โดย พริ้มพัชร จิรบวรพงศา AFPTTM
กองทุนบัวหลวง
ช่วงไตรมาสสุดท้ายของทุกปี คือ ช่วงเวลาของการวางแผนภาษี โดยวัยทำงานที่มีรายรับรวมกันทั้งปีได้ 319,001 บาท เฉลี่ยต่อเดือน 26,584 บาท ก็ต้องเริ่มใส่ใจเรื่องการวางแผนภาษีกันได้แล้ว โดยสิ่งสำคัญอันดับแรกที่ต้องรู้ก็คือ ความหมายของคำว่า “เงินได้พึงประเมิน” และ “เงินได้สุทธิ”
“เงินได้พึงประเมิน” คือ รายได้ทั้งหมดของเราที่ได้รับมาตลอดในปีนี้ ไม่ว่าจะเป็นเงินเดือนคอมมิชชั่น โอที โบนัส โดยเป็นรายได้ก่อนหักค่าใช้จ่ายและค่าลดหย่อนต่างๆ ตามที่สรรพากรกำหนด เช่น ค่าใช้จ่ายและค่าลดหย่อนส่วนตัว เงินประกันสังคม กองทุนสำรองเลี้ยงชีพ ฯลฯ ส่วนรายได้ที่เหลือหลังจากหักค่าใช้จ่ายและค่าลดหย่อนต่างๆ จะเรียกว่า “เงินได้สุทธิ” ซึ่งเราจะนำเงินได้สุทธินี้มาคำนวณภาษีตามอัตราขั้นบันได
การคิดคำนวณภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา จะมีรายการหักค่าใช้จ่าย และรายการหักค่าลดหย่อน โดยความแตกต่างของทั้ง 2 รายการนี้คือ รายการหักค่าใช้จ่ายจะเป็นสิทธิตามหมวดของรายได้ เช่น พนักงานประจำมีรายได้ตามมาตรา 40(1) หักค่าใช้จ่ายเหมา 50% ของรายได้ทั้งปีแต่ไม่เกิน 100,000 บาท ในส่วนนี้สำหรับวัยทำงานที่เคยยื่นแบบภาษีออนไลน์จะทราบดีว่า ระบบบังคับให้กรอกตัวเลขไม่สามารถข้ามได้ ดังนั้น จะเรียกว่าเป็นสิทธิติดตัวตามประเภทของรายได้ก็ไม่น่าจะผิด
สำหรับรายการหักค่าลดหย่อน เป็นสิทธิเพิ่มเติมในการลดเงินได้สุทธิ เพื่อให้เราเสียภาษีน้อยลง โดยความหมายของสิทธิเพิ่มเติมคือ เราเลือกที่จะใช้สิทธิหรือไม่ใช้สิทธิก็ได้ (ยกเว้นค่าลดหย่อนส่วนตัว 60,000 บาท จะเป็นรายการเดียวที่ระบบบังคับให้กรอกตัวเลข)
ส่วนค่าลดหย่อนอื่นๆ เช่น ค่าลดหย่อนบิดามารดาที่มีอายุมากกว่า 60 ปีขึ้นไปและมีเงินได้ตลอดปีภาษีไม่ถึง 30,000 บาท ค่าลดหย่อนดอกเบี้ยบ้าน ค่าลดหย่อนจากโครงการช้อปดีมีคืน ค่าลดหย่อนจากการบริจาค ค่าลดหย่อนจากการซื้อประกันชีวิตที่มีความคุ้มครองมากกว่า 10 ปีขึ้นไป รวมถึงค่าลดหย่อนจากการซื้อกองทุนรวมลดหย่อนภาษี RMF และ SFF ที่เราคุ้นเคยกันเป็นอย่างดี
คำถามที่วัยทำงานอย่างเราสงสัยก็คือ “เราจำเป็นต้องซื้อกองทุนรวมลดหย่อนภาษีหรือเปล่า?” คำตอบก็คือ “การวางแผนภาษีช่วยได้” เพราะการวางแผนภาษีช่วยให้เราทราบรายได้ตลอดปีภาษี รายการหักค่าใช้จ่าย และรายการหักค่าลดหย่อนตามสิทธิที่เรามีอยู่แล้ว ถ้าลองคำนวณดูแล้วพบว่า ไม่เสียภาษีหรือเสียภาษีแค่นิดหน่อย ก็ไม่จำเป็นต้องซื้อกองทุนรวมลดหย่อนภาษี RMF และ SSF ก็ได้ แต่ถ้าเราต้องเสียภาษีหลายพัน หลายหมื่น ก็อาจเริ่มพิจารณาลงทุนเพื่อให้เสียภาษีน้อยลง
การเลือกว่าจะลงทุนในกองทุนรวมลดหย่อนภาษีอะไรดี? ระหว่างกองทุนรวม RMF และ SSF จำเป็นต้องเข้าใจวัตถุประสงค์ สิทธิในการลงทุน และเงื่อนไขในการถือครองเพื่อรับประโยชน์ทางภาษีของกองทุนรวมทั้ง 2 ประเภทนี้ โดยวัตถุประสงค์ของกองทุนรวม RMF มีเป้าหมายเพื่อการเกษียณ จึงเป็นการลงทุนระยะยาวที่ต้องลงทุนต่อเนื่องไปจนถึงวัยเกษียณ ซึ่งถ้าหากเรามีเป้าหมายในการวางแผนเกษียณอยู่แล้ว การลงทุนในกองทุนรวม RMF นับว่าตอบโจทย์ เพราะได้ทั้งลงทุนยาวๆ เพื่อเกษียณสุขและได้รับสิทธิประโยชน์ทางภาษีด้วย แต่หากเราต้องการลงทุน โดยมีเป้าหมายระยะยาว ต้องการลดหย่อนภาษี หรือมีรายได้ไม่สม่ำเสมอ ทำให้เสียภาษีแค่บางปี การลงทุนในกองทุนรวม SSF ก็จะตอบโจทย์มากกว่า
ดังนั้น วัยเริ่มต้นทำงานทุกคน ไม่ว่าจะรายได้น้อย รายได้มาก ควรเริ่มต้นวางแผนภาษี เพราะภาษีเป็นเรื่องที่ใกล้ตัว ในวันหนึ่งหากเราเติบโตในหน้าที่การงาน เชื่อว่าทุกคนต้องได้เสียภาษีคราวละมากๆ ซึ่งคงไม่ดีแน่ๆ หากทำงานเหนื่อยมาทั้งปี แต่กลับไม่ได้ใช้เงินที่หามาได้เต็มเม็ดเต็มหน่วย นี่จึงเป็นที่มาของการแนะนำให้วัยทำงานรู้จักรายการหักค่าใช้จ่ายและค่าลดหย่อนต่างๆ โดยเฉพาะการลงทุนลดหย่อนภาษีผ่านกองทุนรวม RMF และ SSF เพราะอย่างที่บอกก็คือ 2 in 1 ได้ทั้งลงทุนระยะยาวตามเป้าหมาย ได้ทั้งลดหย่อนภาษีด้วย แต่อย่างไรก็ตาม หากสนใจลงทุนขอแนะนำให้ศึกษาคู่มือภาษีก่อนลงทุน