โดย ดร.มิ่งขวัญ ทองพฤกษา Chief Economist, BBLAM
Key Event
คณะกรรมการนโยบายการเงินของธนาคารกลางสหรัฐฯ หรือ FOMC มีมติเป็นเอกฉันท์ (11:0) ให้ปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบาย 25 bp สู่กรอบ 4.75-5.0% โดยเนื้อความที่เปลี่ยนไปจากการประชุมครั้งก่อน ได้แก่
- เครื่องชี้เศรษฐกิจรายเดือนสะท้อนการขยายตัวต่อเนื่อง ทั้งฝั่งการใช้จ่ายและการผลิตภาคอุตสาหกรรม การจ้างงานยังขยายตัวได้ดี ขณะที่อัตราว่างงานต่ำ ส่วนแรงกดดันอัตราเงินเฟ้อยังคงมีอยู่
- ระบบธนาคารในสหรัฐฯ ยังคงแข็งแกร่ง ส่วนสถานการณ์ที่เกิดขึ้นกับธนาคารพาณิชย์ในสหรัฐฯ อาจจะส่งผลให้สภาพคล่องในระบบตึงตัวได้บ้าง และอาจจะกระทบกับการใช้สินเชื่อของภาคครัวเรือนและธุรกิจ ซึ่งอาจจะส่งผลต่อกิจกรรมทางเศรษฐกิจ การจ้างงานและอัตราเงินเฟ้อ ทั้งนี้ ผลกระทบที่เกิดขึ้นอาจจะยังมีความไม่แน่นอน แต่ที่ยังคงแน่นอนเสมอมา คือ คณะกรรมการยังคงให้น้ำหนักกับอัตราเงินเฟ้อ
- อย่างไรก็ดี คณะกรรมการจะติดตามสถานการณ์ของธนาคารพาณิชย์อย่างใกล้ชิด แต่ ณ ขณะนี้ ยังคงทิศทางการขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายต่อไปในอนาคต เพื่อให้เป้าหมายเงินเฟ้อระยะกลางเข้าสู่เป้าหมาย 2% โดยยังยึดหลักการตัดสินใจอ้างอิงข้อมูลปัจจุบันและพร้อมเปลี่ยนทิศทางนโยบายการเงินหากจำเป็น (Data dependent) และยังคงเดินหน้าทำ QT ตามที่ได้เคยระบุไว้ในการประชุมครั้งก่อน (ปรับลดขนาดการถือ UST 6 หมื่นล้านดอลลาร์ฯ และ MBS ที่ 3.5 หมื่นล้านดอลลาร์ฯ )
- ด้านคาดการณ์ Dot Plot ฉบับล่าสุด เผยว่า ยังคงมุมมองอัตราดอกเบี้ยนโยบายในกรอบ 5.0-5.25% ในปี 2023 เท่ากับครั้งก่อน ส่วนที่มีการเปลี่ยนแปลงคืออัตราดอกเบี้ยนโยบายปี 2024 ที่ได้รับการปรับขึ้นเป็นกรอบ 4.25-4.5% จากเดิมที่ 4.0-4.25%
- ด้านประมาณการเศรษฐกิจได้ปรับลดคาดการณ์ GDP ปีนี้และปี 2024 มาอยู่ที่ 0.4% (เดิม 0.5%) และ 1.2% (เดิม 1.6%) และ ปรับประมาณการ GDP มี 2025 ขึ้นเป็น 1.9% (เดิม 1.8%) ส่วนประมาณการอัตราว่างงานได้ปรับให้ปี 2023 มาอยู่ที่ 4.5% (เดิม 4.6%) คงปี 2024 ไว้ที่ 4.6% และปรับอัตราว่างงานปี 2025 ขึ้นเป็น 4.6% (เดิม 4.5%)
- ส่วนประมาณการ Core PCE นั้น ปรับขึ้นจากประมาณการเดิมเล็กน้อย โดยปี 2023 อยู่ที่ 3.6% (เดิม 3.5%) ส่วนปี 2024 อยู่ที่ 2.6% (เดิม 2.5%) ส่วนปี 2025 คงไว้ที่ 2.1%
ประมาณการเศรษฐกิจ
ในระหว่าง Press Cof. ประธาน Fed ได้ให้ความเห็นเกี่ยวกับสถานการณ์ธนาคารพาณิชย์ในขณะนี้ว่า
ยังเร็วไปที่จะสามารถคาดการณ์ผลกระทบได้ แต่คิดว่าน่าจะเอาอยู่ Fed มีเครื่องมือทางการเงินที่สามารถรองรับสถานการณ์ดังกล่าวได้ โดยมองว่าสภาพคล่องที่ตึงตัวจะส่งผลต่อครัวเรือนและธุรกิจ แต่ยังต้องขึ้นดอกเบี้ยเพื่อบรรลุเป้าหมายเงินเฟ้อระยะกลางที่ 2% และยังไม่เห็นความจำเป็นที่จะต้องปรับลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายในขณะนี้
Market Implication
- ตลาดมองว่า การปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยครั้งนี้สะท้อนว่า เป็น Dovish Hike คือ ขึ้นในอัตราที่ชะลอลง พร้อมคาดการณ์ว่า อัตราดอกเบี้ยน่าจะพีคสุดในเดือน พ.ค. จากเดิมที่มองว่า อัตราดอกเบี้ยจะถูกปรับขึ้นไปถึงเดือน ก.ค.