ธนาคารกลางญี่ปุ่น (BOJ) กำลังตกอยู่ในสถานการณ์ลำบาก เนื่องจากการคาดหวังที่เพิ่มมากขึ้นของอัตราเงินเฟ้อได้เพิ่มโอกาสที่ธนาคารกลางจะปรับเปลี่ยนนโยบาย Yield Curve Control (YCC) ให้เร็วขึ้น แม้ว่า นายคาซูโอะ อุเอดะ ผู้ว่าการธนาคารกลางญี่ปุ่นจะให้ความเชื่อมั่นว่า เขาจะยังคงรักษาระดับของมาตรการกระตุ้นทางการเงินขนาดใหญ่มากไว้ “อย่างอดทน”
บททดสอบครั้งแรก จะมีขึ้นในการประชุมนโยบายของธนาคารกลางในวันที่ 27-28 ก.ค. เมื่อคณะกรรมการน่าจะมีการปรับปรุงแก้ไขการคาดการณ์อัตราเงินเฟ้อให้สูงขึ้น และส่งสัญญาณความเชื่อมั่นที่ว่า การเพิ่มขึ้นของราคาสินค้าและบริการที่ขับเคลื่อนจากดีมานด์หรือความต้องการซื้อ จะมีการสนับสนุนจากการเติบโตของค่าจ้างที่กำลังจะหยุดลง
แหล่งข่าวจากผู้เชี่ยวชาญด้านนโยบายการเงิน กล่าวว่า ธนาคารกลางญี่ปุ่น (BOJ) กำลังถกเถียงกันถึงแนวคิดที่จะปรับนโยบายควบคุมเส้นโค้งอัตราผลตอบแทนตราสารหนี้ (YCC) โดยมีการปักหมุดล็อกอัตราดอกเบี้ยในระยะที่ยาวขึ้น โดยอย่างเร็วที่สุด คือ เดือน ก.ค.นี้ แม้ว่าการพูดคุยยังเป็นเพียงเบื้องต้นและยังไม่มีการตัดสินใจในขั้นสุดท้ายเกิดขึ้น
หนึ่งในแหล่งข่าวซึ่งมองโอกาสของการปรับเปลี่ยนนโยบายในเดือน ก.ค.นี้ ระบุว่า “การแลกเปลี่ยนความเห็นดำเนินไปอย่างต่อเนื่องจริง แต่ว่าไม่มีความชัดเจนในสิ่งที่จะมีการตัดสินใจในขั้นสุดท้าย” ส่วนแหล่งข่าวรายที่ 2 กล่าวว่า การปรับนโยบายใดๆ ก็ตามคาดว่า น่าจะเป็นการปรับในนโยบาย YCC เพียงเล็กน้อย
การปรับแต่งรายละเอียดของนโยบายการเงินเพียงอย่างเดียว น่าจะส่งผลเสียหายเล็กน้อยต่อเศรษฐกิจญี่ปุ่น ด้วยการใส่เงินอัดฉีดจำนวนมหาศาลเข้าไปในระบบจากธนาคารกลาง ทำให้อัตราดอกเบี้ยจำนองบ้านและต้นทุนการกู้ยืมของบริษัทอยู่ในระดับที่ต่ำมากๆ
แต่ว่าแม้กระทั่งการเปลี่ยนแปลงที่เล็กน้อยของนโยบายการเงินที่ผ่อนคลายอย่างมากเป็นพิเศษของญี่ปุ่นที่ขยายเวลายาวนานออกไป จะสามารถส่งผลกระทบอย่างมากต่อตลาดการเงินทั้งหลายทั่วโลก เนื่องจากตลาดจะมองเป็นสัญลักษณ์ของการที่อัตราเงินเฟ้อสูงที่ควบคุมยากจะบังคับให้ BOJ ยอมทำตามเพื่อคุมเข้มนโยบายการเงินในที่สุด
ขณะที่ ธนาคารกลางอื่น ๆ ทั่วโลกได้ปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยอย่างแข็งกร้าวเพื่อควบคุมราคาสินค้าต่างๆ ที่พุ่งสูงขึ้นอย่างฉับพลัน ธนาคารกลางญี่ปุ่น (BOJ) เป็นผู้ที่ผิดแปลกไปจากธนาคารกลางอื่นๆ อย่างชัดเจน โดยโต้แย้งว่าอัตราเงินเฟ้อที่โดดสูงขึ้นมาในช่วงไม่นานมานี้ สะท้อนถึงปัจจัยภายนอกหลายอย่าง เช่น ราคาน้ำมัน และอาจจะไม่ยั่งยืน
อย่างไรก็ตาม เมื่อไม่นานมานี้ ผู้กำหนดนโยบายของ BOJ ได้ส่งสัญญาณว่าอัตราเงินเฟ้อกำลังถูกผลักดันให้สูงขึ้นจากดีมานด์ของผู้บริโภคที่ดีขึ้น ถ้าหากว่าความแข็งแกร่งของดีมานด์นี้ยังสามารถรักษาไว้ได้ต่อเนื่อง ก็จะทำให้นายอุเอดะ ผู้ว่าแบงก์ชาติของญี่ปุ่นอ้างเป็นเหตุผลในการปรับทิศทางนโยบายไปทางอื่นออกจากมาตรการกระตุ้นทางการเงินขนาดใหญ่มากของผู้ว่าแบงก์ชาติคนก่อน
ด้วยอัตราเงินเฟ้อขณะนี้ซึ่งสูงเกินกว่าเป้าหมายของ BOJ ที่ตั้งไว้ที่ 2% เป็นเวลามากกว่า 1 ปีแล้ว ผู้เล่นในตลาดบางรายยังคงเดิมพันว่าจะมีการปรับเปลี่ยนนโยบายควบคุมเส้นโค้งอัตราผลตอบแทนตราสารหนี้ (YCC) ให้เร็วขึ้น ซึ่งเป็นนโยบายที่ชี้นำว่าอัตราผลตอบแทนพันธบัตรอายุ 10 ปี อยู่ที่ราว 0% ด้วยการจำกัดช่วงการเคลื่อนไหวไม่เกินบวกลบ 0.5% ขณะนี้ยังไม่มีมติเอกฉันท์ภายใน BOJ ว่าจะอีกนานแค่ไหนที่จะเริ่มออกจากมาตรการกระตุ้นทางการเงินขนาดใหญ่
ผู้ที่เสนอให้ปรับนโยบายเร็วขึ้น ชี้ว่ามีต้นทุนค่าใช้จ่ายที่แพงขึ้นจากนโยบาย YCC เช่น การบิดเบือนตลาดที่มีสาเหตุมาจากการซื้อพันธบัตรจำนวนมูลค่ามหาศาลของ BOJ
ที่มา: รอยเตอร์