กองทุนบัวหลวงเปิดโผ 7 กองทุนเด่น ได้ทั้งโอกาสเติบโตระยะยาวและผลตอบแทนชนะเงินเฟ้อแถมประหยัดภาษี เอาใจนักลงทุนที่มองหา RMF-SSF โค้งสุดท้ายปี 2564

กองทุนบัวหลวงเปิดโผ 7 กองทุนเด่น ได้ทั้งโอกาสเติบโตระยะยาวและผลตอบแทนชนะเงินเฟ้อแถมประหยัดภาษี เอาใจนักลงทุนที่มองหา RMF-SSF โค้งสุดท้ายปี 2564

ข่าวประชาสัมพันธ์
Press Release

นายสันติ ธนะนิรันดร์ ประธานเจ้าหน้าที่การลงทุน บริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุนรวม บัวหลวง จำกัด หรือ กองทุนบัวหลวง เปิดเผยว่า ภาพรวมการลงทุนในปี 2564 นี้ ผู้ลงทุนที่ลงทุนในสินทรัพย์เสี่ยงอย่างหุ้นจะได้รับผลตอบแทนที่ดีชนะเงินเฟ้อได้ โดยเฉพาะการลงทุนในตลาดพัฒนาแล้ว ที่ให้ผลตอบแทนดีกว่าตลาดกำลังพัฒนา ส่วนผู้ลงทุนในพันธบัตรจะได้รับผลตอบแทนที่แท้จริงติดลบ แปลว่า ผลตอบแทนที่ได้รับต่ำกว่าอัตราเงินเฟ้อ ซึ่งการลงทุนในปี 2565 ก็จะยังมีแนวโน้มไปในทิศทางนี้

สำหรับช่วงโค้งสุดท้ายในการค้นหากองทุนลดหย่อนภาษีสำหรับปี 2564 นี้ ทีม Investment Strategy ของกองทุนบัวหลวง ได้คัดเลือก 7 กองทุนหุ้นต่างประเทศในกลุ่มกองทุนรวมเพื่อการออม (SSF) และกองทุนรวมเพื่อการเลี้ยงชีพ (RMF) ที่น่าสนใจ นำเสนอเป็นทางเลือกให้ผู้ลงทุนที่รับความเสี่ยงจากการลงทุนในหุ้น ความผันผวนของอัตราแลกเปลี่ยนได้ โดยเป็นกองทุนที่มีนโยบายลงทุนใน 3 ธีมเด่นที่มีโอกาสเติบโตระยะยาว คือ กองทุน B-SIPRMF และ B-SIPSSF ในธีม ESG กองทุน B-INNOTECHRMF, B-FUTURERMF และ B-FUTURESSF ในธีมเทคโนโลยี ส่วนกองทุน B-CHINAARMF และ B-CHINESSF ในธีมประเทศจีน

สำหรับ ธีม ESG กองทุนบัวหลวง มองว่า นักลงทุนทั่วโลกให้ความสำคัญกับการคัดเลือกธุรกิจที่คำนึงถึงสิ่งแวดล้อม สังคม และธรรมาภิบาล (ESG) ชัดเจนขึ้น โดยพบว่า 10 เดือนของปี 2564 มีเงินลงทุนไหลเข้าไปลงทุนในธุรกิจที่มี ESG สูงกว่าทั้งปี 2563 แล้ว และการลงทุนในบริษัทที่ได้รับคะแนน ESG สูง ก็ให้ผลตอบแทนที่ดีกว่าธุรกิจที่คะแนน ESG ต่ำ ทั้งยังมีความผันผวนต่ำกว่าด้วย นอกจากนี้บริษัทที่มีประเด็นเรื่อง ESG พบว่า เผชิญกับเงินลงทุนไหลออกอย่างต่อเนื่อง ตอกย้ำให้เห็นว่า ESG กำลังอยู่ในกระแสหลักของการลงทุน กองทุนบัวหลวงเชื่อว่า หลังจากนี้ทั่วโลกก็จะมุ่งเรื่อง ESG มากขึ้นกว่าเดิม โดยเฉพาะสหรัฐฯ ที่มีท่าทีชัดเจนในเรื่องนี้มากขึ้น ในอนาคตก็จะมีบริษัทในสหรัฐฯ ที่มี ESG ให้เลือกลงทุนเพิ่มขึ้น จากปัจจุบันตัวเลือกส่วนใหญ่อยู่ในยุโรป โดยกองทุนบัวหลวงมีกองทุน B-SIPRMF และ B-SIPSSF เป็นทางเลือกสำหรับนักลงทุนที่สนใจธีมนี้

ต่อมา คือ ธีมเทคโนโลยี ที่กองทุนบัวหลวง มองว่าจะมีความโดดเด่นในช่วง 10 ปีจากนี้ โดยเฉพาะเทคโนโลยี ABCEV คือ ปัญญาประดิษฐ์ (AI) บิ๊กดาต้า (Big data) ไซเบอร์ซิเคี้ยวริตี้ (Cybersecurity) รถยนต์ไฟฟ้าทั้งสายการผลิต (EV) และโลกเสมือน (Virtual) ที่จะมีบทบาทอย่างมากต่อธุรกิจและการใช้ชีวิต ซึ่งในช่วงที่เงินเฟ้อสูง และดอกเบี้ยเป็นขาขึ้น หุ้นเทคโนโลยีที่มีความสามารถทำกำไรแข็งแกร่ง มีความสามารถในการปรับขึ้นราคาได้ ก็มีโอกาสปรับขึ้นโดยไม่ได้รับผลกระทบมากนักจากเงินเฟ้อ โดยกองทุนที่ลงทุนธีมนี้ และเฟ้นหาหุ้นเทคโนโลยีแบบนี้ ได้แก่ B-INNOTECHRMF รวมถึง B-FUTURERMF และ B-FUTURESSF

ส่วนธีมสุดท้าย คือ ธีมประเทศจีน ที่กองทุนบัวหลวงมองว่า จีนเป็นประเทศที่มีแนวโน้มให้ผลตอบแทนที่ดีมากในระยะยาว ขณะที่มูลค่าหุ้นในเวลานี้ไม่แพงเกินไป เมื่อเทียบความสามารถการเติบโต อีกทั้งการเคลื่อนไหวของหุ้นจีนไม่ได้ไปในทิศทางเดียวกับตลาดหุ้นอื่นในโลก มีลักษณะการเคลื่อนไหวเฉพาะตัว หากมองในแง่การกระจายความเสี่ยง การลงทุนในจีน ก็จะช่วยให้นักลงทุนกระจายความเสี่ยงของพอร์ตโดยรวมได้ดีขึ้น และมีโอกาสได้รับผลตอบแทนที่ดีด้วย เพียงแค่ระยะสั้น อาจเผชิญความเสี่ยงจากความผันผวนได้ค่อนข้างมาก แต่หากนักลงทุนมองเป็นโอกาส ก็สามารถทยอยสะสมได้ ซึ่งก็มีกองทุน B-CHINAARMF และ B-CHINESSF เป็นทางเลือก

นายสันติ กล่าวว่า นอกเหนือจากกองทุน RMF และ SSF ภายใต้ 3 ธีมเด่นนี้ กองทุนบัวหลวงมีกองทุนประหยัดภาษีให้นักลงทุนเลือกลงทุนได้ครอบคลุมทุกประเภทสินทรัพย์ ทั้งความเสี่ยงต่ำ ความเสี่ยงสูง ตราสารหนี้ หุ้นไทย หุ้นต่างประเทศ และสินทรัพย์ทางเลือก รวมแล้วมีกองทุน RMF ถึง 24 กองทุน และ SSF ทั้งหมด 8 กองทุน ซึ่งนักลงทุนเลือกลงทุนได้ตามความสามารถในการยอมรับความเสี่ยงของตนเอง ส่วนสิ่งสำคัญที่จะทำให้นักลงทุนประสบความสำเร็จกับการลงทุน คือ ลงทุนอย่างต่อเนื่อง (Stay Invested) ในธุรกิจที่สอดคล้องกับเมกะเทรนด์ระยะยาว ไม่หวั่นไหวกับสถานการณ์รอบข้างที่มากระทบเพียงระยะสั้น

 

ผู้ลงทุนต้องศึกษาและทำความเข้าใจลักษณะสินค้า ข้อมูลสำคัญ นโยบายการลงทุน เงื่อนไขผลตอบแทน
ความเสี่ยง และสิทธิประโยชน์ทางภาษีที่ระบุในคู่มือการลงทุน RMF หรือ SSF ก่อนการตัดสินใจลงทุน
ผลการดำเนินงานในอดีต มิได้เป็นสิ่งยืนยันถึงผลการดำเนินงานในอนาคต
การป้องกันความเสี่ยงอัตราแลกเปลี่ยนขึ้นกับดุลยพินิจของผู้จัดการกองทุน

กองทุนบัวหลวง
15 ธันวาคม 2564