BF Monthly Economic Review – ก.ค. 2563

BF Monthly Economic Review – ก.ค. 2563

BF Economic Research

สรุปประเด็นสำคัญๆ ที่น่าจะมีผลต่อการลงทุน มีด้วยกัน 3 ประเด็น ได้แก่ 

  1. ตัวเลข GDP ไตรมาสที่ 2 ที่ทยอยประกาศออกมาในช่วงเดือน ก.ค.-ส.ค. 
  2. การอัพเดทนโยบายการคลังและนโยบายการเงิน 
  3. การเลือกตั้งประธานาธิบดีสหรัฐอเมริกา

1.ตัวเลข GDP ไตรมาสที่ 2 ที่ทยอยประกาศออกมาในช่วงเดือน ก.ค.-ส.ค. 

ช่วงเดือน มี.ค. เราเจอวิกฤติ COVID-19 มีการล็อกดาวน์ทั่วโลก ดังนั้นภาพเศรษฐกิจอาจไม่ได้เห็นจากการประกาศ GDP ไตรมาสแรก แต่จะมาสะท้อนใน GDP ไตรมาสที่ 2 ที่จะมีการหดตัวค่อนข้างแรงเกิดขึ้น โดยจะต้องมาติดตามว่าแต่ละประเทศ GDP หดตัวมากน้อยเพียงใด

ล่าสุดมี 4-5 ประเทศประกาศ GDP ไตรมาสที่ 2 ออกมาแล้ว ได้แก่ สิงคโปร์ จีน สหรัฐอเมริกา และเยอรมนี

สำหรับ 4 ประเทศนี้ มีเพียง จีนประเทศเดียวที่ GDP ไตรมาสที่ 2 ยังเป็นบวกอยู่ โดย +3.2% จากที่ -6.8% ในไตรมาสแรก ส่วนประเทศอื่นๆ ได้แก่ สิงคโปร์ -12.6% สหรัฐฯ -32.9% และเยอรมนี -10.1%

การเห็นตัวเลข GDP ไตรมาสที่ 2 ติดลบมากๆ แล้ว อาจทำให้นักลงทุนตกใจ อย่างไรก็ตามเราทราบกันดีอยู่แล้วว่าไตรมาสที่ 2 GDP ติดลบแน่นอน และเหตุการณ์นี้เป็นเหตุการณ์ที่สะท้อนภาพ 3 เดือนในไตรมาส 2 แต่ว่า ณ ตอนนี้ เราอยู่ที่ไตรมาสที่ 3 แล้ว ซึ่งการลงทุนเป็นการมองไปข้างหน้า ซึ่งตลาดมองว่า ไตรมาสที่ 3 จะมีการฟื้นตัวอย่างรวดเร็ว หากเราติดตามประเทศอื่นๆ ที่กำลังจะประกาศ GDP ไตรมาส 2 ออกมาเช่นเดียว ถ้าเห็นการประกาศ GDP ออกมาติดลบ ในเชิงการลงทุนถือเป็นจังหวะที่น่าสนใจในการเข้าลงทุนเพิ่มสำหรับประเทศที่นักลงทุนสนใจ

ส่วนในไตรมาสที่ 3 ในเชิงของตลาด ส่วนใหญ่ทุกประเทศได้ GDP เป็นบวกหมด มีอยู่ 4 ประเทศที่มองทั้งปีติดลบทั้งหมด ได้แก่ ไทย และประเทศกลุ่มอาเซียนที่เหลือ ดังนั้นในเชิงการลงทุนอาจจะต้องระมัดระวังที่กลุ่มประเทศเหล่านี้อาจจะไม่ได้รับผลประโยชน์ในเชิงมหภาคเท่าไหร่ ดังนั้นอาจจะต้องพิจารณาลงทุนเป็นรายบริษัทและรายอุตสาหกรรมไป

2.การอัพเดทนโยบายการคลังและนโยบายการเงิน 

กลุ่มยูโรโซน 19 ประเทศ ท้ายที่สุดสามารถเจรจาหาข้อตกลงในการออกมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจในเชิงการคลังยาวตั้งแต่ปี ค.ศ. 2021-2027 ได้ ในวงเงิน 1.8 ล้านล้านยูโร โดยตลาดให้ความสนใจวงเงิน 750,000 ล้านยูโร เพราะเงินก้อนนี้จะนำไปใช้จ่ายเพื่อบรรเทาผลกระทบจากโควิด-19 เนื่องจากกลุ่มประเทศที่อยู่กันเป็นสภา มีสมาชิกภาพหลายๆ ประเทศอยู่ด้วยกันกว่าจะได้ข้อตกลงค่อนข้างนาน ดังนั้นเมื่อหาข้อสรุปได้ ตลาดจึงโล่งอกที่ตกลงกันได้ เป็นข่าวดีกับตลาดหุ้นยุโรปที่มาตรการผ่านไปได้

 

 

สำหรับสหรัฐฯ มีประเด็นที่น่าสนใจคือ ธนาคารกลางสหรัฐฯ (เฟด) เพิ่งจะมีการประชุม โดยผู้ว่าการ เฟด เจอโรม พาวเวลล์ ออกมาเน้นย้ำต่อเนื่องว่า เศรษฐกิจสหรัฐฯ ไม่ดีแน่นอน จะยังซบเซาอยู่ ดังนั้นในเชิงการลงทุน อัตราดอกเบี้ยนโยบายก็จะยังต่ำในระดับ 0-0.25% ต่อไป

นอกจากนี้ เมื่อเดือน มี.ค. ที่ผ่านมา ธนาคารกลางสหรัฐฯ ได้มีการออกโครงการพิเศษในเชิงการเพิ่มสภาพคล่อง ด้วยการตั้งโต๊ะซื้อสินทรัพย์หลายๆ ประเภท โครงการเหล่านี้กำลังจะหมดอายุในช่วงปลายเดือน ก.ย. นี้ สิ่งที่เกิดขึ้นคือในการประชุมครั้งล่าสุด ธนาคารกลางสหรัฐฯ ได้มีมติขยายระยะเวลาออกไปจนถึงสิ้นปีในบางโครงการ และไปถึงไตรมาส 1 ปีหน้าในบางโครงการ ดังนั้นนอกเหนือจากอัตราดอกเบี้ยต่ำแล้ว ยังมีสภาพคล่องอยู่ในสหรัฐฯ แน่นอน

ธนาคารกลางสหรัฐฯ (Fed) มีมติเป็นเอกฉันท์ (10-0) คงดอกเบี้ยนโยบาย Federal Fund Rate ไว้ที่ระดับ 0.00-0.25% และย้ำพร้อมใช้เครื่องมือที่มีเพื่อหนุนการฟื้นตัวของเศรษฐกิจ ท่ามกลางการระบาดของ COVID-19 ที่กระทบกิจกรรมทางเศรษฐกิจ การจ้างงาน และเงินเฟ้อในระยะใกล้

โดย Fed มีมติเป็นเอกฉันท์ให้ อัตราดอกเบี้ยอยู่ที่ระดับปัจจุบัน (0.00-0.25%) จนกว่าเศรษฐกิจจะสามารถเลยผ่านปัจจัยเสี่ยงในปัจจุบัน และกลับเข้าสู่เป้าหมายเดิมคือการจ้างงานเต็มอัตราและระดับราคาที่มีเสถียรภาพได้ ทั้งนี้ Dot plot ล่าสุด (เดือน มิ.ย.) สะท้อนว่าอัตราดอกเบี้ยจะคงอยู่ที่ระดับปัจจุบันไปจนถึงปี 2022 เป็นอย่างน้อย

แถลงการณ์ของ Fed ระบุกิจกรรมทางเศรษฐกิจและการจ้างงานฟื้นตัวขึ้นในช่วงที่ผ่านมา แต่ยังอยู่ในระดับต่ำกว่าช่วงต้นปีก่อนการระบาดของ COVID-19 ขณะที่อุปสงค์ที่อ่อนแอและการปรับลดลงรุนแรงของราคาน้ำมันได้กดดันอัตราเงินเฟ้อ ส่วนสถานะทางการเงินโดยรวมปรับดีขึ้น ซึ่งส่วนหนึ่งจากผลดีของมาตรการช่วยเหลือที่ได้ออกมา

Fed ระบุแนวโน้มเศรษฐกิจสหรัฐฯ ในระยะข้างหน้าขึ้นอยู่กับพัฒนาการของ COVID-19 เป็นสำคัญ ซึ่ง Fed จะติดตามข้อมูลต่างๆ อย่างใกล้ชิดเพื่อประกอบการตัดสินใจแนวทางการดำเนินนโยบาย พร้อมทั้งเน้นย้ำถึงความสำคัญของการกระตุ้นทางการคลังที่จะมีผลกระตุ้นการใช้จ่ายในประเทศ

ด้านสภาพคล่อง Fed ระบุจะเข้าซื้อพันธบัตรรัฐบาล (Treasury) และตราสารหนี้ที่มีสินเชื่อที่อยู่อาศัยเป็นหลักประกัน ซึ่งออกโดยหน่วยงานภาครัฐ (MBS) ที่อัตราปัจจุบัน “เป็นอย่างน้อย” ในช่วงเดือนข้างหน้า (Treasury เดือนละ USD80bn และ MBS เดือนละ USD40bn) เพื่อหนุนสภาพคล่องในระบบและหนุนการส่งผ่านของนโยบายการเงินที่ผ่อนคลายสู่ระบบเศรษฐกิจจริง

นอกจากนี้ Fed ยังได้ขยายเวลามาตรการ Dollar Liquidity Swap Lines และมาตรการซื้อคืนพันธบัตร (FIMA  Repo) ที่ได้ทำกับธนาคารกลางต่างๆ ทั่วโลก ไปจนถึงสิ้นเดือน มี.ค. 2021 เพื่อช่วยลดความตึงตัวของสภาพคล่องของเงินดอลลาร์สหรัฐฯ (Fed ได้เริ่มสองมาตรการดังกล่าวในเดือน มี.ค. ในช่วงการระบาดรุนแรงของ COVID-19)

ก่อนหน้านี้ ในวันที่ 28 ก.ค. Fed ได้ขยายเวลามาตรการสนับสนุนสินเชื่อได้แก่ Primary Dealer Credit Facility, Primary and Seconday Market Corporate Credit Facility, Term Asset-Backed Securities Loan, Paycheck Protection Program Liquidity Facility และ Mainstreet Lending Facility  ออกไปอีก 3 เดือน จนถึงสิ้นเดือน ธ.ค. 2020 (เดิมสิ้นสุดเดือน ก.ย.) ส่วนมาตรการ Commercial Paper Funding Facility มีกำหนดสิ้นสุดวันที่ 17 มี.ค. 2021 เพื่อสร้างความมั่นใจว่ามาตรการต่างๆ จะยังคงอยู่เพื่อหนุนการฟื้นตัวของเศรษฐกิจ

ทั้งนี้ สหรัฐฯจะประกาศ GDP ในไตรมาส 2/2020 ในวันนี้ ตลาดคาดว่า GDP ในไตรมาสสองจะติดลบที่ -34.1%  QoQ saar

3.การเลือกตั้งประธานาธิบดีสหรัฐอเมริกา

เป็นประเด็นที่น่าติดตาม เนื่องจากคะแนนของพรรคเดโมแครตนำโด่งเหนือพรรครีพับลิกัน ซึ่งนักลงทุนอาจจะสงสัยว่า ถ้าพรรคเดโมแครต หรือรีพับลิกันชนะ จะมีผลอย่างไรบ้างต่อการลงทุน

 

ประเด็นที่น่าสนใจ

  1. การเก็บภาษี ถ้ารีพับลิกันยังได้เป็นประธานาธิบดีอยู่ ก็จะเป็นผลบวกกับบริษัทในตลาดหลักทรัพย์ แต่ถ้าเดโมแครตมา ตลาดจะมีความกังวลเล็กน้อย เพราะเดโมแครตมีจุดยืนชัดเจนว่าการปรับลดภาษีเงินได้นิติบุคคลจะต้องหมดไป แต่เบื้องต้นเรามองว่า หากโจ ไบเดน เข้ามา ก็คงไม่รีบปรับขึ้นภาษีเงินได้นิติบุคคล
  2. การใช้จ่ายภาครัฐ ถ้าเป็นเดโมแครตจะเน้นการให้สวัสดิการสุขภาพ และมุ่งการใช้จ่ายลงทุนโครงการภาครัฐมากกว่า และเดโมแครตให้ความสนใจพลังงานสะอาด จุดนี้อาจเป็นจุดเปลี่ยนของการลงทุน ถ้าโจ ไบเดน ชนะการเลือกตั้งครั้งนี้
  3. การค้าระหว่างประเทศ ถ้ารีพับลิกันชนะ ภาวะการทะเลาะกันระหว่างสหรัฐฯ และจีนยังคงอยู่ แต่ถ้าโจ ไบเดน เข้ามา การวางนโยบายการค้าระหว่างประเทศอาจเปลี่ยนแปลงไป อาจมีการตกลงเจรจาที่ราบรื่นขึ้น

ดังนั้นหากเดโมแครตได้ นักลงทุนอาจกังวลใจเมื่อมีการเปลี่ยนขั้วทางการเมือง แต่การเปลี่ยนขั้วทางการเมืองอาจเกิดการ correction ของตลาดหุ้นสหรัฐฯ อย่างไรก็ตามหากมองระยะยาว การเปลี่ยนขั้วทางการเมืองอาจเป็นเพียงการเปลี่ยน sector การลงทุน จากนโยบายที่จะเปลี่ยนแปลงไป

 

หากเป็นนักลงทุนที่มองระยะยาว ทุกครั้งที่ตลาดปรับตัวลงมา อย่ามองว่าเป็นความเสี่ยง ให้มองเป็นโอกาสในการเข้าไปสะสมหุ้นในประเทศที่สนใจ ในต้นทุนที่ต่ำลง และการลงทุนอย่างสม่ำเสมอ จะช่วยให้เฉลี่ยต้นทุนในระดับความเสี่ยงที่รับได้ด้วย เพื่อที่ท้ายที่สุดมองไประยะยาวก็จะได้รับผลตอบแทนกลับมาในระดับที่พึงพอใจ