ซีเอ็นบีซี รายงานว่า สำนักวิจัยพิว เปิดเผยผลสำรวจล่าสุด พบว่า นานาชาติมีมุมมองเชิงลบกับประเทศจีนมากขึ้น โดยในการสำรวจครั้งนี้เป็นครั้งแรกในรอบมากกว่า 10 ปีที่สำรวจแล้วพบว่ามุมมองเชิงลบต่อจีนสูงที่สุด จากการสำรวจ 14 ประเทศ พบว่า มีถึง 9 ประเทศที่มีมุมมองเชิงลบต่อจีนสูง ได้แก่ ออสเตรเลีย อังกฤษ เยอรมนี เนเธอร์แลนด์ สวีเดน สหรัฐฯ เกาหลีใต้ สเปน และแคนาดา
สำหรับอีก 5 ประเทศที่ร่วมตอบแบบสำรวจด้วย คือ เบลเยียม เดนมาร์ก ฝรั่งเศส อิตาลี และญี่ปุ่น โดยการสำรวจนี้จัดทำขึ้นระหว่างวันที่ 10 มิ.ย.-3 ส.ค. ที่ผ่านมา โดยมีผู้ร่วมตอบแบบสอบถาม 14,276 คน
มุมมองเชิงลบนั้นเพิ่มมากที่สุดในออสเตรเลีย โดย 81% ของผู้ตอบแบบสอบถามมองจีนไม่ดี เพิ่มขึ้น 24% จากปีที่แล้ว ขณะที่ในสหรัฐฯ คนส่วนใหญ่มองไม่ดีกับจีนเพิ่มขึ้น โดยเพิ่มขึ้น 13% เมื่อเทียบกับปีก่อน และเพิ่มขึ้นเกือบ 20% เมื่อเทียบกับช่วงที่ประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ ของสหรัฐฯ เข้ารับตำแหน่ง
ความตึงเครียดระหว่างจีนและออสเตรเลียรุนแรงขึ้น ไม่กี่เดือนที่ผ่านมา นับตั้งแต่มีการเรียกร้องให้หาต้นตอของไวรัสโคโรนา ความเคลื่อนไหวนี้สร้างความไม่พอใจให้จีน นำสู่การกำหนดขอบเขตการค้า จำกัดการนำเข้าจากออสเตรเลีย
ขณะที่ความตึงเครียดระหว่างจีนและสหรัฐฯ แย่ลงเรื่อยๆ เมื่อ 2 ประเทศ ฟาดฟันกันเรื่องการค้าและเทคโนโลยี รวมถึงประเด็นที่การแพร่ระบาดของไวรัสโคโรนาเกิดขึ้นได้อย่างไรด้วย
มุมมองเชิงลบต่อจีนที่มากขึ้นเพราะผลจากโควิด-19 ที่เกิดในจีนนั้น มีมากที่สุดจาก 3 ประเทศในเอเชียแปซิฟิก ได้แก่ ญี่ปุ่น เกาหลีใต้ และออสเตรเลีย นอกจากนี้ 7 ใน 10 ประเทศที่ตอบแบบสำรวจ ระบุว่า จีนทำได้ไม่ดีในการรับมือการแพร่ระบาดของไวรัสโคโรนา
อย่างไรก็ตาม แม้นานาชาติมีมุมมองเชิงลบกับจีนมากขึ้น แต่ในเชิงของผู้นำกลับพบว่า แม้ทั่วโลกมีความเชื่อมั่นกับประธานาธิบดีสี จิ้นผิง ของจีน ไม่มาก หรือมีความไม่เชื่อมั่นมากขึ้น ก็ยังมีความหวังมากกว่าเมื่อเทียบกับประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ ของสหรัฐฯ
ทั้งนี้ ประธานาธิบดี โดนัลด์ ทรัมป์ ของสหรัฐฯ ถูกวิพากษ์วิจารณ์อย่างหนักเกี่ยวกับการรับมือกับวิกฤติโควิด-19 ในสหรัฐฯ หลังเผชิญกับความรุนแรงของไวรัสซ้ำแล้วซ้ำเล่า ขณะที่ทรัมป์เองก็ป่วยด้วยโรคนี้เช่นกัน แต่กลับไปทำเนียบขาวทันทีทั้งที่ยังติดเชื้ออยู่