คริสตาลินา จอร์เจียวา กรรมการผู้จัดการ กองทุนการเงินระหว่างประเทศ (ไอเอ็มเอฟ) เอ่ยเตือนเมื่อวันอาทิตย์ (1 ม.ค.) ว่า เศรษฐกิจโลกราวๆ 1 ใน 3 จะเข้าสู่ภาวะถดถอย ในปี 2023 และพิษเศรษฐกิจปีนี้จะ “หนักหนาสาหัส” กว่าปีที่ผ่านมา เนื่องจากสหรัฐฯ สหภาพยุโรป (อียู) และจีน ซึ่งเป็น 3 ตัวจักรใหญ่ขับเคลื่อนเศรษฐกิจโลกยังอยู่ ในภาวะชะลอตัว
จอร์เจียวา ให้สัมภาษณ์ในรายการ “เฟซ เดอะ เนชั่น” ทางเครือข่ายสถานี โทรทัศน์ ซีบีเอส ว่า “เราคาดว่าระบบเศรษฐกิจโลกราว 1 ใน 3 จะเข้าสู่ภาวะถดถอย แม้แต่ประเทศที่เศรษฐกิจยังไม่ถดถอย แต่ประชากรหลายร้อยล้านคนก็จะรู้สึกเหมือนได้รับผลกระทบ”
ก่อนหน้านี้ เมื่อเดือนตุลาคม ไอเอ็มเอฟได้ปรับลดคาดการณ์การเติบโตของเศรษฐกิจโลกในปี 2023 ไปแล้ว โดยพิจารณาจากปัจจัยลบ เช่น สงครามในยูเครน และอัตราดอกเบี้ยที่สูงขึ้นเนื่องจากธนาคารกลางทั่วโลก นำโดยสหรัฐฯ พยายามที่จะควบคุมราคาสินค้าไม่ให้พุ่งสูง หรือก็คือ ปัญหาเงินเฟ้อ และทำให้ธนาคารกลางของประเทศอื่นๆ ต้องทำตาม
อีกหนึ่งตัวแปรสำคัญก็คือ การที่จีนยกเลิกนโยบาย “โควิดเป็นศูนย์” และหันมาเปิดเศรษฐกิจอีกครั้ง ในขณะที่ตัวเลขผู้ติดเชื้อในประเทศพุ่งสูงขึ้น โดยที่ประเทศอื่นๆ แสดงความกังวลว่าจะเกิดการระบาดอย่างหนัก แม้ปักกิ่งยืนยันว่าสามารถควบคุมสถานการณ์
กรรมการผู้จัดการ ไอเอ็มเอฟ ระบุว่า จีน ซึ่งมีเศรษฐกิจใหญ่เป็นอันดับ 2 ของโลกจะเผชิญ “จุดเริ่มต้นที่ยากลำบาก” ในปีนี้ และการขยายตัวทางเศรษฐกิจของจีนในปี 2022 จะ “เท่ากับ” หรือ “ต่ำกว่า” การเติบโตของเศรษฐกิจโลก ซึ่งถือเป็นครั้งแรกในรอบ 40 ปี
จอร์เจียวา ยังเตือนด้วยว่า ผลพวงจากสถานการณ์โควิด-19 ในจีนที่อาจลุกลามเป็น “ไฟป่า” ในช่วงไม่กี่เดือนข้างหน้า จะยิ่งมีส่วนซ้ำเติมและฉุดรั้งการเติบโตทางเศรษฐกิจ ทั้งในระดับภูมิภาคและทั่วโลก
“ช่วง 2-3 เดือนข้างหน้านี้จะเป็นเวลาที่ยากลำบากสำหรับจีน” เธอกล่าว
ดัชนีผู้จัดการฝ่ายจัดซื้อ (PMI) ซึ่งเป็นดัชนีที่สะท้อนการขยายตัว หรือหดตัวในภาคการผลิตและบริการประจำเดือนธันวาคมที่ผ่านมา แสดงให้เห็นว่า กิจกรรมการผลิตของจีนหดตัวต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 3 และลดลงด้วยอัตราเร็วสุดในรอบเกือบ 3 ปี เนื่องจากโรงงานอุตสาหกรรมหลายแห่งได้รับผลกระทบจากการระบาดของโควิด-19 ขณะที่ข้อมูลจาก China Index Academy ซึ่งเป็นสถาบันวิจัยด้านอสังหาริมทรัพย์อิสระของจีน พบว่า ในเดือนเดียวกันราคาที่พักอาศัยใน 100 เมืองของจีนปรับตัวลดลงอีกเป็นเดือนที่ 6 ติดต่อกัน
ในส่วนของสหรัฐฯ จอร์เจียวา มองว่า ระบบเศรษฐกิจยังมีความแข็งแกร่งและพร้อมรับต่อการเปลี่ยนแปลงได้ดี จึงมีแนวโน้มที่จะหลีกเลี่ยงสภาวะถดถอยที่จะเกิดขึ้นกับประเทศต่างๆ ราว 1 ใน 3 ของโลกได้
ที่มา: รอยเตอร์