กองทุนบัวหลวงเปิดตัว Theme การลงทุนปี 2564 ‘ผ่านพ้นอุปสรรค เปิดรับ New Normal’

  • กองทุนบัวหลวง ประกาศ Theme การลงทุนปี 2564 ‘ผ่านพ้นอุปสรรค เปิดรับ New Normal’ ชี้ปีนี้เป็นปีที่ธุรกิจในไทยฟื้นตัว มีโอกาสลงทุนเพื่อหวังการฟื้นตัวได้ แต่ให้เน้นเลือกบริษัทที่ปรับตัวได้ดีเพื่อรับมือดิสรัปชัน และคำนึงถึงเรื่อง ESG ขณะเดียวกันหากต้องการลงทุนโดยคาดหวังการเติบโตสูง ควรขยายโอกาสไปลงทุนในตลาดต่างประเทศซึ่งมีทางเลือกที่หลากหลายกว่า

นายพีรพงศ์ จิระเสวีจินดา ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุนรวม บัวหลวง จำกัด หรือ กองทุนบัวหลวง เปิดเผยว่า Theme การลงทุน มีไว้ใช้สื่อสารให้ผู้ลงทุนรับทราบแนวคิด โอกาส และความเสี่ยง ที่มีผลต่อการลงทุนในอนาคต โดย Theme การลงทุนในปี 2564 นี้ คือ ‘ผ่านพ้นอุปสรรค เปิดรับ New Normal’ โดยมองว่า ปีนี้น่าจะเป็นปีแห่งการฟื้นตัวของธุรกิจในประเทศไทย ซึ่งจากราคาหุ้นที่ปรับตัวลงมามากเมื่อปีที่แล้ว ทำให้มีโอกาสจะฟื้นตัวได้ในระยะสั้น แต่ในระยะยาวนั้นธุรกิจขนาดใหญ่ในไทยหลายธุรกิจมีความเสี่ยงที่จะได้รับผลกระทบของการเกิด Disruption ไม่ว่าจะเป็น ภาคการเงินที่มีความเสี่ยงจากธุรกิจเทคโนโลยีทางการเงิน (ฟินเทค) ที่เกิดขึ้นตลอดเวลา ธุรกิจพลังงานที่มีความเสี่ยงจากแหล่งพลังงานรูปแบบใหม่ หรือธุรกิจพาณิชย์ซึ่งถูกอี-คอมเมิร์ซแย่งส่วนแบ่งตลาด เป็นต้น ดังนั้น บริษัทแบบดั้งเดิมจึงต้องเร่งปรับตัวเพื่อรักษาความแข็งแกร่งให้ได้นานที่สุด

“โอกาสของการเกิด Disruption มีมานานแล้วในแทบทุกอุตสาหกรรม เพราะธุรกิจขนาดใหญ่ย่อมมีผู้คิดจะแย่งส่วนแบ่งตลาด ซึ่งบางธุรกิจมีระดับผลกระทบของการถูก Disrupt ในขนาดที่แทบจะทำให้บริษัทล้มหายไปได้ ส่วนในบางธุรกิจ คู่แข่งใหม่อาจแย่งชิงความต้องการใช้สินค้าหรือบริการได้เพียงบางส่วนแต่แนวโน้มความต้องการใช้ในรูปแบบดั้งเดิมยังคงมีอยู่อย่างต่อเนื่อง ซึ่งถ้าบริษัทมีความแข็งแกร่งในการแข่งขันเมื่อเทียบกับคู่แข่งอื่นๆ ด้วยรูปแบบการให้บริการแบบดั้งเดิมได้ ก็จัดว่าเป็นธุรกิจที่ทนทานต่อการ Disruption ได้ และเป็นหนึ่งลักษณะของธุรกิจที่เราอยากจะลงทุนในระยะยาวด้วย” นายพีรพงศ์ กล่าว

ทั้งนี้ ธุรกิจที่ปรับตัวได้โดยอาศัยจังหวะช่วงนี้ปรับรูปแบบการขาย ได้แก่ ธุรกิจสินค้าอุปโภคบริโภค ซึ่งมีความจำเป็นในชีวิตประจำวัน ธุรกิจค้าปลีกบางประเภทที่ตอบสนองความต้องการซื้อบางลักษณะ เช่น สินค้าที่มีมูลค่าสูง หรือสินค้าประเภทสะดวกซื้อ โดยเฉพาะธุรกิจที่หาซัพพลายเออร์ที่แข็งแกร่งได้ก็น่าจะคงอยู่ได้โดยได้รับผลกระทบจากอี-คอมเมิร์ซในระดับจำกัด แต่ผู้ลงทุนก็ต้องติดตามรูปแบบพฤติกรรมผู้บริโภคด้วย นอกจากนี้ ธุรกิจบริการที่เกี่ยวกับสุขภาพก็จะยังมีอยู่ แม้มีเทคโนโลยีใหม่ๆ ช่วยให้ผู้ป่วยปรึกษาแพทย์ได้จากที่บ้าน หรือผู้ป่วยตรวจคัดกรองโรคบางชนิดได้ด้วยตัวเอง แต่การรักษาที่ซับซ้อนก็ยังจำเป็นต้องไปพบแพทย์ที่โรงพยาบาลอยู่เช่นเดิม

ขณะที่การให้ความสำคัญกับปัจจัยด้าน ESG เป็นอีกประเด็นที่นับวันจะมีความสำคัญมากขึ้นเพื่อสนับสนุนให้ธุรกิจดำเนินต่อไปได้อย่างยั่งยืน ซึ่งมีตัวอย่างมาหลายกรณีแล้วที่การกระทำไม่เหมาะสมบางอย่างของบริษัทหรือตัวบุคคล ทำให้เกิดกระแสต่อต้านและกระทบยอดขาย หรือบริษัทที่ไม่จัดการซัพพลายเชนให้ถูกต้องก็จะมีความเสี่ยงที่การดำเนินการจะถูกหน่วยงานรัฐเข้ามาแทรกแซงได้

การคำนึงถึงความเสี่ยงด้าน ESG จะช่วยลดโอกาสที่จะเกิดเหตุการณ์ด้านลบที่ไม่รู้ว่าจะเกิดขึ้นเมื่อไหร่ แต่ผลกระทบอาจรุนแรงมาก ซึ่งความเสี่ยงด้าน ESG ไม่ได้หมายถึงการกระทำตามหลักจริยธรรมหรือกฎข้อบังคับเท่านั้น แต่ยังรวมไปถึงการจัดการธุรกิจที่สุ่มเสี่ยงเกินไปด้วย เช่น พึ่งพาลูกค้ารายใหญ่หรือซัพพลายเออร์ รายใหญ่ในสัดส่วนที่มากเกินไป เป็นต้น” ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร กล่าว

นายพีรพงศ์ กล่าวว่า หากผู้ลงทุนต้องการลงทุนโดยคาดหวังการเติบโตสูง การเลือกธุรกิจที่เป็นตัว Disruptive เสียเอง เช่น ธุรกิจที่คิดค้นหรือใช้ประโยชน์จากนวัตกรรมที่จะไป Disrupt ธุรกิจแบบดั้งเดิม ก็น่าจะตอบโจทย์ได้ดีกว่า ซึ่งธุรกิจแบบนี้จะมีตัวเลือกที่หลากหลายอยู่ในตลาดหุ้นต่างประเทศมากกว่าในตลาดหุ้นไทย

ตัวอย่างธุรกิจเหล่านี้ ได้แก่ ธุรกิจที่เกี่ยวข้องกับคลาวด์ คอมพิวติ้ง ซึ่งกำลังแย่งส่วนแบ่งตลาดจากการใช้งานแบบ On-premise (การติดตั้งหรือวางระบบเซิร์ฟเวอร์ไว้ภายในองค์กร) ธุรกิจที่สนับสนุนการทำงานจากระยะทางไกล ธุรกิจให้บริการทางอินเทอร์เน็ต หรือตลาดกลางซื้อขายสินค้าออนไลน์ต่างๆ แอปพลิเคชันบริการด้านสุขภาพหลากหลายรูปแบบซึ่งช่วยให้ผู้บริโภคประหยัดต้นทุนการเงิน เวลา ทั้งยังได้รับบริการที่มีคุณภาพมากขึ้น หรือธุรกิจที่เกี่ยวข้องกับซัพพลายเชนของพลังงานรูปแบบใหม่ เป็นต้น

อย่างไรก็ตาม แม้บางธุรกิจมีเรื่องราวที่น่าตื่นเต้น แต่ผู้ลงทุนก็ต้องคำนึงถึงความเสี่ยงเช่นกัน นั่นคือ ระดับราคานั้นขึ้นไปเกินกว่าปัจจัยพื้นฐานหรือยัง

เรื่องนี้ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร กล่าวว่า “ไม่ใช่เรื่องง่ายที่เราจะมองเห็นอนาคตได้อย่างแม่นยำในเรื่องการเกิดธุรกิจใหม่ที่เป็น Disruptive เพราะบางชนิดก็เกิดขึ้นมาได้เกินกว่าที่เราจะจินตนาการไปถึง และในยุคที่เทคโนโลยีกับพฤติกรรมผู้บริโภคเปลี่ยนแปลงได้รวดเร็วอย่างนี้ ผู้ลงทุนก็ต้องติดตามการลงทุนอย่างสม่ำเสมอ แต่ต้องไม่ลืมว่าการจะเปลี่ยนแปลงพอร์ตลงทุนในไปในธุรกิจใด ก็ต้องเข้าใจวงจรวัฎจักรทางธุรกิจ (Business cycle) ของแต่ละอุตสาหกรรม รวมถึงต้องรู้ว่าความคาดหวังนั้นได้สะท้อนไปในราคาหุ้นแล้วหรือยัง นี่เป็นสิ่งที่สำคัญมาก มากพอๆ กับการมองหาบริษัทที่แข็งแกร่งเพื่อลงทุน หรือที่เรียกว่า Good Stock ก็ต้องมี Good Trade ด้วย”

ผู้ลงทุนต้องทำความเข้าใจ ลักษณะสินค้า เงื่อนไขผลตอบแทน และความเสี่ยง ก่อนตัดสินใจลงทุน
ผลการดำเนินงานในอดีต มิได้เป็นสิ่งยืนยันถึงผลการดำเนินงานในอนาคต
การป้องกันความเสี่ยงอัตราแลกเปลี่ยนขึ้นกับดุลยพินิจของผู้จัดการกองทุน

 

กองทุนบัวหลวง
1 มีนาคม 2564