สามารถทำได้ และมีหลากหลายนโยบายให้เลือกก็จะช่วยตอบโจทย์การลงทุนสำหรับเป้าหมายการใช้เงินหลังเกษียณได้มากกว่านั่นเองค่ะ