ฟันด์โฟลว์จ่อทิ้ง ‘ตลาดเกิดใหม่’ หากเฟดขึ้นดอกเบี้ยแรง

ฟันด์โฟลว์จ่อทิ้ง ‘ตลาดเกิดใหม่’ หากเฟดขึ้นดอกเบี้ยแรง

“นักวิเคราะห์” ชี้หากเฟดขึ้นดอกเบี้ยแรง อาจเร่งกองทุนต่างชาติแห่ถอนลงทุนจากตลาดหุ้นในกลุ่มตลาดเกิดใหม่ของเอเชียเร็วขึ้น “เวิลด์แบงก์” แนะจีนกระตุ้นเศรษฐกิจเพิ่ม

นักวิเคราะห์ คาดการณ์ว่า หากธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) ปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยครั้งใหญ่อีกครั้ง ในการประชุมวันที่ 20-21 ก.ย.นี้ อาจเป็นตัวเร่งให้กองทุนต่างชาติแห่ถอนการลงทุนออกจากตลาดหุ้นในกลุ่มตลาดเกิดใหม่ของเอเชียรวดเร็วขึ้น ซึ่งซ้ำเติมตลาดกลุ่มนี้ให้ย่ำแย่ลงอีก จากเดิมที่ได้รับผลกระทบอยู่แล้วจากการแข็งค่าของสกุลเงินดอลลาร์

FedWatch Tool ของ CME Group บ่งชี้ว่า ขณะนี้นักลงทุนให้น้ำหนัก 80% ที่เฟดจะปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ย 0.75% สู่ระดับ 3.00-3.25% ในการประชุมวันที่ 20-21 ก.ย. โดยหากเฟดปรับขึ้นดอกเบี้ย 0.75% ในการประชุมครั้งนี้ ก็จะส่งผลให้เฟดขึ้นดอกเบี้ย 0.75% ติดต่อกันเป็นครั้งที่ 3 หลังจากปรับขึ้น 0.75% ทั้งในเดือน มิ.ย.และ ก.ค.

ด้านบลูมเบิร์ก อินเทลลิเจนซ์ ระบุว่า นักลงทุนต่างชาติถอนการลงทุนออกจากตลาดหุ้นในกลุ่มตลาดเกิดใหม่ ยกเว้นจีน ติดต่อกันเป็นสัปดาห์ที่ 4 แล้ว โดยนับจนถึงวันที่ 16 ก.ย. นักลงทุนต่างชาติถอนการลงทุนออกไปทั้งสิ้น 423 ล้านดอลลาร์ ถือเป็นการถอนการลงทุนติดต่อกันยาวนานที่สุดนับตั้งแต่เดือนก.ค.ปีนี้ และส่งผลให้สกุลเงินในภูมิภาคเอเชียดิ่งลงแตะระดับต่ำสุดเป็นประวัติการณ์ อีกทั้งส่งผลกระทบต่อแนวโน้มตลาดหุ้นในภูมิภาคแห่งนี้ด้วย

แม้ว่าทุนสำรองเงินตราต่างประเทศในกลุ่มตลาดเกิดใหม่ของเอเชียและการดำเนินนโยบายโดยรวมจะดีกว่าในช่วงที่เกิดเหตุการณ์ “Taper Tantrum” เมื่อปี 2556 แต่การแข็งค่าของดอลลาร์ ซึ่งเป็นแรงผลักดันให้ธนาคารกลางในเอเชียพากันใช้นโยบายคุมเข้มด้านการเงินนั้น ทำให้ตลาดเกือบทุกแห่งในกลุ่มตลาดเกิดใหม่ของเอเชียได้รับผลกระทบที่รุนแรง

Taper Tantrum  คือ เหตุการณ์ที่อัตราผลตอบแทนพันธบัตรสหรัฐพุ่งขึ้นอย่างรุนแรงในปี 2556 หลังจากเฟดประกาศว่าจะปรับลดวงเงินในโครงการซื้อสินทรัพย์ตามมาตรการผ่อนคลายเชิงปริมาณ (QE) ซึ่งเหตุการณ์ดังกล่าวส่งผลให้เม็ดเงินไหลออกจากตลาดเกิดใหม่จำนวนมาก ซึ่งรวมถึงตลาดเกิดใหม่ในเอเชีย และผลักดันให้ธนาคารกลางประเทศต่าง ๆ ขึ้นอัตราดอกเบี้ยเพื่อปกป้องบัญชีทุนในประเทศ

ส่วนเม็ดเงินไหลออกจากตลาดเกิดใหม่ในเอเชียปีนี้อยู่ที่ 6.4 หมื่นล้านดอลลาร์ สูงกว่าตัวเลขตลอดทั้งปี 2564 โดยตลาดหุ้นไต้หวันและเกาหลีใต้ ซึ่งมีบริษัทเทคโนโลยีจดทะเบียนเป็นจำนวนมากนั้น ได้รับผลกระทบรุนแรงที่สุด

อย่างไรก็ดี ขณะที่ตลาดหุ้นในภูมิภาคเอเชียเหนือกำลังอ่อนแอลง แต่เม็ดเงินที่ไหลออกจากตลาดหุ้นอินเดียเริ่มลดน้อยลง และตลาดหุ้นหลายแห่ง  รวมถึงตลาดหุ้นไทยและอินโดนีเซียยังคงทำผลงานได้ดี โดยดัชนี Nifty 50 ตลาดหุ้นอินเดียพุ่งขึ้นกว่า 11% ในไตรมาสนี้   

ขณะที่ ดัชนีตลาดหุ้นไทยและอินโดนีเซียดีดตัวขึ้น 4% ซึ่งดีกว่าดัชนีตลาดหุ้นเกาหลีใต้ที่เพิ่มขึ้น 1% และดัชนีหุ้นไต้หวันที่ลดลง 1%

เตือนหุ้นตกหนัก หากเฟดขึ้นดอกเบี้ย1%

สถาบันวิจัย CFRA ระบุว่า หากธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) ขึ้นอัตราดอกเบี้ยมากกว่า 0.75% ในการประชุมสัปดาห์นี้ จะเป็นการใช้นโยบายการเงินที่เข้มงวดเกินไป และจะฉุดให้ตลาดหุ้นวอลล์สตรีททรุดตัวลง

“เราคิดว่าการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ย 1% จะสร้างความตื่นตระหนกต่อตลาด และเป็นการบ่งชี้ว่าเฟดมีปฏิกิริยามากเกินไปต่อข้อมูลเศรษฐกิจ และลดโอกาสที่จะช่วยให้เศรษฐกิจชะลอตัวอย่างค่อยเป็นค่อยไป” แซม สโตวอลล์ นักวิเคราะห์จาก CFRA ระบุในรายงาน

ทั้งนี้ ในการขึ้นอัตราดอกเบี้ย 56 ครั้งหลังสงครามโลกครั้งที่ 2 เฟดขึ้นอัตราดอกเบี้ย 1% เพียง 7 ครั้ง และหลังการขึ้นอัตราดอกเบี้ยดังกล่าว ดัชนีเอสแอนด์พี 500 ดิ่งลง 2.4% ภายในเวลา 1 เดือน, ร่วงลง 1.3% ในเวลา 3 เดือน และฟื้นตัวขึ้น 0.1% ในเวลา 6 เดือน

ชี้จีนเลี่ยงกระตุ้นศก.ผลักภาระให้สหรัฐ

“เดวิด มัลพาสส์” ประธานธนาคารโลก ระบุว่า การที่จีนไม่เต็มใจออกมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจเพิ่มช่วงเศรษฐกิจโลกชะลอนี้ กำลังเพิ่มแรงกดดันต่อสหรัฐในการสนับสนุนการเติบโตของเศรษฐกิจระหว่างประเทศ

“จีนดำเนินนโยบายแบบต้านวัฏจักร (counter-cyclical) ในช่วงที่เผชิญกับขาลงทางเศรษฐกิจโลกครั้งก่อน ซึ่งหมายความว่าจีนลดอัตราดอกเบี้ยและเพิ่มการใช้จ่ายภาครัฐเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจ แต่จีนดำเนินการเช่นนั้นน้อยลงช่วงเศรษฐกิจชะลอตัวคราวนี้” มัลพาสส์กล่าวในโอกาสให้สัมภาษณ์กับสถานีโทรทัศน์บลูมเบิร์ก

เมื่อสัปดาห์ก่อน ธนาคารโลกเตือนว่า กระแสการเร่งคุมเข้มนโยบายการเงินในเชิงรุกอาจทำให้เศรษฐกิจโลกเผชิญภาวะถดถอยในปีหน้า โดยคาดการณ์ว่า ธนาคารกลางประเทศต่างๆ จะขึ้นอัตราดอกเบี้ยรวมทั้งสิ้น 5% สัปดาห์นี้

สำนักข่าวบลูมเบิร์ก เปิดเผยการประมาณการของธนาคารโลกว่า การขยายตัวของผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ (จีดีพี) โลกประจำปี 2566 จะชะลอตัวลงสู่ระดับ 0.5% ขณะที่จีดีพีต่อหัวมีแนวโน้มหดตัว 0.4% ซึ่งตรงเกณฑ์คำนิยามของเศรษฐกิจถดถอย

มัลพาสส์ กล่าวด้วยว่า “เรื่องสำคัญที่แตกต่างออกไปจากเดิมคือ จีนไม่กระตือรือร้นในการออกมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจมากนักในคราวนี้ ซึ่งกรณีนี้อาจส่งผลดีต่อเศรษฐกิจจีนในระยะยาว แต่สำหรับโลกแล้ว เรื่องนี้หมายความว่าเศรษฐกิจขนาดใหญ่อันดับ 2 ของโลกไม่ช่วยสนับสนุนเศรษฐกิจโลก จึงทำให้สหรัฐต้องแบกภาระเพิ่มมากขึ้น” 

“โกลด์แมน แซคส์” หั่นจีดีพีสหรัฐ

โกลด์แมน แซคส์ออกรายงานว่า เศรษฐกิจสหรัฐจะขยายตัวเพียง 1.1% ในปี 2566 ลดลงจากคาดการณ์ก่อนหน้านี้ที่ระดับ 1.5%

นอกจากนี้ โกลด์แมน แซคส์ คาดการณ์ว่า อัตราการว่างงานจะเพิ่มขึ้นสู่ระดับ 4.1% ในช่วงสิ้นปี 2566 จากปัจจุบันที่ระดับ 3.7% และสู่ระดับ 4.2% ในช่วงสิ้นปี 2567

ธนาคารกลางออสเตรเลีย (อาร์บีเอ) เปิดเผยรายงานการประชุมประจำเดือน ก.ย.วานนี้ (20ก.ย.) โดยมีแผนที่ชะลอขึ้นดอกเบี้ย ขณะที่อัตราดอกเบี้ยเคลื่อนตัวเข้าใกล้ระดับปกติมากขึ้น รวมทั้งย้ำว่าจะไม่กำหนดแนวทางอัตราดอกเบี้ยไว้ล่วงหน้า และการรักษาเศรษฐกิจให้ยังคงมีเสถียรภาพนั้น ต้องเป็นไปอย่างสมดุล

การประชุมเมื่อวันที่ 6 ก.ย.ที่ผ่านมา อาร์บีเอ ขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบาย 0.50% สู่ระดับ 2.35% ซึ่งเป็นการปรับขึ้นดอกเบี้ยครั้งที่ 6 ในรอบหลายเดือน และนับจนถึงขณะนี้ อาร์บีเอ ขึ้นดอกเบี้ยแล้ว 2.25%

“ฟิลิป โลว์” ผู้ว่าการอาร์บีเอ ส่งสัญญาณว่า มีความเป็นไปได้ที่อาร์บีเออาจจะชะลอการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ย แต่ก็ย้ำว่าภาวะตลาดแรงงานตึงตัวถือเป็นปัจจัยที่สำคัญมากต่อการคาดการณ์เงินเฟ้อ

ที่มา: บลูมเบิร์ก