กนง. มีมติเป็นเอกฉันท์ให้คงอัตราดอกเบี้ยนโยบายไว้ที่ 0.50% ต่อปี

กนง. มีมติเป็นเอกฉันท์ให้คงอัตราดอกเบี้ยนโยบายไว้ที่ 0.50% ต่อปี

Economic Research

กนง. มีมติเป็นเอกฉันท์ให้คงอัตราดอกเบี้ยนโยบายไว้ที่ 0.50% ต่อปี เป็นการคงอัตราดอกเบี้ยต่อเนื่องตั้งแต่การประชุมเดือน มิ.ย. 2020

3 ปัจจัยที่ กนง. จะติดตามใกล้ชิด ได้แก่

  • ความต่อเนื่องของการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจ
  • ราคาพลังงานและสินค้าโภคภัณฑ์
  • การส่งผ่านต้นทุนที่สูงขึ้น แนวโน้มและการคาดการณ์อัตราเงินเฟ้อในระยะปานกลาง

กนง. มองว่าเศรษฐกิจไทยยังมีแนวโน้มฟื้นตัวต่อเนื่อง โดยจะขยายตัวในปี 2022 และ 2023 ที่ 3.2% และ 4.4% ตามลำดับ 

  • การฟื้นตัวทางเศรษฐกิจไทยจะมีผลมาจากการฟื้นตัวของอุปสงค์ในประเทศและภาคการท่องเที่ยว โดยผลของการระบาดของ COVID-19 สายพันธุ์ Omicron ต่อกิจกรรมทางเศรษฐกิจไม่มากเท่าระลอกก่อนหน้า โดยที่มาตรการคว่ำบาตรรัสเซียส่งผลให้ต้นทุนสินค้าสูงขึ้น แต่จะไม่กระทบแนวโน้มการฟื้นตัวของเศรษฐกิจโดยรวม
  • Downside Risk ต่อการขยายตัวของเศรษฐกิจ ประกอบไปด้วย การขาดแคลนวัตถุดิบในบางอุตสาหกรรมที่อาจยืดเยื้อ และผลกระทบจากค่าครองชีพและต้นทุนที่สูงขึ้นต่อภาคครัวเรือนและภาคธุรกิจในกลุ่มเปราะบาง กนง. จะติดตามพัฒนาการของสถานการณ์ดังกล่าวอย่างใกล้ชิด

อัตราเงินเฟ้อทั่วไปในปี 2022 และ 2023 คาดว่าจะอยู่ที่ 4.9% และ 1.7% ตามลำดับ 

  • อัตราเงินเฟ้อมีแนวโน้มที่จะเพิ่มสูงขึ้นมากกว่า 5% ในไตรมาสที่ 2 และ 3 ในปี 2022 จากราคาพลังงานและ การส่งผ่านต้นทุนในหมวดอาหารเป็นหลัก ก่อนที่จะปรับลดลงเข้าสู่กรอบเป้าหมายในปี 2023 ส่วนหนึ่งจากราคาพลังงานที่คาดว่าจะไม่ปรับสูงขึ้นต่อเนื่อง ทั้งนี้ กนง. ประเมินว่าอัตราเงินเฟ้อที่ปรับสูงขึ้นเป็นผลจากปัจจัยด้านอุปทาน (Cost-push inflation) เป็นหลัก ในขณะที่แรงกดดันเงินเฟ้อด้านอุปสงค์ (Demand-pull inflation) ยังอยู่ในระดับต่ำ จึงเห็นควรให้คงอัตราดอกเบี้ยนโยบายไว้ เพื่อสนับสนุนการฟื้นตัวของเศรษฐกิจให้มีความต่อเนื่อง 
  • Upside Risk ของอัตราเงินเฟ้อมาจากราคาน้ำมันที่มีโอกาสสูงกว่าที่ประเมินไว้ และการส่งผ่านต้นทุนของผู้ประกอบการที่อาจมากกว่าคาด

อัตราแลกเปลี่ยนเงินบาทเทียบดอลลาร์ฯ ปรับอ่อนค่าลงจากความกังวลต่อสถานการณ์ความขัดแย้งระหว่างรัสเซียและยูเครน และการคาดการณ์การปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยของธนาคารกลางประเทศเศรษฐกิจหลัก โดยกนง.เห็นควรให้ติดตามพัฒนาการของตลาดการเงินโลกและไทยอย่างใกล้ชิด

แนวทางด้านนโยบายยังให้น้ำหนักกับมาตรการภาครัฐ 

  • กนง. เห็นว่ามาตรการภาครัฐและการประสานนโยบายมีความสำคัญต่อการฟื้นตัวของเศรษฐกิจภายใต้สถานการณ์ที่มีความไม่แน่นอนสูง มาตรการการคลังควรสนับสนุนการฟื้นตัวของเศรษฐกิจอย่างตรงจุด โดยเน้นการสร้างรายได้และการบรรเทาภาระค่าครองชีพในกลุ่มเปราะบาง ขณะที่นโยบายการเงินช่วยสนับสนุนให้ภาวะการเงินโดยรวมยังผ่อนคลายต่อเนื่อง รวมทั้งมาตรการด้านการเงินและสินเชื่อช่วยกระจายสภาพคล่องและช่วยลดภาระหนี้โดยเฉพาะในกลุ่มที่รายได้ยังฟื้นตัวไม่เต็มที่ การผลักดันให้สถาบันการเงินเร่งสนับสนุนการปรับโครงสร้างหนี้อย่างยั่งยืนให้เห็นผลในวงกว้างและสอดคล้องกับความสามารถในการชำระหนี้ของลูกหนี้ในระยะยาว
  • กนง. มองว่ากรอบการดำเนินนโยบายการเงินนั้นมีเป้าหมายเพื่อรักษาเสถียรภาพราคา ควบคู่กับดูแลเศรษฐกิจให้เติบโตอย่างยั่งยืนและเต็มศักยภาพ และรักษาเสถียรภาพระบบการเงิน กนง. ยังให้น้ำหนักกับการสนับสนุนการฟื้นตัวของเศรษฐกิจเป็นสำคัญ

Bottom Line ธปท.มองเศรษฐกิจขยายตัวต่อเนื่องแม้มี Downside Risk บ้าง ส่วนอัตราเงินเฟ้อที่มองว่าจะดีดสูงปีนี้นั้นเป็นผลด้านอุปทานเป็นหลัก (เป็นการ Imply ว่า Cost-push Inflation ไม่สามารถจัดการได้ด้วยการขึ้นอัตราดอกเบี้ย) โดยอัตราเงินเฟ้อจะกลับเข้าสู่เป้าหมายระยะกลาง (1-3%) ได้ในปี 2023 ขณะที่ดูจะไม่กังวลเรื่องค่าเงินบาทนัก เราจึงมองว่า ธปท. จะ คงอัตราดอกเบี้ยนโยบายไว้ที่ 0.5% ทั้งปี 2022 นี้

ประมาณการเศรษฐกิจโดย ธปท.

หมายเหตุ: * ข้อมูลจริง , ( ) ประมาณการเดิมในรายงานนโยบายการเงิน ธันวาคม 2022

ธปท. มองว่า อัตราเงินเฟ้อทั่วไปปี 2022 มีแนวโน้มสูงกว่ากรอบเป้าหมายแต่จะกลับเข้าสู่กรอบเป้าหมายในปี 2023

ที่มา: ธปท.