กองทุนบัวหลวงปล่อยหมัดเด็ด ด้วย ‘TRIGGER 9-21’ ทริกเกอร์ฟันด์ 12 เดือน เอาใจนักลงทุนที่หวังคว้าโอกาสช่วงหุ้นไทยฟื้นตัว

กองทุนบัวหลวงปล่อยหมัดเด็ด ด้วย ‘TRIGGER 9-21’ ทริกเกอร์ฟันด์ 12 เดือน เอาใจนักลงทุนที่หวังคว้าโอกาสช่วงหุ้นไทยฟื้นตัว

  • กองทุนบัวหลวง พร้อมเสนอขายกองทุนเปิดบัวหลวงทริกเกอร์ 9-21 หรือ TRIGGER 9-21 กองทุนประเภททริกเกอร์ฟันด์ ที่กำหนดเป้าหมายการหาผลตอบแทนให้ได้ 8% ภายใน 12 เดือน เพื่อเป็นทางเลือกให้นักลงทุนที่มองเห็นโอกาสจากการลงทุนในตลาดหุ้นไทยที่สะท้อนว่า ผ่านจุดต่ำสุดไปเรียบร้อยแล้วและจะทยอยฟื้นตัว หลังจากสถานการณ์โควิด-19 เริ่มคลี่คลาย ทั้งกำลังจะมีวัคซีนป้องกันใช้ ส่งผลให้เศรษฐกิจและธุรกิจกลับมาเดินหน้าได้อีกครั้ง พร้อมขายหน่วยลงทุนครั้งแรก (IPO) วันที่ 14-16 กันยายน 2563 ในราคาหน่วยลงทุนละ 10 บาท กำหนดซื้อขั้นต่ำ 10,000 บาท

นายพีรพงศ์ จิระเสวีจินดา ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุนรวม บัวหลวง จำกัด หรือ กองทุนบัวหลวง เปิดเผยว่า กองทุนบัวหลวง จะเสนอขายหน่วยลงทุนครั้งแรก (IPO) กองทุนเปิดบัวหลวงทริกเกอร์ 9-21 หรือ TRIGGER 9-21 เพียงครั้งเดียว ระหว่างวันที่ 14-16 กันยายน 2563 ในราคาหน่วยลงทุนละ 10 บาท กำหนดการซื้อขั้นต่ำ 10,000 บาท โดยมองว่า ตลาดหุ้นไทยกำลังฟื้นตัว หากคัดเลือกลงทุนในหุ้นที่มีแนวโน้มดี ก็มีโอกาสคาดหวังผลตอบแทนที่น่าพอใจได้ จึงออกกองทุนนี้มา พร้อมกำหนดเป้าหมายระยะเวลาการลงทุนไว้ไม่เกิน 12 เดือน เพื่อคาดหวังการแสวงหาผลตอบแทนให้ได้ 8%

“เดือนมีนาคม ที่เริ่มมีสถานการณ์ไวรัสโควิด-19 แพร่ระบาดในประเทศไทย ตลาดหุ้นไทยปรับลดลงไปมาก โดยช่วงสิ้นเดือนมีนาคม 2563 ดัชนีตลาดหุ้นไทยปรับลดลง 28.7% เมื่อเทียบกับสิ้นปี 2562 หลังจากนั้นก็สามารถปรับตัวขึ้นมาได้ จนกระทั่งสิ้นเดือนมิถุนายน 2563 ดัชนีตลาดหุ้นไทย ปรับลดลงเพียง 15.2% เมื่อเทียบกับสิ้นปีก่อน จากแนวโน้มนี้สะท้อนให้เห็นว่า ตลาดหุ้นน่าจะผ่านจุดต่ำสุดมาเรียบร้อยแล้ว และอยู่ในช่วงฟื้นตัว” นายพีรพงศ์ กล่าว

ทั้งนี้ จากประสบการณ์ในอดีต ตลาดหุ้นไทยเผชิญมาแล้ว ทั้งวิกฤติเศรษฐกิจ การเมือง ภัยพิบัติทางธรรมชาติ หรือโรคระบาด ซึ่งทุกครั้งก็จะผ่านพ้นสถานการณ์เหล่านี้และฟื้นตัวได้ อีกทั้งในวิกฤติ ย่อมมีโอกาสเสมอ ดังนั้น หากเลือกลงทุนในธุรกิจที่ปรับตัวได้ดี หรือมองเห็นโอกาสใหม่ๆ ก็ยังเติบโตได้ในช่วงเวลานี้

ขณะเดียวกัน ตลาดคาดการณ์ว่า การแพร่ระบาดของโควิด-19 มีแนวโน้มจะคลี่คลายได้ เนื่องจากช่วงกลางปี 2564 น่าจะเริ่มนำวัคซีนป้องกันโควิด-19 ออกมาใช้ อันจะเป็นปัจจัยสำคัญสนับสนุนให้ตลาดหุ้นไทยฟื้นตัวได้ดี ส่งผลให้ธุรกิจต่างๆ เริ่มดำเนินงานได้มากขึ้น ทั้งเป็นโอกาสในการคัดเลือกลงทุนหุ้นที่ดีเช่นกัน

ดังนั้น หากนักลงทุนต้องการแสวงหาผลตอบแทนที่สูงขึ้น ในภาวะที่อัตราดอกเบี้ยมีแนวโน้มต่ำไปอีกนาน และมีเงินลงทุนที่ไม่มีความจำเป็นต้องนำออกมาใช้ในระยะเวลา 12 เดือนข้างหน้า ทั้งยังเคยมีประสบการณ์ลงทุนในหุ้นไทยโดยตรง หรือลงทุนผ่านกองทุนหุ้นอยู่แล้ว เข้าใจและยอมรับความเสี่ยงจากการลงทุนในหุ้นได้ ก็สามารถแบ่งเงินส่วนนี้มาลงทุนผ่านกองทุน TRIGGER 9-21 ได้
สำหรับ กองทุนนี้เป็นกองทุนรวมผสม ที่ไม่ได้ไปลงทุนในต่างประเทศ โดยตราสารที่เข้าไปลงทุน ได้แก่ ตราสารหนี้ ตราสารกึ่งหนี้กึ่งทุน ตราสารทุน หน่วยลงทุนกองทุนรวม เช่น กองทุน CIS กองทุน Infrastructure กองทุน Property/REITs กองทุน Private Equity และ/หรือกองทุน ETF เป็นต้น ซึ่งผู้จัดการกองทุนจะพิจารณาปรับสัดส่วนการลงทุนตามความเหมาะสมกับสถานการณ์ โดยกองทุน TRIGGER 9-21 จะเสนอขายครั้งแรกเพียงครั้งเดียว จากนั้นนักลงทุนจะต้องถือหน่วยลงทุนจนกระทั่งเลิกกองทุน

กองทุนนี้ มีอายุประมาณ 12 เดือน นับจากวันจดทะเบียนกองทรัพย์สิน ซึ่งบริษัทจะเลิกกองทุนเมื่อครบอายุโครงการ หรือในวันทำการที่ 1 ถัดจากวันที่ครบเงื่อนไขทั้งหมด คือ มีมูลค่าหน่วยลงทุนไม่ต่ำกว่า 10.95 บาท เป็นเวลา 2 วันทำการติดต่อกัน มูลค่าหน่วยลงทุนที่จะรับซื้อคืนโดยอัตโนมัติ ต้องไม่ต่ำกว่า 10.80 บาท และทรัพย์สินของกองทุนเป็นเงินสดหรือเงินฝากธนาคารทั้งหมด

ในกรณีที่กองทุนอายุครบ 12 เดือน กองทุนจะดำเนินการรับซื้อคืนหน่วยลงทุนอัตโนมัติในวันทำการก่อนวันเลิกกองทุน ณ ราคารับซื้อคืนหน่วยลงทุน (ราคา NAV) โดยเงินที่ผู้ถือหน่วยลงทุนได้รับคืน จะเป็นไปตามการบริหารกองทุนในระยะเวลา 12 เดือน ซึ่งอาจมากกว่าหรือน้อยกว่า 10 บาทก็ได้

ผู้ที่สนใจสามารถสอบถามข้อมูลรายละเอียดกองทุน TRIGGER9-21 หรือติดต่อขอรับหนังสือชี้ชวนและคู่มือการลงทุนได้ที่ กองทุนบัวหลวง โทร. 0 2674 6488 กด 8 หรือตัวแทนขายหน่วยลงทุน ได้แก่ ธนาคารกรุงเทพ ตัวแทนขายของกรุงเทพประกันชีวิต บมจ.หลักทรัพย์ บัวหลวง บริษัทหลักทรัพย์ เอเชีย พลัส บมจ.หลักทรัพย์ โนมูระ พัฒนสิน บมจ.หลักทรัพย์ ฟิลลิป (ประเทศไทย) บมจ.หลักทรัพย์ เกียรตินาคินภัทร บจ.หลักทรัพย์ ดีบีเอส วิคเคอร์ส (ประเทศไทย) บมจ.หลักทรัพย์ กรุงศรี และ บจ.หลักทรัพย์นายหน้าซื้อขายหน่วยลงทุน ฟินโนมีนา บจ.หลักทรัพย์ ไทยพาณิชย์ บมจ.หลักทรัพย์ เคจีไอ (ประเทศไทย)

ผู้ลงทุนต้องทำความเข้าใจ ลักษณะสินค้า เงื่อนไขผลตอบแทน และความเสี่ยง ก่อนตัดสินใจลงทุน
ผลการดำเนินงานในอดีต มิได้เป็นสิ่งยืนยันถึงผลการดำเนินงานในอนาคต

กองทุนบัวหลวง
10 กันยายน 2563