สำนักข่าวรอยเตอร์ส รายงานว่า จีนวางแผนจะนำมาตรการใหม่เพื่อกระตุ้นให้มีการเกิดมากขึ้น และการรองรับประชากรผู้สูงอายุที่เพิ่มขึ้นรวดเร็ว เข้าไปอยู่ในแผนยุทธศาสตร์ 5 ปี (ปี 2021-2025)
ทั้งนี้ สำนักข่าวรอยเตอร์ส อ้างอิงจากข้อมูลของไชน่าเดลีว่า จีนจะนำเสนอนโยบายการเงินและนโยบายที่สนับสนุนให้คู่รักมีลูกมากขึ้น
“จะมีการนำเสนอนโยบายประชากรที่ครอบคลุมมากขึ้น เพื่อปรับปรุงภาวะการเจริญพันธุ์ คุณภาพแรงงาน และโครงสร้างประชากร” หยวน ซิน รองประธานสมาคมประชากรจีน กล่าว
ที่ผ่านมา จีนเริ่มใช้นโยบายให้มีลูกคนเดียวในปี 1978 โดยระบุว่า ทำเพื่อลดความยากจน รวมทั้งมองว่า การพัฒนาเศรษฐกิจถูกทำลายจากประชากรที่เพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว โดยเฉพาะในพื้นที่ชนบท
อย่างไรก็ตาม จีนตัดสินใจผ่อนคลายนโยบายดังกล่าวตั้งแต่ปี 2016 โดยอนุญาตให้คู่รักมีลูกคนที่ 2 ได้ เพื่อรองรับการเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็วของประชากรสูงอายุ เช่นเดียวกับแรงงานที่ลดน้อยลง โดยผู้เชี่ยวชาญบางคน มองว่า ถึงเวลาแล้วที่ควรจะยกเลิกข้อจำกัดไปทั้งหมด
นักประชากรศาสตร์ เผยว่า จากข้อมูลสิ้นปีที่ผ่านมา จำนวนประชากรจีนอายุ 60 ปีขึ้นไป อยู่ที่ 254 ล้านคน คิดเป็น 18.1% ของประชากรทั้งหมด และคาดว่าจำนวนจะเพิ่มเป็น 300 ล้านคนในปี 2025 จากนั้นเพิ่มเป็น 400 ล้านคนในปี 2035 สร้างแรงกดดันให้กับงานสาธารณสุขรวมถึงระบบประกันสังคมของประเทศ นอกจากนี้ ยังคาดการณ์ว่า จากแนวโน้มในปัจจุบัน จำนวนประชากรที่อยู่ในวัยทำงานอาจจะลดลงถึง 200 ล้านคนในปี 2050
แม้ว่าจะการผ่อนคลายข้อจำกัดนโยบายลูกคนเดียวในปี 2016 แล้ว แต่ก็พบว่า อัตราการเกิดใหม่ต่อประชากร 1,000 คน ลดลงไปทำสถิติต่ำสุดในปีที่ผ่านมา อยู่ที่ 10.48 คน เมื่อปีที่ผ่านมา ลดลงจาก 10.94 คนในปี 2018
ผู้เชี่ยวชาญ ของรัฐบาล เผยว่า นโยบายที่มีเป้าหมายลดการเติบโตของประชากร จะต้องถูกแทนที่ด้วยระบบที่ออกแบบมาเพื่อกระตุ้นการเจริญพันธุ์
“เพื่อแก้ปัญหาประชากรสูงวัยที่เพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว จำเป็นต้องมีมาตรการเร่งด่วน เช่น การปฏิรูปนโยบายวางแผนครอบครัว และปลดปล่อยภาวะเจริญพันธุ์” เจิ้ง ปิงเหวิน ผู้เชี่ยวชาญสถาบันสังคมศาสตร์ของจีน กล่าว